​เศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนในคาบสมุทรอินโดจีน

นายมนัสชัย จึงตระกูล

ท่ามกลางภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยเองก็ยังไม่เอื้ออำนวยต่อเศรษฐกิจไทยมากนัก แต่หากพิจารณาถึงเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มอินโดจีน (CLMV) ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และแนวโน้มในระยะต่อไป ปรากฏว่า มีการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5-8 ต่อปีอย่างต่อเนื่อง จึงน่าจะเป็นความหวังของนักลงทุนไทยและต่างชาติ ที่ต้องการขยายการค้า การลงทุน และแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ในกลุ่มประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะในช่วงโค้งสุดท้ายของการเข้าสู่ AEC ที่จะเกิดขึ้นในปี 2015 หรือในปีหน้านี้

กล่าวได้ว่า กลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งประกอบด้วย ประเทศกัมพูชา สปป. ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม นั้นกำลังอยู่ในช่วงพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศเหล่านี้มีความต้องการเงินทุน และเทคโนโลยีจากต่างประเทศสูง รัฐบาล CLMV ต่างมีนโยบายสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อจูงใจและอำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนต่างชาติที่สำคัญ เช่น การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี การให้กรรมสิทธิ์ในการถือครองทรัพย์สินให้สิทธิในการเช่าที่ดินระยะยาว และการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น นอกจากนี้ CLMV ยังมีจุดเด่นที่สามารถดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศที่สำคัญ คือ (1) การมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่อยู่ในเกณฑ์ดีที่ร้อยละ 5-8 ต่อปี (2) มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เช่น แร่ธาตุ ป่าไม้ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม และแหล่งน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้า ซึ่งเอื้อต่อการเป็นแหล่งผลิตอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวที่สำคัญ (3) มีประชากรวัยแรงงานมากและค่าแรงไม่สูงนัก (4) มีทำเลทางภูมิศาสตร์ที่โดดเด่นซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปยังจีนและอินเดียซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพได้ และ (5) ยังได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีศุลกากร (GSP) สำหรับการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐฯ และประเทศในกลุ่มยุโรป รวมทั้งกระแสการรวมตัวของ AEC เป็นต้น

ทั้งนี้ การลงทุนของนักลงทุนต่างชาติใน CLMV สะท้อนความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบของแต่ละประเทศ เช่น ในกัมพูชา นักธุรกิจนิยมลงทุนในธุรกิจสิ่งทอ ส่วน สปป. ลาว และเมียนมาร์ เป็นการลงทุนในธุรกิจพลังงาน ขณะที่การลงทุนในเวียดนามส่วนใหญ่เป็นการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นกลาง โดยพบว่ามีนักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนใน CLMV เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (ณ ปี 2555 FDI = 12,462 ล้านดอลลาร์ สรอ.)

แม้กลุ่มประเทศ CLMV จะมีศักยภาพดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศหลายประการ แต่ด้วยความที่เป็นเศรษฐกิจเกิดใหม่ จึงมีปัญหาและอุปสรรคที่อาจกระทบต่อการลงทุนบางประการ ได้แก่ (1) กฎ กติกาหลายประเด็นยังไม่ชัดเจน และมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย (2) มีมาตรการจำ กัดการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (3) ประสิทธิภาพของแรงงานยังต่ำเมื่อเทียบกับไทย (4) ต้นทุนในการเริ่มต้นธุรกิจสูง (5) โครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อมเฉพาะในบางพื้นที่เท่านั้น นอกจากนี้ การเพิ่มบทบาทของประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่นจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียมากขึ้นเพื่อขยายฐานการผลิตและการตลาด ย่อมส่งผลให้นักลงทุนรายย่อยและ SMEs เข้าไปลงทุนได้ค่อนข้างยาก

ทั้งนี้ หาก CLMV ต้องการเพิ่มศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศจะต้อง (1) เร่งผลักดันให้กฎ กติกา ค่อย ๆ พัฒนาเข้าสู่มาตรฐานเดียวกัน (2) ผลักดันให้มีหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการค้าและการลงทุนในกลุ่ม CLMV และไทย (3) ผลักดันให้มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่รับประกันความเสี่ยงจากการลงทุน โดยเฉพาะความเสี่ยงที่ไม่ใช่ความเสี่ยงในเชิงพาณิชย์ (4) ควรเร่งดำเนินการและสนับสนุนการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานระหว่างกัน เช่น เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ (Economic Corridors) ที่ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จเกือบทุกเส้นทาง แต่ยังใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากยังมีอุปสรรคเรื่องการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน เป็นต้น ทั้งนี้ ปัญหาและอุปสรรคที่กล่าวถึงข้างต้น หลายประเทศใน CLMV ต่างให้ความสำคัญเร่งดำเนินการแก้ไข และบางส่วนก็ได้รับการแก้ไขไปบ้างแล้ว ในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็มีนโยบายที่จะพัฒนาความร่วมมือด้านระบบการชำระเงินกับ CLMV เพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งปัจจุบันการเชื่อมโยงเครือข่ายการชำระเงินระหว่างไทยและ สปป. ลาวก็มีความคืบหน้าไปเป็นลำดับ โดยผู้ถือบัตร ATM ของธนาคารพาณิชย์บางแห่งของ สปป. ลาว สามารถที่จะมากดเบิกเงินสดจากตู้ ATM ของธนาคารพาณิชย์ไทยได้สะดวกขึ้น

สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเข้าไปลงทุนใน CLMV นอกจากต้องทำการศึกษากฎระเบียบต่าง ๆ ให้รอบคอบแล้ว จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการไทยที่ประสบความสำเร็จในการลงทุนใน CLMV พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ลงทุนในลักษณะการร่วมทุนกับผู้ประกอบการท้องถิ่น เนื่องจากผู้ประกอบการท้องถิ่นใน CLMV จะมีความเข้าใจระบบตลาดและธรรมเนียมปฏิบัติในท้องถิ่นมากกว่า ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการไทยได้ และการลงทุนควรเลือกทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมที่มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต การขนส่งและการจัดหาวัตถุดิบ เช่น ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ลงทุนยังต้องติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศอย่างใกล้ชิด แม้ว่าประเทศเหล่านี้ยังมีแนวโน้มเติบโตดี แต่ยังคงมีปัจจัยหรือประเด็นความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและกระทบต่อการลงทุนได้ เช่น การแก้ปัญหาการขาดสภาพคล่องเงินตราต่างประเทศและปัญหาด้านการคลังใน สปป. ลาว ความต่อเนื่องของการปฏิรูปเศรษฐกิจในเมียนมาร์ รวมถึงการแก้ปัญหาหนี้เสียของสถาบันการเงินในเวียดนาม เป็นต้น

กล่าวโดยสรุป CLMV นับได้ว่าเป็นกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพในระยะยาว ขณะที่ในระยะสั้นก็มีส่วนช่วยขับเคลื่อนและพยุงเศรษฐกิจในภูมิภาคของไทยได้ในระดับหนึ่ง โดยในปี 2556 ที่ผ่านมา มูลค่าการค้าระหว่างไทยและ CLMV ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 9.2 (ขณะที่มูลค่าการค้ารวมของไทยหดตัวร้อยละ 2.1) ดังนั้น CLMV จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม และไทยควรใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบในฐานะที่ภูมิศาสตร์ของไทยเป็นศูนย์กลางของประเทศเหล่านี้ อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดทั้งด้านสังคมและวัฒนธรรมซึ่งจะเอื้อต่อการค้าและการลงทุนระหว่างกันในระยะต่อไป

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ CLMV REPORT 2013 “เศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนในคาบสมุทรอินโดจีน 2556” ซึ่งจัดทำโดย ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสำนักงานภาคเหนือ สำหรับท่านที่สนใจสามารถอ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่เว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือที่ link http://www.bot.or.th/Thai/EconomicConditions/AsianEconomies/NeighborReport/Pages/CLMVReport.aspx

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

>>​Download​​ PDF