นางสาวธนันธร มหาพรประจักษ์
ฝ่ายนโยบายการเงิน
ในช่วงที่ผ่านมาเราคงเคยได้ยินว่าธนาคารกลางหลายแห่งหันมาใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ จนอาจทำให้เกิดคำถามโดยว่านโยบายดอกเบี้ยติดลบคืออะไร และผลกระทบที่อาจตามมาจากนโยบายดังกล่าว บางขุนพรหมชวนคิดในวันนี้ จึงขอชวนท่านผู้อ่านทำความรู้จักกับนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบค่ะ
อัตราดอกเบี้ยติดลบเริ่มต้นได้อย่างไร? ธนาคารกลางหลายประเทศได้ใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบหลังจากเกิดวิกฤตการเงินในสหรัฐฯ ในปี 2551 โดยหลายธนาคารกลางได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจนเข้าใกล้ระดับร้อยละศูนย์ และกว่าสิบปีที่ผ่านมาธนาคารกลางหลายแห่งยังคงปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เมื่อไม่สามารถลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้อีก ธนาคารกลางหลายแห่งได้หันมาดำเนินนโยบายการเงินแบบใหม่หรือที่เรียกว่า unconventional monetary policy ไม่ว่าจะเป็นการอัดฉีดปริมาณเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านการซื้อตราสารทางการเงินของสถาบันการเงิน (quantitative easing: QE) รวมถึงการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ ซึ่งได้ดำเนินการแล้วในธนาคารกลางในยูโรโซน สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน และญี่ปุ่น ในทางปฏิบัติการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบนั้น ธนาคารกลางจะคิดอัตราดอกเบี้ยกับธนาคารพาณิชย์ที่นำเงินฝากหรือเงินสำรองส่วนเกินมาฝากไว้กับธนาคารกลาง เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์นำเงินดังกล่าวไปปล่อยเป็นสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือน
ที่ผ่านมา แม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะติดลบ แต่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ประชาชนฝากที่ธนาคารพาณิชย์ไม่ได้ปรับลดลงจนอยู่ในระดับติดลบ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์แบกรับภาระการจ่ายค่าฝากเงินให้กับธนาคารกลาง ส่วนหนึ่งเพราะธนาคารพาณิชย์ยังต้องการรักษาฐานเงินฝากของลูกค้าไว้ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ติดลบอาจนำไปสู่การถอนเงินออกอย่างฉับพลันของผู้ฝากเงินจนอาจนำไปสู่การขาดสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ได้ อย่างไรก็ดี ล่าสุดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ติดลบเริ่มส่งผ่านมายังเงินฝากของประชาชนทั่วไป ภายหลังธนาคารพาณิชย์ในเดนมาร์กและสวิตเซอร์แลนด์ประกาศใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากติดลบ โดยจะเริ่มใช้กับลูกค้าที่มีเงินฝากจำนวนมากก่อน ซึ่งหมายความว่าผู้ฝากจะต้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียมในการฝากเงินให้กับธนาคาร นอกจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ติดลบ ธนาคารพาณิชย์บางแห่งในเดนมาร์กเริ่มเสนอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่คิดอัตราดอกเบี้ยติดลบเป็นครั้งแรก แต่หากรวมกับค่าธรรมเนียมการกู้แล้ว ผู้กู้ยังต้องจ่ายเงินคืนให้กับธนาคารในจำนวนที่มากกว่าเงินกู้เล็กน้อย ไม่ได้หมายความว่าผู้กู้จะได้เงินติดมือกลับไปจากการขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย
อัตราดอกเบี้ยที่ติดลบส่งผลบวก ผลเสียอะไรบ้าง? ในภาพรวม อัตราดอกเบี้ยที่ติดลบมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนที่ลดลงเป็นสำคัญ ซึ่งเมื่อรวมกับ QE ที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินทั้งระยะสั้นและระยะยาวปรับลดลง ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของภาคธุรกิจปรับลดลงและช่วยให้ภาวะการเงินของประเทศอยู่ในระดับผ่อนคลาย อย่างไรก็ดี อัตราดอกเบี้ยติดลบมีผลเสียเช่นกันหากเกิดขึ้นเป็นเวลานาน อาทิ (1) รายได้ของผู้ออมที่ลดลงจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและผลตอบแทนจากการลงทุนระยะยาวในตลาดการเงินที่ลดลง ซึ่งอาจกระทบต่อการใช้ของครัวเรือนและผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณ (2) ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินจากพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนเพิ่มขึ้น (search for yields) และ (3) บทบาทของสถาบันการเงินในฐานะตัวกลางทางการเงินลดลง โดยภาคเอกชนอาจลดการพึ่งพาธนาคารในการเป็นตัวกลางทางการเงินและอาจหันไปพึ่งพาตัวกลางอื่น ๆ แทน ทำให้การส่งผลผ่านผลของการดำเนินนโยบายต่าง ๆ โดยเฉพาะนโยบายการเงินอาจมีข้อจำกัดมากขึ้น
จะเห็นได้ว่านโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านต้นทุนการกู้ยืมที่ลดลง อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางที่พิจารณาใช้นโยบายดังกล่าวจำเป็นต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพและต้นทุนที่อาจจะเกิดขึ้นเช่นกัน
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย