นางวรรณา โตงาม
เมื่อเร็ว ๆ นี้ธนาคารแห่งประเทศไทยผ่อนคลายให้บริษัทที่มีแหล่งเงินได้จากต่างประเทศ สามารถโอนเงินจากบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit : บัญชี FCD) ไปเข้าบัญชี FCD ของบริษัทอื่น เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการได้ ทำให้เกิดคำถามมากมายจากผู้ประกอบธุรกิจว่า การผ่อนคลายระเบียบดังกล่าวจะช่วยบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างไร
ในกรณีของผู้ฝากเงินที่มีเงินได้จากต่างประเทศ เช่น ผู้ส่งออก อาจใช้บัญชี FCD เพื่อบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ดังนี้ 1) ฝากเงินที่ได้รับจากต่างประเทศเข้าบัญชี FCD เพื่อรอชำระค่าสินค้าเข้าหรือรายจ่ายอื่น ๆ ในต่างประเทศ ทำให้ไม่ต้องเสียส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยนจากธุรกรรมซื้อ/ขายเงินตราต่างประเทศ และถ้าสกุลเงินที่ได้รับกับรายจ่ายไม่ตรงกัน สามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินสกุลอื่นก่อนฝากได้ 2) โอนเงินจากบัญชีตนเองไปเข้าบัญชี FCD ของบริษัทอื่นในประเทศเพื่อชำระค่าสินค้าและค่าบริการระหว่างกันได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น การจ่ายค่าระวางเรือให้กับบริษัทเรือที่มีแม่อยู่ต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีการบวกค่าความผันผวนของเงินในกรณีที่เรียกเก็บเป็นเงินบาท แต่ถ้าจ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ 3) ถ้าผู้ฝากเงินยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินทันที อาจมีทางเลือกได้ว่าจะถอนเงินมาแลกและฝากเป็นเงินบาท หรือฝากเป็นเงินตราต่างประเทศเก็บไว้แล้วจึงทยอยถอนแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทเมื่อจะใช้เงินก็ได้ 4) กรณีที่ขาดสภาพคล่องแต่ยังไม่ต้องการถอนแลกเป็น เงินบาท ก็สามารถใช้บัญชี FCD เป็นหลักประกันในการกู้เงินบาทเพื่อนำไปใช้เสริมสภาพคล่องธุรกิจได้ แต่ทั้งนี้ต้องคำนวณต้นทุนค่าธรรมเนียมและส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยของเงินสองสกุลด้วย 5) ผู้ส่งออกที่มีวงเงินสินเชื่อสามารถทำ OD บัญชี FCD เพื่อนำไปเสริมสภาพคล่องในระหว่างรอรับเงินค่าของส่งออก
สำหรับผู้ที่ไม่มีเงินได้จากต่างประเทศแต่มีรายจ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศ เช่น ผู้นำเข้า สามารถฝากเงินตราต่างประเทศ เก็บไว้เพื่อรอชำระรายจ่ายในต่างประเทศได้ โดยแหล่งที่มาของเงินตราต่างประเทศอาจมาจากการซื้อหรือกู้เงินตราต่างประเทศจากธนาคารพาณิชย์ หรือ รับโอนเงินค่าสินค้าหรือค่าบริการจากบัญชี FCD ของผู้ที่มีเงินได้ค่าสินค้าและบริการจากต่างประเทศ นอกจากนี้ธุรกิจที่มีโครงการที่จะลงทุนในต่างประเทศ หรือ มีโครงการที่จะซื้อเครื่องจักรนำเข้ามาขยายกิจการในประเทศ อาจจะใช้โอกาสที่ค่าเงินบาทแข็งซื้อเงินตราต่างประเทศเก็บไว้ในบัญชีเพื่อรอไว้ชำระรายจ่ายในอนาคตได้ และอีกตัวอย่างหนึ่งก็คือบุคคลในประเทศที่มีรายจ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศแต่อาจจะยังไม่มีเอกสารหลักฐานแสดงภาระ เช่น ค่าใช้จ่ายการศึกษาในต่างประเทศ สามารถซื้อเงินตราต่างประเทศฝากเข้าบัญชีได้ภายในวงเงินที่กำหนด
ที่ผ่านมาจะเห็นว่าได้มีการพูดถึงบัญชี FCD อยู่ 3 ประเภท คือ 1) บัญชี FCD ที่มีเงินฝากมาจากต่างประเทศ ซึ่งบัญชีนี้เจ้าของบัญชีสามารถฝากได้ตามจำนวนเงินที่ได้มา 2) บัญชี FCD ที่มีเงินฝากมาจากการซื้อเงินตราต่างประเทศ หรือ กู้เงินจากธนาคารในประเทศ และผู้ฝากมีรายจ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศ ซึ่งเจ้าของบัญชีสามารถฝากได้โดยต้องมียอดคงค้างไม่เกิน 100 ล้านดอลลาร์ สรอ. สำหรับนิติบุคคล และ ไม่เกิน 1 ล้านดอลลาร์ สรอ.สำหรับบุคคลธรรมดา แต่ถ้ามีรายจ่ายเงินตราต่างประเทศที่จะต้องชำระในอีกไม่เกิน 12 เดือน ข้างหน้าก็สามารถฝากเพิ่มได้อีกไม่เกินรายจ่ายนั้น และ 3) บัญชี FCD ที่มีเงินฝากที่มาจากแหล่งในประเทศ เหมือนบัญชีประเภท 2 แต่ผู้ฝากยังไม่มีเอกสารแสดงรายจ่ายต่างประเทศ ซึ่งเจ้าของบัญชีสามารถฝากได้โดยต้องมียอดคงค้างไม่เกิน 5 แสนดอลลาร์ สรอ.ทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา
ตามที่กล่าวมาข้างต้นคงจะเห็นได้ว่า บัญชี FCD สามารถช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ ผู้ประกอบธุรกิจอาจจะลองใช้บัญชี FCD เพื่อบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินอย่างไรก็ดี เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการฝากเงินตราต่างประเทศ ผู้ฝากเงินควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และ ค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศของแต่ละธนาคาร[1] รวมทั้งต้องระมัดระวังการฝากเงินตราต่างประเทศเพื่อแสวงหาผลตอบแทนจากอัตราแลกเปลี่ยนโดยไม่มีภาระเงินตราต่างประเทศรองรับด้วย เพราะอาจจะทำให้เกิดผลขาดทุนได้ หากผู้ฝากเงินตราต่างประเทศไม่มีความรู้ความเข้าใจเพียงพอในการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน
------------------------------------------------------------------------------
[1] สามารถเรียกดูข้อมูลได้จาก เว็บไซด์ ธนาคารแห่งประเทศไทย www.bot.or.th หัวข้อ สถิติตลาดการเงิน หรือ http://www.bot.or.th/THAI/STATISTICS/FINANCIALMARKETS/Pages/index.aspx
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย