​ประเทศที่บิดเบือนค่าเงินในมุมมองของสหรัฐฯ คืออะไร?

​นางสาวธนันธร มหาพรประจักษ์
ฝ่ายนโยบายการเงิน


สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ขาดดุลการค้าในระดับสูงมานาน โดยรัฐบาลสหรัฐฯ มองว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของประเทศคู่ค้า รัฐบาลสหรัฐฯ จึงใช้เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อลดการขาดดุลการค้าทั้งการเจรจาต่อรองทางการค้า การใช้มาตรการภาษีและไม่ใช่ภาษี ซึ่งหนึ่งในมาตรการที่สหรัฐฯ ใช้ คือการตรวจสอบและระบุรายชื่อประเทศที่มีการบิดเบือนค่าเงินเพื่อหวังผลทางการค้า และใช้ประเด็นดังกล่าวในการเจรจาต่อรองหรือตอบโต้ทางการค้ากับประเทศเหล่านั้น บางขุนพรหมชวนคิดในวันนี้จึงอยากชวนผู้อ่านทำความรู้จักกับมาตรการดังกล่าวของสหรัฐฯ

ในมุมมองของสหรัฐฯ การบิดเบือนค่าเงินเพื่อหวังผลทางการค้าหรือ currency manipulation คือ การที่ธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ เข้ามาทำธุรกรรมให้อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าลงมากกว่าปัจจัยพื้นฐานของประเทศอย่างมาก จนก่อให้เกิดความได้เปรียบทางการค้าระหว่างประเทศ โดยเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ใช้วัดว่าประเทศใดอาจมีการบิดเบือนค่าเงินในรายงานฉบับล่าสุดที่เผยแพร่ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ประกอบด้วย 3 เกณฑ์หลัก คือ (1) การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่าร้อยละ 2 ของ GDP ซึ่งสหรัฐฯ ได้ลดเกณฑ์การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดให้เข้มงวดขึ้นจากเกณฑ์เดิมที่ร้อยละ 3 ของ GDP (2) การเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาและ (3) การสะสมเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมากกว่าร้อยละ 2 ของ GDP นอกจากนี้ ประเด็นที่แตกต่างจากรายงานฉบับก่อน ๆ คือ กระทรวงการคลังสหรัฐฯ จะใช้เกณฑ์ดังกล่าวตรวจสอบกับประเทศคู่ค้าที่มีมูลค่าส่งออกและนำเข้าโดยรวมกับสหรัฐฯ มากกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี จากเดิมที่ตรวจสอบเฉพาะประเทศคู่ค้าหลัก 12 อันดับแรกเท่านั้น ซึ่งจากรายงานฉบับล่าสุดครอบคลุม 21 ประเทศรวมถึงไทยด้วย

ที่ผ่านมาแม้จะยังไม่มีประเทศใดเข้าข่ายครบทั้ง 3 เกณฑ์ข้างต้น แต่มีบางประเทศที่เข้าข่ายเพียงบางเกณฑ์หรือมีท่าทีที่ส่อเค้าว่าอาจจะบิดเบือนค่าเงิน กระทรวงการคลังสหรัฐฯ จะจัดไว้ในรายชื่อประเทศที่ต้องเฝ้าติดตามหรือ monitoring list โดยในรายงานฉบับล่าสุด ประเทศที่อยู่ใน monitoring list มีจำนวน 9 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมัน อิตาลี ไอร์แลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม สำหรับประเทศไทยจากข้อมูลปี 2561ไทยเข้าเกณฑ์เพียง 1 ข้อเท่านั้น คือ มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ร้อยละ 7 ของ GDP แต่ไทยไม่ได้ถูกจัดอยู่ใน monitoring list ขณะที่การเกินดุลการค้าของไทยกับสหรัฐฯ อยู่ที่ 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ข้อมูลจาก U.S. Census Bureau) และระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไม่ได้เพิ่มขึ้น (ประมาณร้อยละ 0 ของ GDP) ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์

อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติธนาคารกลางที่เข้ามาทำธุรกรรมในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอาจมีวัตถุประสงค์อื่นและไม่ได้หวังผลทางการค้า เช่น การดูแลค่าเงินไม่ให้ผันผวนเกินกว่าที่เศรษฐกิจจะรับได้ การใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือในการดำเนินโยบายการเงินเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ เป็นต้น นอกจากนี้ การขาดดุลหรือเกินดุลการค้าขึ้นกับหลายปัจจัยทั้งนโยบายเศรษฐกิจ ภาวะการออมและการลงทุนของประเทศนั้น ๆ ซึ่งนิยาม currency manipulation ของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ นั้น ไม่ได้พิจารณาวัตถุประสงค์ของการแทรกแซงค่าเงินและความเชื่อมโยงที่มีต่อดุลการค้าอย่างชัดเจน จึงเป็นประเด็นที่นักวิชาการหลายฝ่ายยังคงถกเถียงกัน

ดังนั้น แม้การพิจารณา currency manipulation ยังเป็นที่ถกเถียง แต่ในภาวะที่สหรัฐฯ ทำทุกวิถีทางเพื่อลดการขาดดุลทางการค้า เราจึงควรติดตามความคืบหน้าของการระบุประเทศที่บิดเบือนค่าเงินและการใช้เครื่องมือกีดกันทางการค้าอื่น ๆ ของสหรัฐฯ ในระยะต่อไปอย่างใกล้ชิด

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย