นางสาวนันทพร พงศ์พัฒนานนท์

นับเป็นประเด็นร้อนที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงกันอย่างกว้างขวางทีเดียวว่าเงินทุนไหลเข้าที่ผันผวนจนทำให้ค่าเงินแข็งขึ้นในช่วงต้นปีนี้ มีสาเหตุมาจากอัตราดอกเบี้ยของไทยที่อยู่สูงกว่าต่างประเทศจริงหรือไม่ในฐานะเศรษฐกรที่อยู่ใกล้ชิดข้อมูลตัวเลข วันนี้ขอร่วมแจมให้ความเห็นด้วยอีกคน

การตัดสินใจขึ้น ลง หรือคงดอกเบี้ยของไทยในแต่ละครั้งเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะชั่งน้ำหนักทั้งด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ปัญหาเงินเฟ้อ และความเสี่ยงของเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งหลักการนี้ที่จริงแล้วก็คล้ายคลึงกับเกือบทุกประเทศในโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ที่จำเป็นต้องคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำเพื่อต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและการว่างงานสูงหรือในกรณีตรงข้ามเช่นเวียดนามที่จำเป็นต้องกำหนดดอกเบี้ยนโยบายไว้ค่อนข้างสูง (ปัจจุบันร้อยละ 9) เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ เป็นต้น

ดังนั้น หากจะตอบคำถามว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปัจจุบันที่ร้อยละ 2.75 ต่อปี นั้น สูงเกินไปหรือไม่ คงต้องพิจารณาอย่างน้อย 3 ประเด็นหลัก คือ

ข้อที่ 1 ระดับดอกเบี้ยนโยบายเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจของไทยหรือไม่ ในปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยยังเติบโตดี ในปี 2555 เศรษฐกิจไทยโตถึงร้อยละ 6.4 สูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ และตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดก็แสดงว่าประชาชนยังมีความต้องการจับจ่ายใช้สอย ภาคธุรกิจยังมีความต้องการลงทุนสูง ทั้งเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และเพื่อขยายกำลังการผลิตรองรับความต้องการซื้อในประเทศที่ยังขยายตัวดี ขณะที่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่ากลับเป็นด้านเสถียรภาพทางการเงินจากการเร่งตัวของสินเชื่อ ซึ่งภาวะนี้ต่างจากสภาพเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศหลัก เช่น สหรัฐฯ อย่างสิ้นเชิง ดังนั้น ระดับดอกเบี้ยของไทยจึงเหมาะสมในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยเองในขณะนี้ และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องถูกกำหนดให้ต่ำกว่าปกติเหมือนในสหรัฐฯ หรือเหมือนประเทศที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจหดตัวและมีปัญหาเงินเฟ้อติดลบอย่างญี่ปุ่น

ข้อที่ 2 ดอกเบี้ยของไทยอยู่สูงกว่าประเทศอื่นๆ จนกลายเป็นเป้าล่อให้นักลงทุนเข้ามาหรือไม่ หากเปรียบเทียบกับดอกเบี้ยนโยบายของประเทศที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกับไทย เช่น มาเลเซีย หรือในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ พบว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้นไม่ได้สูงกว่าประเทศอื่นเลย แต่จัดอยู่ในระดับค่อนไปทางต่ำด้วยซ้ำ เมื่อเทียบกับดอกเบี้ยของมาเลเซียที่อยู่ที่ร้อยละ 3 เกาหลีใต้ที่ 2.75 ฟิลิปปินส์ที่ 3.5 และ อินโดนีเซียที่ 5.75 และหากเปรียบเทียบดอกเบี้ยที่แท้จริง (คือหักลบด้วยเงินเฟ้อ) ภายในกลุ่มประเทศที่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบเดียวกับไทยซึ่งจัดกลุ่มโดย IMF พบว่าประเทศไทยมีดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ติดลบและต่ำที่สุดประเทศหนึ่งในโลก (รูปที่ 1)

ข้อที่ 3 ลดดอกเบี้ยลงอีกเศรษฐกิจก็ไม่เสียหายไม่ใช่หรือ ในขณะนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินของประเทศเพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากการขยายตัวของสินเชื่อและหนี้ครัวเรือน และความร้อนแรงในตลาดหุ้น ซึ่งส่วนหนึ่งก็ถูกเอื้อด้วยภาวะดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ยังติดลบอยู่ ดังนั้น การปรับลดดอกเบี้ยลงอีกนั้น นอกจากจะไม่สอดคล้องกับพัฒนาการของภาคเศรษฐกิจจริงแล้ว ยังอาจกลับเป็นเชื้อไฟให้เกิดความไม่สมดุลในระบบการเงินมากขึ้น การที่ดอกเบี้ยแท้จริงติดลบหรือดอกเบี้ยต่ำกว่าเงินเฟ้อแปลว่าคนฝากเงินกับธนาคารได้รับดอกเบี้ยน้อยกว่าราคาสินค้าที่สูงขึ้น เงินที่เก็บออมไว้ซื้อของได้น้อยลง ถ้าเป็นเช่นนี้นานๆ มูลค่าที่แท้จริงของเงินออมก็รังแต่จะลดน้อยลงทุกวันก็เลยต้องขวนขวายหาทางลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น แต่ก็เสี่ยงมากขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นหุ้น ที่ดิน ทองคำ ฯลฯ ซึ่งเป็นบ่อเกิดของภาวะฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ (Asset price bubble) โดยเฉพาะในตลาดที่อยู่อาศัยและตลาดหุ้นตามการเก็งกำไรของนักลงทุน หรือเร่งให้มีการสะสมหนี้ของประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย จนเกิดเป็นปัญหาหนี้เรื้อรังที่กระทบระบบเศรษฐกิจโดยรวมในที่สุด

จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ผู้เขียนจึงเห็นว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังไม่สูงเกินไปและเป็นระดับที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ รวมทั้ง เอื้อต่อการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวได้อย่างดี ในทางกลับกัน สิ่งสำคัญที่คนมักไม่พูดถึง แต่ กนง. ต้องชั่งน้ำหนักให้รอบคอบ คือ อันตรายจากการที่ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเกินควร เพราะอาจเป็นการสะสมความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินโดยรวมในเวลาต่อมาทั้งนี้ ต้องไม่ลืมบทเรียนจากวิกฤตซับไพร์มในสหรัฐฯ ว่าต้นตอที่เร่งให้มีการก่อหนี้อย่างมากมาย ส่วนหนึ่งคือดอกเบี้ยที่ต่ำมากและนานเกินไปนั่นเอง

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย