ดร.มณฑลี กปิลกาญจน์ นางสาวนันทนิตย์ ทองศรี ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ
ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกนั้น ประเทศไทยได้เผชิญจุดผกผันของประเทศ หรือ Golden period ที่จะตัดสินว่าการระบาดของโควิด-19 ในไทยจะสามารถ คุมได้ หรือ คุมไม่ได้ ซึ่งถ้า คุมไม่ได้ จำนวนคนไข้จะเกินศักยภาพของสาธารณสุขไทยที่จะรองรับได้ ทั้งบุคลากรทางการแพทย์ ห้องผู้ป่วย หรืออุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อนั้นจะไม่เพียงพอ เพื่อให้เรารอดพ้นจากสถานการณ์ที่คุมไม่ได้จึงเป็นที่มาของการปฏิบัติตัวที่เราทุกคนต้องช่วยกันด้วยการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social distancing (การใช้ชีวิตที่ลดการปฏิสัมพันธ์ทางกายภาพและทางสังคม) ตามหลักที่ว่า โรคติดต่อ จะไม่ติดต่อ ถ้าเราไม่ติดต่อกัน รวมไปถึงการทำงานที่บ้านสำหรับสายอาชีพที่สามารถทำได้ และมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาเพื่อเสริมการเว้นระยะห่างทางสังคม ทั้งการปิดช่องทางการเข้ามาในประเทศ และการปิดสถานที่เสี่ยงต่อการติดโรคเป็นการชั่วคราว ซึ่งปกติมีคนจำนวนมากไปทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น สถานบันเทิง ร้านเสริมสวย ร้านนวดแผนโบราณ สถานศึกษา ตลาดนัด และห้างสรรพสินค้าบางส่วน โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เชื่อแน่ว่าวิถีชีวิตแบบใหม่ของการอยู่ร่วมกันในสังคมและมาตรการดังกล่าว จะช่วยลดปริมาณผู้ติดเชื้อลงได้ในภายหน้า และช่วยให้เราข้ามผ่านช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ไปได้ หากแต่คนไทยทุกคนต้องปรับตัวและอดทนเพื่อก้าวข้ามวิกฤตนี้ไปด้วยกัน
บทความในวันนี้ขอแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับแนวทางการใช้ชีวิตในห้วงเวลาสำคัญนี้ โดยขอแบ่งการทำงานตามวิถีชีวิตแบบใหม่ออกเป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกคือคนที่สามารถทำงานที่บ้านได้ หรือ ที่เรียกกันติดปากในแทบทุกสื่อว่า WFH - Work From Home เช่น ครู นักการเงิน ผู้บริหาร ที่เทคโนโลยียุคนี้เอื้อให้ทำงานได้อย่างคล่องตัวแม้ไม่ต้องเข้าออฟฟิศ ขณะที่การทำงานในบางอาชีพแทบไม่จำเป็นต้องพบเจอผู้คนเลยด้วยซ้ำ เช่น นักเขียน นักออกแบบโปรแกรมเมอร์ ซึ่งภายใต้สถานการณ์ปกติแล้ว คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่คงต้องเดินทางไปทำงานที่ออฟฟิศ ดังนั้นหากคนกลุ่มนี้พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสที่จะประหยัดเวลาในการเดินทาง ยิ่งถ้าเป็นกรุงเทพฯ การต้องฝ่าฟันรถติดได้บั่นทอนศักยภาพในการทำงานไปไม่มากก็น้อย เมื่อปรับตัวได้ การทำงานที่บ้านย่อมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ถือเป็นการฝึกวินัยด้วยหลักที่ว่าการทำงานวัดที่ผลงาน ไม่ได้วัดที่เวลาการเข้า-ออกจากที่ทำงาน ผู้เขียนจึงมองว่าคนกลุ่มนี้อาจไม่ได้รับผลกระทบในด้านการทำงานมากนักจากวิกฤตโควิด-19 แม้อาจรู้สึกอึดอัดถ้าชอบใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางฝูงชน อย่างไรก็ดี คนกลุ่มนี้ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ไทยควบคุมสถานการณ์ได้หากอยู่แต่ที่บ้านไม่ออกไปไหนถ้าไม่จำเป็น และมากไปกว่านั้นถ้ามีวินัยในการทำงานก็จะยิ่งเป็นกำลังสำคัญให้กับเศรษฐกิจไทยในช่วงวิกฤตนี้ได้
กลุ่มที่สองคือ คนที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ ประกอบไปด้วยคนหลายสายอาชีพ บุคลากรทางการแพทย์ ฮีโร่ของเราที่ต้องเผชิญความท้าทายอย่างมาก จากทั้งโรคอุบัติใหม่ซึ่งทำให้ยากแก่การรักษา จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน และยังต้องเผชิญกับการขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อซึ่งสำคัญอย่างยิ่งในการปฏิบัติหน้าที่ท่ามกลางความเสี่ยงของการติดโรค คนกลุ่มนี้อุทิศตัวในการทำหน้าที่อย่างเต็มที่ท่ามกลางความเสี่ยงของโรค ถัดมาเป็นอาชีพที่ช่วยให้พวกเราอยู่รอดได้ในวิถีชีวิตใหม่อย่างราบรื่น อาทิ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง พนักงานขนส่งสินค้าอุปโภค บริโภค รปภ. ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่ต้องประจำการ ฯลฯ ซึ่งคนกลุ่มนี้ที่เป็นข้าราชการหรือรัฐวิสาหกิจจะได้รับเงินเดือนเท่าเดิม ขณะที่อาชีพอื่นอาจได้รับรายได้แตกต่างกันไปตามผลกระทบ มอเตอร์ไซค์รับจ้างอาจมีได้รายได้มากขึ้น เนื่องจากคนไม่ออกจากบ้านจึงใช้บริการสั่งอาหาร/ส่งของมากขึ้น แม้คนกลุ่มนี้อาจจะมีโอกาสสร้างรายได้มากขึ้น แต่ก็เป็นการปฏิบัติงานบนความเสี่ยงที่จะต้องสัมผัสกับโลกภายนอกจึงเป็นที่น่าชื่นชมและควรได้รับการปฏิบัติด้วยเป็นอย่างดีจากพวกเราที่ต้องพึ่งพาอาศัยในยามยากเช่นนี้