นางเขมสุดา เริงวรรณ
เครื่องมือหนึ่งในการชำระเงินที่มีการใช้อย่างแพร่หลายและยาวนานคือการใช้เช็ค ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งบุคคลธรรมดาหรือบริษัทห้างร้าน การใช้เช็คได้รับการยอมรับว่ามีความปลอดภัยสูง อีกทั้งมีกฎหมายรองรับที่ชัดเจน หากมีปัญหาก็สามารถนำมาฟ้องร้องดำเนินคดีได้ ในด้านของการเรียกเก็บเงินก็มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก เพียงนำมาฝากที่ธนาคารที่ตนเองมีบัญชีอยู่ ซึ่งธนาคารก็จะนำไปเข้ากระบวนการเรียกเก็บเงินตามเช็คและจะได้รับเงินตามเวลาที่กำหนด ขึ้นอยู่กับว่าสาขาธนาคารที่ต้องไปเรียกเก็บนั้นอยู่ในเขตเดียวกันหรือไม่ หากต่างเขตก็จะใช้เวลามากขึ้น เช่น เช็คในเขตกรุงเทพใช้เวลา 1วันทำการหลังจากวันที่นำเช็คมาฝากก็จะได้รับเงินเข้าบัญชี ในขณะที่เช็คข้ามจังหวัดอาจใช้เวลา 3 - 5 วันทำการจึงจะได้รับเงินเข้าบัญชี
ในหลายๆ ประเทศ กระบวนการเรียกเก็บเงินตามเช็คได้พัฒนาไปสู่การใช้ภาพเช็คแล้ว ซึ่งกระบวนการดังกล่าวทำให้การเรียกเก็บเงินตามเช็คมีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้พัฒนาระบบการเรียกเก็บเงินตามเช็คขึ้นใหม่ โดยการใช้ภาพเช็ค เพื่อให้มีความทันสมัย มีประสิทธิภาพ รวมทั้งแก้ปัญหาระยะเวลาการเรียกเก็บเงินตามเช็คที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างเช็คในกรุงเทพ และเช็คข้ามเขตหรือข้ามจังหวัด โดยระบบใหม่มีชื่อเรียกว่า “ระบบการหักบัญชีเช็คด้วยภาพเช็คและระบบการจัดเก็บภาพเช็ค” (Imaged Cheque Clearing and Archive System) หรือ ICAS
จุดเด่นของระบบ ICAS คือ ผู้ฝากเช็คจะได้รับเงินเข้าบัญชีภายใน 1 วันทำการหลังจากวันที่นำเช็คมาฝากธนาคารโดยเท่าเทียมกันทั่วประเทศ ไม่ว่าเช็คนั้นจะเรียกเก็บจากสาขาธนาคารในเขตเดียวกันหรือข้ามเขต หรือข้ามจังหวัด การที่ผู้ฝากสามารถได้รับเงินเร็วขึ้นนี้จะช่วยให้การใช้เงินในระบบเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยไม่ต้องเสียโอกาสในระหว่างที่รอเข้ากระบวนการเรียกเก็บ
ในด้านของธนาคารสมาชิก ซึ่งประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจระบบ ICAS จะช่วยลดต้นทุนในการขนส่งและคัดแยกตัวเช็คไปยังธนาคารเจ้าของเช็ค เนื่องจากจะใช้วิธีกราดภาพเช็คด้วยเครื่อง Capture และส่งภาพเช็คเข้าระบบแทนการตรวจสอบจากตัวเช็คจริง ด้วยระบบที่มีความมั่นคงปลอดภัยตามหลักสากลของการรับส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในประเทศไทยได้มีการออกกฎหมายมารองรับแล้ว คือ พ.ร.บ. ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งได้มีการออกประกาศของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อมารองรับระบบ ICAS และหากมีปัญหาจากการเรียกเก็บเงินตามเช็คก็สามารถนำภาพเช็คที่จัดทำตามระเบียบที่ ธปท. กำหนดมาเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีได้
ธปท. มีแผนงานที่จะเริ่มใช้ระบบ ICAS ในเขตกรุงเทพและปริมณฑลในปี 2554 โดยจะทยอยใช้ตามความเหมาะสม เพื่อให้ธนาคารสมาชิกมีความพร้อมและไม่ส่งผลกระทบต่อระบบงานอื่นภายในธนาคารสมาชิก เมื่อการดำเนินการภายในเขตกรุงเทพและปริมณฑลเสร็จสมบูรณ์แล้ว จึงจะขยายไปยังต่างจังหวัด โดยคาดว่าจะสามารถใช้ระบบ ICAS ได้ทั่วประเทศภายในปี 2555 เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่าง ๆ ทั้งประชาชนผู้ใช้เช็ค ธนาคารสมาชิก และเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ปรับตัวเข้าสู่ระบบใหม่ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทยที่จะมุ่งไปสู่การใช้เอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์ในระบบเศรษฐกิจการค้าและกระบวนการยุติธรรม เพื่อพัฒนาระบบการชำระเงินให้สามารถสนับสนุนและรองรับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย