​เช็คสุขภาพเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินไทย

นายรัฐศาสตร์ หนูดำ

เมื่อพูดถึงปัญหาทางเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน หลายท่านอาจสงสัยว่าปัญหานั้นเกิดขึ้นในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้นหรือขาลง ขอเรียนชี้แจงว่าปัญหาสามารถเกิดขึ้นได้ทั้ง 2 ช่วงของเศรษฐกิจ โดยในช่วงเศรษฐกิจขยายตัวดี ภาคเอกชนจะมีพฤติกรรมเสี่ยงมากขึ้น ทั้งในเรื่องการบริโภค หรือการเก็งกำไร และมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้นมากจนอาจนำไปสู่ปัญหาการก่อหนี้เกินตัวได้ ในทางตรงกันข้าม ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว รายได้ของภาคเอกชนลดลงมาก ประกอบกับสถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น จึงอาจกระทบต่อระดับการบริโภคและความสามารถในการชำระหนี้ของภาคเอกชนได้ อย่างไรก็ดี ปัญหาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินที่เกิดขึ้นใน 2 ช่วงของเศรษฐกิจมีความเกี่ยวโยงกัน โดยหากมีการสะสมความเปราะบางในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้นไว้มากเท่าใด ผลกระทบในช่วงเศรษฐกิจขาลงก็จะยิ่งรุนแรงมากเท่านั้น ดังนั้น การป้องกันการสะสมความเปราะบางไว้ก่อน จะเป็นวิธีดูแลป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เรามีความกังวลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินที่เกิดขึ้นทั้งใน 2 ช่วงของเศรษฐกิจ คือ ทั้งในช่วงเศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้นและช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว

ในช่วงปี 2555 ถึงต้นปี 2556 เศรษฐกิจเริ่มขยายตัวดีขึ้น ประกอบกับมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางการภายหลังวิกฤตน้ำท่วม ทาให้สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวสูงต่อเนื่อง หนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตลาดอสังหาริมทรัพย์คึกคักมาก ส่งผลให้มีการสะสมความเปราะบางทางเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินมากขึ้น ทางการเองก็เคยส่งสัญญาณเตือนเพื่อให้เกิดความระมัดระวังและลดการก่อหนี้เกินตัว อย่างไรก็ดี ในช่วงกลางปี 2556 เป็นต้นมา เศรษฐกิจชะลอลงต่อเนื่องประกอบกับปัญหาทางการเมืองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ภาคเอกชนขาดความเชื่อมั่นซึ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยให้ชะลอตัวลงไปอีก จึงส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของทุกภาคเศรษฐกิจ โดยรายได้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจปรับลดลง ส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง และเริ่มเห็นการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่ออุปโภคและบริโภค ส่วนหนึ่งเกิดจากการก่อหนี้เกินตัวในช่วงก่อนหน้า ขณะเดียวกันภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอลงทั้งในส่วนของผู้ซื้อและผู้ประกอบการ อย่างไรก็ดี ผลกระทบดังกล่าวยังไม่กระจายเป็นวงกว้างจนเป็นความเสี่ยงเชิงระบบ เนื่องจากคุณภาพหนี้ภาคครัวเรือนที่ด้อยลง ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อของผู้กู้รายย่อยที่มีมูลค่าไม่สูงมาก สำหรับภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากนั้นยังจำกัดอยู่ที่ธุรกิจขนาดกลางถึงเล็ก (SMEs) ในบางภาคการผลิต อาทิ ภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับภาคท่องเที่ยว และภาคก่อสร้างจากการชะลอออกไปของหลายโครงการภาครัฐ ขณะที่ธุรกิจรายใหญ่ยังสามารถประคองตัวเองได้ และผลกระทบไม่รุนแรงเท่าช่วงเศรษฐกิจโลกปี 2552 ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ได้ดูแลช่วยเหลือลูกค้าเป็นลำดับ ซึ่งช่วยควบคุมความเสี่ยงไม่ให้แพร่กระจายออกไปสู่ระดับเศรษฐกิจมหภาคได้ระดับหนึ่ง และสถาบันการเงินเองได้เพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

คำถามสำคัญต่อมาคือ การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ การเงินอย่างไร ระยะสั้นส่งผลกระทบบ้างต่อตลาดการเงิน โดยเงินบาทอ่อนค่าและนักลงทุนต่างชาติขาย หลักทรัพย์ไทย แต่หลังจากนั้นไม่นานภาวะตลาดการเงินปรับดีขึ้นและเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพ และนัก ลงทุนต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาลงทุนมากขึ้น นอกจากนี้ สถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือยังคงระดับความ น่าเชื่อถือของประเทศ เนื่องจากเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก แต่ ยังคงมีความเสี่ยงที่ถูกจับตามอง เพราะขึ้นอยู่กับความคืบหน้าของการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศให้เห็นใน เชิงรูปธรรม จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมาก โดยหลายประเทศ ยกระดับการเตือนภัย และเนื่องจากนักท่องเที่ยวของไทยมีสัดส่วนของชาวเอเชียเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งมีความ อ่อนไหวต่อเหตุการณ์ทางการเมือง ส่วนหนึ่งเพราะยังมีกฎอัยการศึกทำให้ประเทศส่วนใหญ่ยังคงระดับการ เตือนภัยอยู่ แม้ว่าจะปรับดีขึ้นบ้างตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนเป็นต้นมา
โดยสรุป เศรษฐกิจในภาพรวมเริ่มมีสัญญาณปรับดีขึ้น โดยมีการคืนหนี้จำนำข้าว การเร่งอนุมัติโครงการลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐ อันเป็นผลดีที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนและนักลงทุนให้กลับมา ส่วนหนึ่งสะท้อนจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้น จึงคาดว่าจะส่งผลดีต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะต่อไป แต่ผลจะมีมากน้อยแค่ไหนยังคงต้องติดตามความชัดเจนและความรวดเร็วของนโยบายภาครัฐ ตลอดจนการลงทุนอย่างจริงจังของรัฐและเอกชน

แม้ว่าเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะต่อไป คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่มีสัญญาณดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาวที่สำคัญประการหนึ่งจากภาคการคลังที่มีความไม่สมดุลระหว่างรายได้และรายจ่าย โดยรายได้ของภาครัฐมีแนวโน้มทรงตัว ขณะที่รายจ่ายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงที่สังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้รายจ่ายสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้นมาก นอกจากนี้ การดำเนินกิจกรรมนอกงบประมาณปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากกิจกรรมกึ่งการคลัง อาทิ โครงการรับจำนำข้าว อาจทำให้ภาคการคลังขาดเสถียรภาพได้ และเมื่อถึงจุดหนึ่งรัฐบาลไม่อาจก่อหนี้เพิ่มได้อีกจะกระทบ Sovereign Credit Risk ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการระดมทุนภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น และกระทบความเชื่อมั่นภาคเอกชนและนักลงทุน อาจทำให้เกิดปัญหาเชิงระบบได้ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นมากขึ้นที่ควรมีการปรับโครงสร้างเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับภาคการคลัง และเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินโดยรวมของประเทศ

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย