นางสาวนันทวัลลิ์ ถิรธนาพงศ์
ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน
จิ๊กซอว์ทุกชิ้นมีความสำคัญทำให้ภาพสมบูรณ์และลงตัว ดังเช่น นอนแบงก์ หรือผู้ให้บริการสินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (non-bank) ถือเป็นจิ๊กซอว์ไซส์มินิ ที่มีความสำคัญและนับว่าจะยิ่งสำคัญเพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยเติมภาพของระบบการเงินไทยให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น วันนี้เรามาทำความรู้จักกับจิ๊กซอว์ชิ้นนี้กันดูว่ามีความสำคัญอย่างไรต่อภาพรวมของระบบการเงินไทย
ปัจจุบันนอนแบงก์ให้บริการสินเชื่อกับประชาชนอย่างหลากหลาย ได้แก่ สินเชื่อรถยนต์บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และนาโนไฟแนนซ์ มียอดสินเชื่อที่ให้กับภาคครัวเรือนโดยรวมมากกว่า 1.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัวภายในระยะเวลา 7 ปี หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของหนี้ครัวเรือนไทย สะท้อนพัฒนาการของการเข้าถึงบริการทางการเงินที่ดีขึ้น ช่วยให้ประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงิน โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีแหล่งรายได้ประจำหรือรายได้ที่ชัดเจน หรือไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันในการขอสินเชื่อ สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้สะดวกขึ้น เพื่อนำเงินไปเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิต หรือลงทุนประกอบอาชีพสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว ช่วยลดการพึ่งพาหนี้นอกระบบที่คิดอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงมากจนอาจก่อให้เกิดภาวะกับดักหนี้สินล้นพ้นตัวและนำไปสู่ปัญหาครอบครัวและปัญหาทางสังคมได้
ในมุมบวกก็มีมุมที่ควรระมัดระวัง ด้วยนอนแบงก์เหล่านี้ไม่ได้รับเงินฝากจากประชาชน จึงไม่ได้ถูกกำกับดูแลเข้มงวดเท่ากับธนาคารพาณิชย์ การพิจารณาสินเชื่อที่ได้ง่ายและเร็ว อาจกระตุ้นการก่อหนี้เกินตัวของครัวเรือน โดยเฉพาะในครัวเรือนกลุ่มที่มีรายได้ไม่สูงนัก จึงเป็นคำถามว่าการกำกับดูแลจิ๊กซอว์ชิ้นนี้ให้เหมาะสมเพื่อประกอบเป็นภาพของระบบการเงินไทยได้อย่างสมบูรณ์และลงตัวเป็นอย่างไร
ระบบการเงินที่ดีจะต้องมีเสถียรภาพและตัวกลางทางการเงินทำหน้าที่ได้ดีเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ในด้านความมั่นคง บทบาทของนอนแบงก์ที่เพิ่มขึ้นยังไม่กระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากนอนแบงก์กลุ่มที่ให้สินเชื่อมีความเชื่อมโยงกับระบบการเงินยังไม่สูงนัก และไม่ได้ระดมเงินฝากโดยตรงจากประชาชน การดูแลนอนแบงก์จึงมาจากเหตุผลในการดูแลภาคครัวเรือน ด้วยการดูแลให้นอนแบงก์เสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินอย่างเป็นธรรม ให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ทางการเงินอย่างตรงไปตรงมาและเพียงพอเพื่อให้ลูกค้าสามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์และบริการได้อย่างเหมาะสมและตรงกับความต้องการ คิดดอกเบี้ยหรือค่าบริการอย่างเป็นธรรม ตลอดจนให้ความสำคัญกับการให้สินเชื่อที่ยั่งยืน (responsible lending) ไม่ให้มีการกระตุ้นการก่อหนี้เกินตัวของครัวเรือน หรือเร่งขยายสินเชื่อโดยไม่คำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้า โดยเฉพาะในครัวเรือนกลุ่มที่มีรายได้ไม่สูงนัก อย่างไรก็ดี หากมีการก่อหนี้อุปโภคบริโภคที่ร้อนแรงจนอาจกระทบกับเสถียรภาพในภาพรวม ทางการก็อาจจะพิจารณาออกเกณฑ์กำกับการให้สินเชื่อบางประเภทออกมาเป็นครั้งคราวเพื่อลดความร้อนแรงได้ เช่น การกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เป็นต้น
ครัวเรือนของไทยในขณะนี้มีภาระหนี้เพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับสูง จนอาจกลายเป็นปัญหาสังคมได้ ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นความสำคัญในการสร้างกลไกแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยการจัดตั้งโครงการคลินิกแก้หนี้ประเภทหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน เพื่อช่วยเหลือประชาชนรายย่อยที่ประสบปัญหาหนี้ โดยคลินิกแก้หนี้มี บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) ทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียกับเจ้าหนี้หลายราย โดยล่าสุดได้ขยายขอบเขตการให้บริการให้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการนอนแบงก์ จากเดิมซึ่งครอบคลุมเฉพาะลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งลูกหนี้ที่เข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้จะมีภาระการผ่อนชำระคืนหนี้ต่อเดือนที่น้อยลง ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรน แต่ลูกหนี้จะต้องมีวินัยในการใช้จ่าย และไม่ก่อหนี้เพิ่ม ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนที่มีปัญหาหนี้เสียผ่านพ้นวิกฤตทางการเงินไปได้ในที่สุด
กลไกที่สำคัญกว่าการแก้ปัญหาหนี้ ก็คือ การส่งเสริมความรู้และสร้างวินัยทางการเงินที่ดี เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและมีวินัยในการใช้จ่ายเพื่อไม่ให้มีการก่อหนี้เกินตัว ซึ่งเป็นต้นทางของปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เกิดขึ้น โดยนอนแบงก์สามารถเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์ที่มีส่วนช่วยในการส่งเสริมการให้บริการทางการเงินอย่างรับผิดชอบ (responsible finance) กับประชาชนเพื่อให้มีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนและสร้างความมั่นคงให้กับระบบเศรษฐกิจการเงินไทย
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย