​ความร่วมมือของภาคการเงินกับการเปิดตลาด New Frontier Markets

​นายสถิตย์ แถลงสัตย์
ฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ

การเชื่อมโยงและการอำนวยความสะดวกของภาคการเงินเป็นอีกหนึ่งแรงส่งในการสนับสนุนการเปิดตลาดการค้าใหม่ๆ กับ New Frontier Markets ของภาคธุรกิจไทย ภายใต้ความท้าทาย และนโยบายการค้าของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

ในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา การส่งออกของไทยได้เริ่มฟื้นตัวชัดเจนขึ้นและกลับมาเป็น เครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยอีกครั้ง โดยคาดว่าทั้งปีน่าจะขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 10 แต่ในระยะต่อไป ภาคการส่งออกของไทยยังคงเผชิญความท้าทายในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะในตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น (G-3) ซึ่งมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกรวมกันกว่าร้อยละ 30 จากการแข่งขันสูงและมีความท้าทายใหม่ ๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะความไม่แน่นอนด้านนโยบายการค้าและการกีดกันการค้าที่รุนแรงขึ้น ดังนั้น การมองหาลู่ทางในการเปิดตลาดส่งออกใหม่ ๆ เพื่อทดแทนหรือเสริมกับตลาดส่งออกหลักน่าจะช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าให้กับธุรกิจและผู้ส่งออกไทย นอกจากนี้ ยังเป็นการกระจายความเสี่ยง (diversification) จากตลาดส่งออกหลัก รวมถึงจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันนโยบายให้ไทยก้าวสู่ การเป็น “ชาติการค้า (Trading Nation)” ภายในปี 2579 ตามนโยบายรัฐบาลได้สำเร็จอีกทางหนึ่ง

New Frontier Markets ซึ่งครอบคลุม ประเทศรัสเซียและกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรปตะวันออก รวมถึงกลุ่มประเทศในลาตินอเมริกา เป็นอีกหนึ่งตลาดทางเลือก นอกเหนือจากตลาดศักยภาพสูงของไทยปัจจุบัน เช่น อาเซียน เอเชียตะวันออก และ เอเชียใต้ เนื่องจากตลาดเหล่านี้มีศักยภาพและกำลังเติบโต โอกาสทางธุรกิจเปิดกว้างมีตลาดขนาดใหญ่ และกำลังซื้อสูง อย่างไรก็ดี ธุรกิจและผู้ส่งออกไทย ส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จัก ตลอดจนมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับประเทศเหล่านี้ยังไม่สูงมากนัก โดยมีสัดส่วนเพียงประมาณร้อยละ 11 ของมูลค่าการส่งออกรวม ขณะที่ตลาดเหล่านี้มีความต้องการและคุ้นเคยกับสินค้าและบริการของไทยในระดับหนึ่งจากความเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยว กลุ่มประเทศ New Frontier Markets หลายประเทศ จึงเป็นเป้าหมายในการเปิดตลาดของภาครัฐ โดยส่วนหนึ่งมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับไทยอยู่แล้ว หรืออยู่ในระหว่างการเจรจาความตกลงด้านการค้า เช่น รัสเซีย สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย ตุรกี และกลุ่มประเทศ CIS ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจและผู้ส่งออกไทยเข้าสู่ตลาดของประเทศเหล่านี้ได้สะดวกยิ่งขึ้น หรือสามารถใช้ประเทศเหล่านี้เป็นฐานกระจายสินค้าไปยังประเทศใกล้เคียงได้

เมื่อมองไปที่กลุ่มสินค้าที่เป็นที่ต้องการในตลาดเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและอาหาร ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม ข้าว ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง น้าตาล ผลไม้กระป๋อง และแปรรูป ผักสดแช่เย็น แช่แข็งและผักอบแห้ง ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ รถยนต์รวมอุปกรณ์ ชิ้นสวนและส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เม็ดพลาสติก กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ สิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ซึ่งสินค้าเหล่านี้ล้วนเป็นสินค้าที่ไทยมีความ ได้เปรียบและสร้างมูลค่าเพิ่มสาหรับการส่งออกได้

การค้าขายกับกลุ่มประเทศ New Frontier Markets นอกเหนือจากความท้าทายในด้านการค้า และการเข้าสู่ตลาดแล้ว ยังมีความท้าทายและอุปสรรคด้านการเงินด้วย โดยที่ผ่านมา ภาคธุรกิจ และผู้ส่งออกไทยที่พยายามเปิดตลาดกับประเทศเหล่านี้มักประสบปัญหาความไม่สะดวกด้านการชาระเงินค่าสินค้าและบริการ ซึ่งปัญหาดังกล่าว ส่วนหนึ่งเกิดจากลักษณะของประเทศ New Frontier Markets ที่สำคัญ 3 ประการ ซึ่งแตกต่างจากตลาดส่งออกหลัก ประการแรก ธนาคารพาณิชย์ในประเทศ New Frontier Markets มีข้อจำกัดในการเข้าถึงเครือข่ายตัวแทนธนาคารต่างประเทศ (Correspondent Bank Network) ที่เป็นธนาคารขนาดใหญ่ของโลกซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการรับชำระเงินระหว่างประเทศ โดยภายหลังวิกฤต การเงินโลก ธนาคารขนาดใหญ่ส่วนหนึ่งได้ระงับการให้บริการชำระดุลแก่ธนาคารในประเทศ New Frontier Markets จากเหตุผลด้านต้นทุน และปริมาณธุรกรรมที่มีไม่มาก มาตรฐานด้านการบริหาร ความเสี่ยงเข้มข้นขึ้นจนไม่คุ้มค่าที่จะให้บริการทางการเงินในประเทศเหล่านี้ ผลจากมาตรการคว่ำบาตรทางด้านเศรษฐกิจและการค้าในบางประเทศ เกณฑ์การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (AML/CFT) ที่เข้มข้นขึ้น รวมถึงมาตรฐานและความโปร่งใสด้านภาษี ประการที่สอง ในกรณีของประเทศ รัสเซียและอิหร่าน แม้ว่าสหรัฐฯ จะได้ผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรไปบางส่วนแล้ว แต่ยังคงมี มาตรการคว่ำบาตรรายธุรกิจหรือรายบุคคลเหลืออยู่ ทำให้ธนาคารพาณิชย์ยังคงมีการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินที่ทำกับธุรกิจในประเทศเหล่านี้อย่างเข้มข้น ธนาคารพาณิชย์ในไทยจึงมีความยากลำบาก ในการให้บริการแก่ธุรกิจและผู้ส่งออกไทยผ่าน correspondent banks โดยเฉพาะกรณีที่มีการใช้เงินสกุลหลัก เช่น ดอลลาร์ สรอ. ในการชำระค่าสินค้า และบริการซึ่งต้องชำระดุลผ่านระบบการเงินของสหรัฐฯ ประการสุดท้าย เป็นข้อจำกัดและลักษณะเฉพาะของแต่ละประเทศ เช่น การไม่นิยมใช้ Letter of Credit (L/C) ของคู่ค้าในประเทศ New Frontier Markets เพื่อชำระค่าสินค้า ซึ่ง L/C เป็นวิธีการชำระเงินสากลที่ได้รับความนิยมสำหรับการค้าระหว่างประเทศ ส่วนหนึ่งเพราะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูง ประกอบกับสถานะของธนาคารพาณิชย์ในประเทศคู่ค้าบางประเทศยังมีความเสี่ยงด้านเครดิตสูง

อุปสรรคด้านการชำระเงินดังกล่าวเป็นปัญหาสำคัญที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเพื่ออำนวย ความสะดวกและเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับประเทศ New Frontier Markets ในระยะต่อไป ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ตลอดจนสภาธุรกิจและสภาหอการค้า ได้ร่วมกันในการอำนวยความสะดวกและพยายามแก้ไขอุปสรรคข้างต้นเพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจและผู้ส่งออกไทยได้รับประโยชน์จากการเปิดตลาด New Frontier Markets อย่างเต็มที่ด้วยการสนับสนุนให้มีการขยายเครือข่าย correspondent banks ระหว่างไทยและประเทศ New Frontier Markets เพิ่มเติมจากเครือข่ายที่มีอยู่บ้างแล้ว ตามความต้องการจากภาคธุรกิจหรือตามปริมาณการค้าและการลงทุนที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต รวมทั้งการเพิ่มช่องทางและอำนวยสะดวกด้านการชำระเงินและบริการทางการเงินอื่น ๆ เช่น ในกรณีประเทศรัสเซีย ธนาคารพาณิชย์ไทยและธนาคารเฉพาะกิจของรัฐได้เปิดความสัมพันธ์กับธนาคารขนาดใหญ่ของรัสเซีย และส่งเสริมความร่วมมือด้านการเงินระหว่างกัน เช่น การแลกเปลี่ยนหลักเกณฑ์การโอนเงินระหว่างประเทศซึ่งจะช่วยให้การทำธุรกรรมระหว่างกันสะดวกและคล่องตัวมากขึ้น

นอกจากนี้ สภาธุรกิจและหอการค้าของไทยและประเทศ New Frontier Markets ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและอำนวยความสะดวกด้านการค้า การลงทุนระหว่างภาคเอกชน ซึ่งบางส่วนได้ดาเนินการไปแล้ว เช่น ประเทศรัสเซีย

ความร่วมมือของภาคการเงินทั้งจากภาครัฐและเอกชนในการแก้ไขอุปสรรคด้านการเงินข้างต้นเป็นแนวทางส่วนหนึ่งที่จะช่วยอานวยความสะดวกให้แก่ภาคธุรกิจและผู้ส่งออกไทยในการเปิดตลาดการค้าใหม่ ๆ กับกลุ่มประเทศ New Frontier Markets ทั้งนี้ หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจะยังคงทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดต่อไป เพื่อหาแนวทางเพิ่มเติมในการที่จะลดหรือขจัดอุปสรรคด้านการเงิน สนับสนุนธุรกิจและผู้ส่งออกไทยให้สามารถเปิดตลาดและแสวงหาโอกาสทางธุรกิจได้สำเร็จต่อไป

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย