นางสาวไพลิน ผลิตวานนท์
นายวิชญ์พล สุธาสินีนนท์
ภาพการลงทุนในอาเซียนเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน ในช่วงกว่าครึ่งทศวรรษที่ผ่านมาอาเซียนสามารถเปลี่ยนจากสถานะประเทศผู้รับการลงทุนโดยตรง เป็นผู้ออกไปลงทุนในประเทศเกิดใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มอาเซียนที่มีมูลค่าการลงทุนระหว่างกันเติบโตกว่า 6 เท่า ซึ่งเป็นผลจากทั้งการพัฒนาศักยภาพของภาคธุรกิจ และความพยายามของอาเซียนในการเชื่อมต่อตลาดและฐานการผลิตควบคู่กับการเชื่อมโยงระบบการเงิน ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่จะมาถึงในปี 2558 นี้
ดังนั้น หากมองไปข้างหน้า การรุกออกไปลงทุนในกลุ่มอาเซียน จึงเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ภาคเอกชนไทยไม่อาจมองข้าม ทั้งเพื่อการขยายตัวทางธุรกิจ และการรักษาขีดความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาว จึงนำมาสู่ประเด็นคำถามที่น่าสนใจว่า 1) ในปัจจุบัน ความสามารถของนักลงทุนไทยในการออกไปลงทุนต่างประเทศ เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนเป็นอย่างไร 2) นักลงทุนไทยจะต้องเตรียมพร้อมอย่างไรต่อไปในอนาคต และ 3) การรวมกลุ่มทางการเงินของอาเซียนจะช่วยสนับสนุนนักลงทุนไทยได้อย่างไร
ประเด็นแรก ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนไทยมีความสามารถออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มอาเซียนด้วยกัน แต่หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนยังถือว่ามูลค่าการลงทุนยังไม่สูงนัก กล่าวคือ ยอดเงินลงทุนโดยตรง (คงค้าง) ของนักลงทุนไทยในต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดราว 5 เท่า จากประมาณ 12,000 ล้านบาท ในปี 2551 เป็น 56,000 ล้านบาท ในปี 2555 นอกจากนี้ งานศึกษาของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยชี้ว่า เม็ดเงินที่ออกไปลงทุนยังสร้างผลกำไรให้กับนักลงทุน โดยรายได้จากการลงทุนทางตรงในต่างประเทศของบริษัทจดทะเบียน เติบโตเฉลี่ยราว 20% ต่อปีสูงกว่ารายได้จากการส่งออก ที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยราว 10% ต่อปี ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ (ประมาณ 30% ของการออกไปลงทุนทั้งหมด) ออกไปลงทุนในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และเมียนมาร์ ในธุรกิจเหมืองแร่ กิจกรรมทางการเงินและประกันภัย รวมถึงกิจกรรมการผลิต ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาจากประเทศและประเภทธุรกิจที่นักลงทุนไทยออกไปลงทุน สะท้อนให้เห็นถึงแรงจูงใจที่สำคัญ คือ 1) การแสวงหาแหล่งทรัพยากรและวัตถุดิบในการผลิต เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน 2) การขยายตลาดเพื่อเพิ่มฐานลูกค้า รักษาส่วนแบ่งตลาด และกระจายความเสี่ยงของแหล่งรายได้ และ3) การเพิมประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะการลดต้นทุนการผลิต เช่น อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มของไทยที่ออกไปลงทุนในกัมพูชา เพื่อแก้ปัญหาค่าแรงที่ปรับสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยผ่อนคลายกฎระเบียบให้นักลงทุนทั่วไป สามารถไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศโดยไม่จำกัดวงเงิน อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนด้วยกัน แม้ว่ามูลค่าการลงทุนของไทยในต่างประเทศอยู่ในอันดับต้นๆ รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า การออกไปลงทุนต่างประเทศของไทยต่อ GDP มีมูลค่าเฉลี่ยต่อปี เพียงประมาณ 2% ยังค่อนข้างห่างจากสิงคโปร์และมาเลเซียที่มีมูลค่าอยู่ที่ 11% และ 5% ตามลำดับ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ทั้งสองประเทศมีหน่วยงานรัฐที่ผลักดันนโยบายส่งเสริมการออกไปลงทุนอย่างจริงจัง และภาคเอกชนที่พยายามพัฒนาขีดความสามารถในการลงทุน
ดังนั้น การพัฒนาศักยภาพในการออกไปลงทุนในต่างประเทศ จึงยังคงเป็นเรื่องที่นักลงทุนต้องให้ความสำคัญต่อไป จึงนำมาสู่ประเด็นที่สองว่า สิ่งที่เอกชนต้องเร่งเตรียมพร้อมเพื่อรุกตลาดอาเซียนนั้น ควรเริ่มตั้งแต่ 1) การพัฒนาทรัพยากร เช่น ด้านบุคคลากร เครื่องจักร และเทคโนโลยี ของบริษัทให้พร้อมกับการขยายธุรกิจ และ 2) การทำความเข้าใจตลาดที่ออกไปลงทุน ทั้งในด้านกฎระเบียบ ขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนข้อจำกัดต่างๆ ซึ่งตามการสำรวจของธนาคารโลก และการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ปัญหาที่นักลงทุนมักประสบเมื่อลงทุนในกลุ่มอาเซียน คือ แรงงานในประเทศที่ออกไปลงทุนมีประสิทธิภาพต่ำ แม้ว่าจะมีค่าแรงถูกกว่าไทย ปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคการคอร์รัปชั่น และที่สำคัญที่สุดคือ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนในประเทศที่ออกไปลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่อาจมีข้อจำกัดในการขอเงินทุนจากในไทยเช่นกัน
หน่วยงานที่ดูแลเรื่องการเงินการคลังของประเทศในอาเซียนได้ตระหนักดีถึงข้อจำกัดของการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดังกล่าว และเห็นว่า ประเทศสมาชิกต้องร่วมกันเตรียมความพร้อมระบบการเงิน เพื่อรองรับการค้าและการลงทุนระหว่างกันที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต จึงจัดทำกรอบการรวมกลุ่มทางการเงินขึ้น ซึ่งในประเด็นสุดท้ายนี้จะตอบคำถามว่า กรอบดังกล่าวจะช่วยนักลงทุนไทยอย่างไร ในภาพรวม กรอบความร่วมมือทางการเงินอาเซียน ครอบคลุมสี่ด้านหลัก คือ 1) การเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้ายมากขึ้น โดยการลดหรือยกเลิกกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนตามความพร้อมของแต่ละประเทศ ซึ่งในส่วนของประเทศไทย ได้อนุญาตให้นักลงทุนสามารถนำเงินออกไปลงทุนโดยตรงได้เสรีแล้ว และขณะนี้กำลังผ่อนคลายการออกไปลงทุนในหลักทรัพย์เพิ่มเติม 2) การพัฒนาตลาดทุน จะช่วยให้นักลงทุนสามารถออกหุ้นหรือตราสารหนี้ เพื่อระดมทุนได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างผลงานที่เห็นเป็นรูปธรรมก็คือ โครงการ ASEAN Trading Link ที่ได้เริ่มเชื่อมการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ของไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์์ แล้วตั้งแต่ปี 2555 3) การพัฒนาระบบการชำระเงินระหว่างประเทศให้มีประสิทธิภาพ เช่น การส่งเสริมการชำระค่าสินค้าด้วยสกุลท้องถิ่นโดยตรง โดยไม่ใช้เงินดอลลาร์ สรอ. เป็นสกุลในการแลกเปลี่ยน เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์ สรอ. หรือการส่งเสริมแรงงานไทยในต่างประเทศ โอนเงินกลับผ่านช่องทางที่ถูกกฎหมายและราคาไม่แพง และ 4) การเปิดเสรีภาคบริการทางการเงิน ที่มีเป้าหมายให้ตลาดบริการทางการเงินเปิดกว้างขวางขึ้น โดยเฉพาะภาคธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีหลักการคือ สนับสนุนให้ธนาคารสัญชาติอาเซียนที่มีศักยภาพสูง ได้รับการพิจารณาให้เป็น Qualified ASEAN Bank (QAB) และสามารถขยายกิจการไปยังประเทศอื่นในอาเซียนได้ง่ายขึ้น
เช่นเดียวกับการรวมตัวในด้านการค้าและการลงทุน ที่ช่วยเปิดโอกาสการเข้าถึงฐานผู้บริโภคที่กว้างขึ้นการเปิดเสรีภาคธนาคารก็นำมาซึ่งโอกาสของธนาคารพาณิชย์ไทยในการขยายธุรกิจเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามธนาคารพาณิชย์ไทยจะเก็บเกี่ยวโอกาสดังกล่าวได้มากน้อยเพียงใด อาจขึ้นกับศักยภาพของธนาคารพาณิชย์ในการแข่งขัน และการจัดการกับความท้าทายจากการเปิดเสรีด้วย ซึ่งเราจะได้กล่าวถึงประเด็นเหล่านี้ในฉบับต่อไป
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย