นางสาวชนาภรณ์ เสรีวรวิทย์กุล
ขณะที่มีข่าวว่าเวียดนามกำลังทดลองใช้เทคโนโลยี 4G ไทยต้องชวดโอกาสที่จะได้ใช้ 3G ไปอีกครั้ง เมื่อศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษายืนตามคำสั่งศาลปกครองกลาง ทำให้แผนการประมูลใบอนุญาตต้องพับไปจนกว่าจะจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้
อันที่จริง เรื่องปัญหา 3G เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งที่สะท้อนว่าการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมไทยยังมีข้อติดขัด จากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั่วโลกโดย World Economic Forum แสดงผลที่น่าตกใจว่า ศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยถดถอยลงอย่างต่อเนื่องถึง 10 อันดับในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยในปีนี้อยู่ที่อันดับ 38ตามหลังอันดับ 3 สิงคโปร์ อย่างไม่เห็นฝุ่นและไล่ตามอันดับที่ 26 อย่างมาเลเซียอยู่ห่างๆ ขณะที่อินโดนีเซียกับเวียดนามเขยิบขึ้นรวดเดียว 10 กว่าอันดับเข้ามาหายใจรดต้นคอ
รายงานฉบับนี้บ่งชี้ว่า ประเด็นสำคัญที่สุดที่ฉุดรั้งศักยภาพของเศรษฐกิจไทยคือ ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้วจะพบว่าศักยภาพด้านอื่นๆ ก็แย่ลงเช่นกัน ทั้งประสิทธิภาพของภาครัฐ การบังคับใช้กฎหมาย ความสามารถในการรับเทคโนโลยีและการวิจัยพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งประสิทธิภาพในตลาดแรงงานที่ไทยเคยภูมิใจก็ไม่ใช่จุดที่จะขายได้อีกต่อไป ประเด็นเหล่านี้ไทยควรเร่งปรับปรุงแก้ไข ตัวอย่างเช่น ควรสร้างความแน่นอนในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อป้องกันมิให้เกิดกรณีอย่างมาบตาพุดอีก
หากประมวลภาพทั้งหมดจะเห็นว่าศักยภาพที่ถดถอยนั้น เป็นผลจากการขาดยุทธศาสตร์ร่วมที่ทุกภาคส่วนในประเทศจะรับรู้และปฏิบัติได้เป็นรูปธรรม หากถามคนไทยสักคนว่า อีก 10 ปีประเทศไทยจะเป็นอย่างไร เราอาจได้คำตอบแตกต่างกันไป แต่หากเปลี่ยนไปถามที่สิงคโปร์หรือมาเลเซีย คงไม่น่าแปลกใจถ้าประชาชนเขาจะตอบได้ในทิศทางเดียวกันว่าประเทศของเขากำลังพัฒนาไปสู่จุดใด
สาเหตุหลักที่ไทยขาดเป้าหมายร่วม เนื่องจากการบริหารจัดการและการวางนโยบายต่างๆ ยังเปลี่ยนไปตามผู้ที่เข้ามาบริหารประเทศ เมื่อเปลี่ยนตัวผู้นำ การดำเนินนโยบายต่างๆ ก็ขาดตอน โจทย์หลักของไทยคือจะทำอย่างไรให้นโยบายทั้งหลายดำเนินไปอย่างราบรื่นไม่ว่าผู้ใดจะเข้ามาเป็นผู้นำประเทศ กล่าวคือ จะทำอย่างไรให้การบริหารบ้านเมืองมีเสถียรภาพที่แท้จริง
การตอบโจทย์ดังกล่าวมีความสำคัญมาก เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไม่ใช่เรื่องในระยะสั้นที่จะทำวันต่อวัน เดือนต่อเดือน หรือปีต่อปี แต่ต้องมีการวางยุทธศาสตร์อย่างสอดคล้องและเป็นระบบ การออกนโยบายต่างๆ ต้องคำนึงผลกระทบในระยะยาว ขณะเดียวกันการนำนโยบายมาปฏิบัติเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจก็ต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อความกินดีอยู่ดีมีหลักประกันของประชาชนและลูกหลานในอนาคต
ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลกที่จะเปลี่ยนไป ประเทศในเอเชียจะมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกมากขึ้น สำหรับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนต่างก็เร่งพัฒนาเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ไทยจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเสริมสร้างศักยภาพทั้งหลายเพื่อไม่ให้ตกรถไฟขบวนนี้
ถ้าเปรียบความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจเหมือนการแข่งวิ่งสามขาที่ผู้วิ่งต้องเอาผ้าผูกขาติดกัน การจะวิ่งให้ทันขบวนรถไฟนั้น แม้ผู้วิ่งแต่ละคนจะวิ่งจนสุดความสามารถ แต่ถ้าคนหนึ่งวิ่งไปทางซ้าย อีกคนวิ่งไปทางขวา ก็รังแต่จะทำให้สะดุดหยุดและล้มลงก่อนถึงเป้าหมาย ดังนั้น ผู้วิ่งทุกคนจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงผู้วิ่งคนอื่นและคำนึงถึงปลายทางเดียวกันด้วย ที่สำคัญคือต้องอาศัยความสามัคคีของผู้วิ่งที่จะก้าวไปสู่ทิศทางเดียวกันอย่างสอดคล้อง ทั้งนี้ ก็เพื่อไม่ให้ประเทศไทยต้องตกขบวนรถไฟนั่นเอง
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย