นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน
“แบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อ เอกชนบ่นต้นทุนเพิ่ม ค่าครองชีพสูง” พาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์รายวันข้างต้น ทำให้น่าสงสัยว่า ทำไมแบงก์ชาติจึงต้องทำในสิ่งที่คนส่วนใหญ่เขาไม่ชอบด้วย เศรษฐกิจดี แบงก์ชาติจะกลัวอะไรกับเงินเฟ้อ อุปมาดั่งปาร์ตี้กำลังสนุก แบงก์ชาติเคาะแก้วแล้วบอกว่างานเลิกแล้ว ... คนไทยไม่เคยหอบเงินใส่กระสอบไปจ่ายตลาด แต่คนเยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่ 1ซื้อขนมปังตอนเย็นแพงกว่าที่ซื้อตอนกลางวันและตอนเช้า ท่านลองจินตนาการดูว่าในเช้าวันรุ่งขึ้น คนเยอรมันในยุคนั้นจะรู้สึกอย่างไร สถานการณ์ทำนองนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นในบ้านเรา คนไทยจึงอาจเห็น ผลเสียของการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาสินค้าหรือที่เรียกว่าเงินเฟ้อไม่ชัดเจนนัก ดังนั้น ในบทความนี้ ผมจะพยายามอธิบายว่า เงินเฟ้อที่สูงๆ เลวร้ายอย่างไรทั้งต่อตัวเราและต่อเศรษฐกิจของประเทศเงินเฟ้อที่กล่าวข้างต้น ถ้าจะว่าตามหลักวิชา ต้องเรียกว่าภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นภาวะที่ราคาสินค้าบริการ ค่าเช่า และ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ประชาชนทั่วไปต้องบริโภคสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง คำถามที่ตามมา คือ แล้วเงินเฟ้อสูงเลวร้ายอย่างไร
ผลเสียประการแรกก็คือ เงินในกระเป๋าของทุกคนมีค่าน้อยลง เช่น คนเยอรมันในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่มีเงินพอซื้อขนมปังตอนเช้าได้พอดี ตกเวลาบ่ายซื้อขนมปังไม่ได้แล้ว
ประการที่สอง คือ เงินเฟ้อเพิ่มความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำในสังคมให้มากขึ้น เพราะคนที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดคงหนีไม่พ้น คนที่ไม่มีอำนาจต่อรองให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งไม่เฉพาะแต่คนที่มีรายได้น้อยเท่านั้น ยังรวมถึงคนที่บากบั่นขยันหมั่นเพียรเก็บหอมรอบริบจนมีเงินออมฝากไว้กับธนาคารเพราะในที่สุดแล้วเงินออมนั้นจะมีค่าเหลือนิดเดียวหากเงินเฟ้อสูงมากๆ แต่ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่ใช้จ่ายเกินตัว จนเป็นหนี้ กลับได้รับประโยชน์ จากค่าเงินที่ลดลง เพราะแม้เขาต้องใช้หนี้เงินต้นรวมกับดอกเบี้ยแล้วค่าของเงินตอนที่ใช้หนี้ก็ยังน้อยกว่าค่าของเงินตอนที่เขากู้มา
ข้อเสียอันนี้ยังเกี่ยวโยงไปถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของภาครัฐด้วย ภาครัฐที่ใช้จ่ายเกินตัวและเกินระดับที่เหมาะสม ผลที่ตามมาคือเกิดภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนก็คงหนีไม่พ้นประชาชนเพราะ ภาระที่เพิ่มขึ้นจากเงินเฟ้อ ทำให้ประชาชนต้องใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อบริโภคเท่าเดิมเปรียบเสมือนต้องเสียภาษี จึงเรียกกันว่า “ภาษีเงินเฟ้อ” ซึ่งเลวร้ายกว่าภาษีอื่นๆ เพราะเก็บแบบไม่บอกกล่าว เดาสุ่มและที่แย่สุด คือ พวกไม่มีอำนาจต่อรองให้ทันกับเงินเฟ้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อยต้องรับภาระมากที่สุด
ประการที่สาม คือ เงินเฟ้อสูงๆ ทำให้ความเสี่ยงในการทำธุรกิจสูงขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตกำหนดราคาขายได้ยาก เพราะคาดการณ์กำลังซื้อของลูกค้าไม่ได้ การวางแผนการผลิตและการลงทุนก็ทำได้ยากเพราะต้นทุนต่างๆ ทั้งราคาวัตถุดิบ ค่าแรง ค่าเช่า ดอกเบี้ย สูงขึ้นพรวดพราด ถือเป็นการทำลายบรรยากาศการลงทุนในประเทศ เมื่อการลงทุนใหม่ๆ ไม่เกิดขึ้น การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและศักยภาพการแข่งขันของประเทศย่อมทำได้ยาก
ประการที่สี่ ถ้าเงินเฟ้อของไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่ง ต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าของไทยย่อมสูงกว่า ทำให้ขายของแข่งกับประเทศอื่นไม่ได้ กระทบกับการส่งออก เศรษฐกิจก็มีปัญหา นักลงทุนต่างชาติที่คิดจะเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานในไทยคงเลือกที่จะไปตั้งฐานการผลิตในประเทศที่มีต้นทุนต่ำและคงที่มากกว่าแน่นอน
ประการที่ห้า คือ เงินเฟ้อมักมีพลังขับเคลื่อนตัวเองให้สูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะ เมื่อของแพง ต้นทุนการผลิตก็สูงขึ้น ผู้ผลิตก็ต้องปรับราคาสินค้า ลูกจ้างก็เรียกร้องค่าจ้างเพิ่มขึ้น ผู้ผลิตก็บอกค่าจ้างแพงปรับราคาอีก เป็นวงจร เรียกว่า Wage - price spiral ซึ่งจะทำลายความมั่งคั่งของประชาชนและเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจของประเทศ
ผลเสียประเด็นสุดท้ายที่อยากเน้น คือ เงินเฟ้อเป็นตัวทำลายทั้งบรรยากาศการออม การค้า และการลงทุน ดังนั้น ผู้รับผิดชอบนโยบายเศรษฐกิจของประเทศจึงต้องตระหนักอยู่เสมอว่า มาตรการที่มุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างรวดเร็วเกินธรรมชาติในระยะสั้นนั้น คงไม่ได้ผลที่จีรัง แต่กลับจะมีผลร้ายหากเกิดเงินเฟ้อ ซึ่งมีผลบั่นทอนความกินดีอยู่ดีของประชาชนและทำลายศักยภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว
การดูแลเงินเฟ้อถือเป็นพันธกิจสำคัญของธนาคารกลางทั่วโลก โดยเครื่องมือหลักที่ธนาคารกลางส่วนใหญ่ใช้ดูแลเงินเฟ้อ คือ อัตราดอกเบี้ย จริงอยู่ การขึ้นดอกเบี้ยเป็นการเพิ่มต้นทุนแก่ผู้กู้ในระยะสั้น แต่ถ้าไม่ขึ้นดอกเบี้ยและปล่อยให้เงินเฟ้อสูงจนควบคุมไม่อยู่ ผลเสียที่ตามมาในระยะยาวจะสูงกว่าภาระดอกเบี้ยในระยะสั้นมาก แม้แต่ธุรกิจก็ต้องเดือดร้อน เพราะหากเงินเฟ้อสูงสัก 20% ในอนาคตท่านก็ต้องกู้มาลงทุนในอัตราที่ไม่ต่ำกว่า 20% หากทางการรักษาเงินเฟ้อให้ต่ำได้ในระยะยาวต้นทุนการกู้ยืมก็จะถูกลงมาด้วย
สุดท้ายนี้ผมขอฝากไว้ว่าเงินเฟ้อต่ำเป็นหัวใจสำคัญต่อการเติบโตของประเทศในระยะยาวก็จริงแต่เงินเฟ้อต่ำเพียงอย่างเดียว คงไม่พอที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ แต่เรายังต้องอาศัยหัวใจสำคัญ คือการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของเอกชน และ การจัดโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอและมีคุณภาพจากภาครัฐควบคู่กันไป
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย