​ย้อนเวลาเล่า: ทำไมต้องเป้าเงินเฟ้อ?

​ดร. สุรจิต ลักษณะสุต
สำนักเศรษฐกิจภูมิภาค

ทำไมแบงก์ชาติไม่ทำนโยบายแบบตั้งเป้าอัตราแลกเปลี่ยน? ทำไมแบงก์ชาติถึงใช้การตั้งเป้าเงินเฟ้อในปัจจุบัน? ในฐานะที่ผมได้เริ่มทำงานที่แบงก์ชาติในปี 2539 และอยู่ในทีมที่ทำการศึกษากรอบนโยบายการเงินที่เหมาะสมกับไทยหลังปี 2540 ผมเลยคิดว่าน่าจะแชร์ประสบการณ์ให้หลาย ๆ ท่านได้ทราบกันถึงที่มาที่ไปของการใช้นโยบายการเงินแบบตั้งเป้าเงินเฟ้อที่เราใช้อยู่ครับ


ไทยใช้นโยบายแบบตั้งเป้าอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงก่อนปี 40

หากทุกท่านยังจำได้ ก่อนปี 2540 ประเทศไทยเคยทำนโยบายแบบตั้งเป้าอัตราแลกเปลี่ยนในการดูแลเศรษฐกิจของประเทศ โดยผูกค่าเงินไว้กับตะกร้าเงินสกุลหลักและภูมิภาค ซึ่งน้ำหนักส่วนใหญ่อยู่ที่ดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงก่อนปี 2539 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ค่อนข้างร้อนแรง ขณะที่เศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น มีแนวโน้มชะลอตัวลง เงินบาทที่ควรจะแข็งค่าเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจกลับนิ่งเพราะเราผูกค่าเงินบาทไว้กับตะกร้าเงินสกุลหลักทำให้มีเงินทุนไหลมาสู่ประเทศไทยจำนวนมาก หลังจากนั้น เศรษฐกิจในประเทศเริ่มมีอาการไม่ดีนักและความเชื่อมั่นในประเทศปรับลดลงมีผลให้นักลงทุนต่างชาติเร่งนำเงินออกนอกประเทศ เงินบาทที่ควรจะอ่อนค่ากลับยังนิ่ง ๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนปัญหาของการทำนโยบายแบบตั้งเป้าอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งนำไปสู่วิกฤตทางการเงินและความจำเป็นที่จะต้องปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นแบบลอยตัวและมีกรอบในการทำนโยบายการเงินใหม่ในเวลาต่อมา



หลังปี 40 ไทยมองหากรอบนโยบายการเงินที่เหมาะสม

หลังปี 2540 ในระหว่างที่ประเทศไทยอยู่ในโปรแกรม IMF แบงก์ชาติได้เริ่มมองหากรอบในการทำนโยบายการเงินใหม่ ซึ่งผมเองได้มีโอกาสอยู่ในทีมศึกษานี้ โดยสิ่งสำคัญของกรอบนโยบายการเงินใหม่ คือ จะต้องทำนโยบายแล้วดูแลเศรษฐกิจได้ดีและจะต้องสร้างความน่าเชื่อถือในการทำนโยบายการเงิน เพื่อให้ประชาชนและภาคธุรกิจมีหลักยึดในการตัดสินใจในการใช้จ่ายและการลงทุนอย่างเป็นระบบ ทางเลือกของนโยบายการเงินในขณะนั้น (หรือแม้ในปัจจุบันก็ตาม) มี 3 รูปแบบด้วยกัน คือ การตั้งเป้าอัตราแลกเปลี่ยน การตั้งเป้าปริมาณเงิน และการตั้งเป้าเงินเฟ้อ ทีมงานศึกษาได้ทำการศึกษาและได้มีข้อสรุปว่า (1) การตั้งเป้าอัตราแลกเปลี่ยนไม่ใช่คำตอบแน่เพราะเราเพิ่งเจอปัญหามาจากรูปแบบนี้ และ (2) การปรับเปลี่ยนดอกเบี้ยสามารถส่งผ่านนโยบายและดูแลเศรษฐกิจไทยได้ดีกว่าการใช้ปริมาณเงิน ซึ่งหมายความว่าการตั้งเป้าเงินเฟ้อที่มีดอกเบี้ยเป็นตัวส่งสัญญาณนั้นจะดูแลเศรษฐกิจไทยได้ดีกว่าการตั้งเป้าปริมาณเงินที่ใช้ปริมาณเงินเป็นตัวส่งสัญญาณ ดังนั้น เมื่อนโยบายการเงินทั้ง 3 รูปแบบมีเป้าหมายที่จะดูแลอำนาจซื้อของคนในประเทศเหมือน ๆ กัน การตั้งเป้าเงินเฟ้อจึงเป็นตัวเลือกที่น่าจับตา


การตั้งเป้าเงินเฟ้อที่เน้นจุดเด่นที่กระบวนการ คือคำตอบ

เมื่อพิจารณาจากประสบการณ์ของหลาย ๆ ประเทศ การตั้งเป้าเงินเฟ้อยังมีจุดเด่นที่กระบวนการในการทำนโยบายการเงิน ไม่ใช่แค่มีเป้าเงินเฟ้อที่ชัดเจนเท่านั้น กรอบการทำนโยบายแบบนี้มีหลายประเทศใช้ ไม่ว่าจะเป็น แคนาดา นิวซีแลนด์ หรือ อังกฤษ กรอบนี้เน้นไปที่ (1) ความโปร่งใส เพราะมีการประกาศเป้าหมายไปข้างหน้าอย่างชัดเจนและมีการเปิดเผยขั้นตอนการทำงาน การตัดสินใจให้ประชาชนรับรู้รับทราบ (2) ความมีวินัย กระบวนการตัดสินใจที่เป็นระบบและมีหลักการ และ (3) ความรับผิดชอบ โดยมีกระบวนการแสดงความรับผิดชอบที่ชัดเจน เช่น ข้อตกลงในการทำนโยบายกับรัฐบาลในการดูแลเงินเฟ้อ ประเด็นเหล่านี้สอดคล้องกับสิ่งที่แบงก์ชาติต้องการในเวลานั้น คือ การสร้างความน่าเชื่อถือในการทำนโยบายการเงิน

ในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าแบงก์ชาติได้เดินตามกรอบการตั้งเป้าเงินเฟ้อที่มีจุดเด่นที่กระบวนการทำนโยบาย โดยได้มีการสื่อสารอย่างชัดเจนว่าเป้าหมายในการทำนโยบายการเงินนั้น ต้องประกอบด้วย ราคาสินค้าที่ไม่ผันผวน การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจการเงิน รวมทั้งยังมีการประกาศเป้าหมายเงินเฟ้ออย่างเป็นทางการที่ชัดเจน ทั้งนี้ รูปแบบกระบวนการทำนโยบายในปัจจุบันเน้นความโปร่งใส จากการมีเป้าเงินเฟ้อไปข้างหน้า มีการเปิดเผยข้อมูล และมีการสื่อสารกระบวนการทำงานและการตัดสินใจที่ชัดเจน ในด้านความรับผิดชอบ ได้มีข้อตกลงกับกระทรวงการคลังในการกำหนดเป้าหมายของนโยบายทุกปีและมีคณะกรรมการนโยบายการเงินที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒินอกแบงก์ชาติ 4 คน และผู้บริหารของแบงก์ชาติ 3 คน เพื่อให้ได้มุมมองที่แตกต่างในการตัดสินทิศทางของนโยบายการเงิน


ในมุมความเหมาะสมกับโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย เป้าเงินเฟ้อยังได้เปรียบ

สำหรับคำถามที่ว่า หากมองในแง่ความเหมาะสมต่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทย การตั้งเป้าเงินเฟ้อและการตั้งเป้าอัตราแลกเปลี่ยนที่เคยใช้มามีความแตกต่างกันอย่างไร? คำตอบของคำถามนี้สามารถใช้ได้ทั้งในอดีตและตอนนี้ ก็คือ เงื่อนไขที่สำคัญของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการใช้เป้าอัตราแลกเปลี่ยนยังคงเป็นประเด็นที่ประเทศจะต้องมีความเชื่อมโยงกับภาคต่างประเทศสูงมาก ๆ อาทิ สิงคโปร์ ฮ่องกง ซึ่งภาคต่างประเทศต้องมีบทบาทในระบบเศรษฐกิจมากจริง ๆ ทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจส่วนใหญ่เชื่อมต่อกับการส่งออกและการนำเข้าสินค้าและบริการกับต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินจะมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสูงมาก และที่สำคัญคือ โครงสร้างและวัฏจักรทางเศรษฐกิจของประเทศกับประเทศหลักที่ถูกอิงค่าเงินต้องใกล้เคียงกัน ในขณะที่การตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อจะให้ความสำคัญทั้งครัวเรือนและธุรกิจที่เชื่อมโยงกับทั้งภาคในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเหมาะสมกับโครงสร้างไทยที่เศรษฐกิจในประเทศก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน โดยจะมีค่าเงินเป็นตัวปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับผลกระทบจากภาคต่างประเทศที่จะส่งมายังเศรษฐกิจในประเทศ

สง่างาม

ทำไมแบงก์ชาติไม่ทำนโยบายแบบตั้งเป้าอัตราแลกเปลี่ยน? ทำไมแบงก์ชาติถึงใช้การตั้งเป้าเงินเฟ้อในปัจจุบัน? จากที่ได้เล่ามาทั้งหมด ทุกท่านน่าจะมีคำตอบสำหรับ 2 คำถามนี้นะครับ

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย