​สินเชื่อ: อุปสรรคในภาคส่งออกที่มองไม่เห็น

​นายทศพล อภัยทาน
ดร.ดวงดาว มหากิจศิริ
ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์

ภาคส่งออกเป็นเครื่องยนต์หลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาอย่างยาวนาน เครื่องยนต์ตัวนี้ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก ฟื้นคืนจากวิกฤตต่างๆ ได้หลายครั้ง ทว่าในระยะหลังกลับอ่อนแรงลงอย่างน่าประหลาดใจ ดังจะเห็นได้จากมูลค่าการส่งออกที่ติดลบต่อเนื่องหลายเดือน แน่นอนว่ามีสารพัดปัญหาที่ทำให้สภาวะการส่งออกของไทยเป็นเช่นนี้ ปัจจัยหลักๆ ที่มักถูกกล่าวถึง ได้แก่ เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบาง ทำให้มีความต้องการบริโภคต่ำ การที่เทคโนโลยีการผลิตของไทยล้าหลัง ผลิตสินค้าที่ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด หรือกระทั่งอัตราแลกเปลี่ยนก็เป็นหัวข้อที่ถูกหยิบยกขึ้นมาบ่อยครั้ง คำถามสำคัญคือ มีปัจจัยอื่นอีกหรือไม่ที่เป็นตัวฉุดรั้งภาคส่งออกของไทย?

คำตอบของคำถามดังกล่าว อาจซ่อนอยู่ในเหตุการณ์ที่ผ่านไปไม่นานนี้เอง หากย้อนกลับไปพิจารณาข้อเท็จจริงในช่วงวิกฤตการเงินโลกระหว่างปี 2008 ถึง 2009 การพังทลายของภาคการเงินส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศมีการหดตัวรุนแรงยิ่งกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลกเสียอีก ซึ่งสะท้อนว่าการส่งออกบางส่วนไม่เกิดขึ้นแม้ว่าอุปสงค์จะยังคงมีอยู่ นักเศรษฐศาสตร์จึงให้ความสนใจกับบทบาทของการเงินในบริบทของการค้าระหว่างประเทศ เมื่อมองผ่านกรอบการวิเคราะห์เกี่ยวกับข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการและงานศึกษาระดับจุลภาคในภาคการค้าระหว่างประเทศ มีความเป็นไปได้ที่อุปสรรคจากการเข้าถึงสินเชื่อจะทำให้ผู้ประกอบการสูญเสียโอกาสในการส่งออกแม้จะมีความพร้อมในทุกด้านก็ตาม

ในกรณีของไทย คณะผู้เขียนได้บูรณาการข้อมูลภาครัฐที่มีความละเอียดสูงจากแหล่งต่าง ๆ ได้แก่ ข้อมูลการส่งออก/นำเข้าของกรมศุลกากร ข้อมูลบริษัทจดทะเบียนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และข้อมูลสินเชื่อของธนาคารแห่งประเทศไทย ทาการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสินเชื่อที่ผู้ส่งออกได้รับและมูลค่าการส่งออก พบว่าในภาพรวม เมื่อตัดปัจจัยความแตกต่างระหว่างผู้ส่งออกแต่ละราย และความแตกต่างด้านอุปสงค์อันเนื่องมาจากสินค้า ตลาดและช่วงเวลาที่ส่งออก การขยายตัวของสินเชื่อของผู้ส่งออกแต่ละรายเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะสินเชื่อระยะสั้น นอกจากนี้ สินเชื่อไม่เพียงมีผลต่อการขยายตัวในเชิงมูลค่าเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อการเพิ่มสินค้าใหม่และเปิดตลาดใหม่ของผู้ส่งออกเดิม และเพิ่มโอกาสในการเข้าสู่สนามส่งออกของผู้ประกอบการรายใหม่อีกด้วย

จากความได้เปรียบของการผนวกรวมข้อมูลจากหลายแหล่ง ทำให้การวิเคราะห์มีความลึกและครอบคลุมยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น เราสามารถจำแนกผู้ส่งออกเป็นรายอุตสาหกรรมเพื่อเปรียบเทียบผลระหว่างอุตสาหกรรมได้ ผลการศึกษาในภาพแกนนอนแสดงถึงระดับความอ่อนไหวของการส่งออกต่อสินเชื่อระหว่างปี 2013-2015

แกนตั้งคือปริมาณสินเชื่อเฉลี่ยต่อรายในปี 2015 ของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนั้น ๆ และขนาดของวงกลมแทนจำนวนผู้ประกอบการ วงกลมที่มีสีเข้มคืออุตสาหกรรมที่สินเชื่อส่งผลอย่างมีนัยสำคัญ จะเห็นได้ว่า สินเชื่อส่งผลต่อผู้ส่งออกในแต่ละอุตสาหกรรมแตกต่างกัน อุตสาหกรรมที่อ่อนไหวต่อสินเชื่อสูงและใช้สินเชื่อสูงคือกลุ่ม “เครื่องดื่ม” อุตสาหกรรมที่อ่อนไหวต่อสินเชื่อสูงแต่ยังได้รับสินเชื่อที่ไม่สูงมากนัก ได้แก่ “ยานยนต์” “เครื่องใช้ไฟฟ้า” “วัสดุก่อสร้าง” และ “ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก” อุตสาหกรรมเหล่านี้หากได้รับสินเชื่อที่เหมาะสมก็มีแนวโน้มที่จะส่งออกได้มากขึ้นอย่างชัดเจน และเมื่อดูจากจานวนผู้ประกอบการที่มีอยู่ จัดว่าเป็นกลุ่มใหญ่ที่น่าจะสร้างโอกาสในการส่งออกได้อีกมาก ในทางกลับกันอุตสาหกรรมในกลุ่ม “คอมพิวเตอร์” “อาหาร” และ “สิ่งทอ” มีค่าความอ่อนไหวเป็นลบ ซึ่งหมายถึงว่า แม้จะมีสินเชื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมก็ไม่สามารถสร้างการเติบโตของการส่งออกได้ ซึ่งสะท้อนว่าอาจเป็นอุตสาหกรรมที่กาลังประสบปัญหาเชิงโครงสร้างหรือเกิดความไม่มีประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากร ยิ่งเมื่อมองจากขนาดของอุตสาหกรรมในแง่ของจานวนผู้ประกอบการ นับว่าเป็นปัญหาที่ท้าทายยิ่งของประเทศ


แล้วเราจะส่งเสริมการส่งออกผ่านมิติของการเงินได้อย่างไร? ผลการศึกษายังมีแง่มุมอื่น ๆ อีกมาก ที่ทำให้ความสำคัญของสินเชื่อแตกต่างกันไปในแต่และราย เช่น ขนาดของผู้ส่งออก รูปแบบการขนส่ง ความสัมพันธ์กับคู่ค้า ฯลฯ องค์ความรู้ที่ได้จาเป็นอย่างยิ่งในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของการเงินที่ส่งผลต่อการส่งออก นำไปสู่การออกแบบนโยบายที่ลดทอนข้อจำกัดด้านสินเชื่อเพื่อช่วยขับเคลื่อนภาคส่งออกไทยได้อีกครั้ง คณะผู้เขียนขอเชิญชวนเข้ารับฟังการนาเสนอผลงานวิจัยฉบับเต็มเรื่อง “บทบาทของการเงินต่อการค้าระหว่างประเทศในมุมมองจุลภาค” ได้ในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย ประจาปี 2559 ในหัวข้อ “มิติใหม่ของนโยบายเศรษฐกิจในยุคแห่งข้อมูล” วันที่ 15-16 กันยายน 2559 ณ โรงแรม Centara Grand at Central World
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย