​บทบาทของ ธปท. ด้านการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน

นางสาวพรชนก บำรุงเรือน
ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน


ระบบสถาบันการเงินไทยกำลังเผชิญกับช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญจากปัจจัยรอบด้าน ทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ไปจนถึงการเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อโครงสร้างรูปแบบธุรกิจ และการแข่งขันในระบบสถาบันการเงินไม่มากก็น้อย

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ด้านหนึ่งก็นำมาซึ่งโอกาสในการยกระดับการเข้าถึงบริการทางการเงินโดยเฉพาะช่องทางใหม่ๆ จากการใช้เทคโนโลยี ที่ทำให้สถาบันการเงินสามารถให้บริการกับลูกค้าได้ในต้นทุนที่ถูกลงและสะดวกรวดเร็วขึ้น แต่ในทางกลับกัน ก็เป็นความท้าทายต่อการกำกับดูแลเช่นกัน ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้กำกับดูแลหลักของภาคการเงินเห็นความสำคัญของการสร้างความสมดุลระหว่างการส่งเสริมพัฒนาการของระบบสถาบันการเงินให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการมากที่สุด กับการจัดการความเสี่ยงรูปแบบใหม่ที่เป็นผลจากการเปลี่ยนภูมิทัศน์ของระบบการเงิน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าระบบสถาบันการเงินจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่ช่วยอำนวยความสะดวกธุรกรรมการเงิน และตอบสนองความต้องการทางการเงินของภาคธุรกิจและประชาชนได้อย่างทั่วถึงมีประสิทธิภาพ และมั่นคงปลอดภัย

ด้วยเหตุนี้ ที่ผ่านมา ธปท. จึงได้มีโครงการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมบทบาทของเทคโนโลยีในการสร้างประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการทางการเงิน หากจะพูดถึงโครงการสำคัญที่สุดคงหนีไม่พ้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงินที่เรารู้จักกันดีในชื่อระบบ “พร้อมเพย์” (Promptpay) ซึ่งช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรมโอนและชำระเงินระหว่างสถาบันการเงิน ส่งผลให้การโอนเงินผ่านช่องทางออนไลน์ไม่เสียค่าธรรมเนียม นอกจากนี้ ระบบพร้อมเพย์ยังได้รับการต่อยอดไปสู่การชำระเงินโดยใช้ QR code ที่ลดต้นทุนการให้บริการและเพิ่มความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการมากขึ้น ขณะที่โครงการล่าสุดที่ ธปท. ร่วมผลักดันกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน คือ National Digital ID (NDID) ที่เป็นตัวกลางเชื่อมต่อข้อมูลในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนผ่านระบบดิจิทัล ก็ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงเป้าหมายของ ธปท. ที่ต้องการให้ประชาชนผู้ใช้บริการทางการเงินได้รับประโยชน์สูงสุดจากโลกการเงินยุคใหม่เช่นกัน

สำหรับบทบาทอีกด้านหนึ่งในฐานะผู้ดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน นั้น ธปท. เห็นถึงความเสี่ยงรูปแบบใหม่ภายใต้บริบทแวดล้อมปัจจุบัน จึงนำมาสู่การออกหลักเกณฑ์ที่สำคัญเพื่อรองรับความเสี่ยงดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นหลักเกณฑ์กำกับดูแลความเสี่ยงด้าน IT แนวทางการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพื่อลดความเปราะบางในภาคครัวเรือน ตลอดจนการส่งเสริมความรู้และวินัยทางการเงินของประชาชนซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของความเข้มแข็งของระบบการเงินในระยะยาว

ในระยะต่อไปที่พลวัตต่าง ๆ ยังพัฒนาและดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแน่นอนว่าเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงต่อระบบสถาบันการเงินไทย ธปท. จึงยังมีโจทย์สำคัญอีกมากเพื่อใช้ประโยชน์จากโอกาสและป้องกันผลกระทบจากความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด ตั้งแต่ การปรับกรอบการกำกับดูแลจากเดิมที่อิงกับสถาบัน (Entity-based) เป็นการกำกับที่อิงตามประเภทธุรกิจมากขึ้น (Activity-based) เพื่อให้เท่าทันกับภาคการเงินที่ผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (Non-banks) เข้ามามีบทบาทมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในธุรกิจเดียวกันกับที่ธนาคารให้บริการอยู่ การสนับสนุนให้เกิดการส่งผ่าน เชื่อมโยง และผนวกข้อมูลประเภทต่าง ๆ ทั้งในและนอกภาคการเงินที่จะช่วยให้ประชาชนและภาคธุรกิจเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบได้มากขึ้น ซึ่งในหลายประเทศก็เริ่มมีนโยบายด้าน API Standard และ Open banking บ้างแล้ว ไปจนถึงการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable development) โดยเริ่มจากการผลักดันให้สถาบันการเงินตระหนักถึงผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล ในการทำธุรกิจ เพื่อให้บรรลุหนึ่งในเป้าหมายของ ธปท. ที่อยากเห็นระบบสถาบันการเงินมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย