ดร.รุ่งพร เริงพิทยา
นางสาวณัคนางค์ กุลนาถศิริ
ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค
อัตราเงินเฟ้อโลกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาปรับลดลงอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับต่ำไปอีกระยะหนึ่ง โดยจากการประเมินของ IMF คาดว่า อัตราเงินเฟ้อโลกจะลดลงจากร้อยละ 6.3 ในปี 2008 เหลือร้อยละ 3.6 ในปีนี้ และเหลือร้อยละ 3.4 ในปี 2024 ทั้งนี้ พลวัตเงินเฟ้อที่เปลี่ยนไปมีสาเหตุมาจากทั้งปัจจัยเชิงโครงสร้าง (structural factors) ที่มักส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อในระยะยาว และปัจจัยเชิงวัฏจักร (cyclical factors) ที่จะกระทบอัตราเงินเฟ้อในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง รวมถึงปัจจัยด้านนโยบายของรัฐ (policy factors) ในแต่ละประเทศ
ปัจจัยเชิงโครงสร้างที่กดดันให้อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศปรับลดลงนั้นมี 6 ปัจจัยหลัก ๆ ได้แก่ (1) กระแสโลกาภิวัฒน์ (globalization) ทำให้อัตราเงินเฟ้อโลกที่ปรับลดลงมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อในประเทศมากขึ้นผ่านความเชื่อมโยงระหว่างประเทศที่สูงขึ้นโดยเฉพาะด้านการค้า ก่อให้เกิดการแข่งขันด้านราคาและการเข้าถึงต้นทุนสินค้าที่ถูกกว่าผ่านห่วงโซ่การผลิต (global value chain-GVC) (2) การขยายตัวของ E-commerce ทำให้ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบราคาได้สะดวกขึ้น เกิดการแข่งขันด้านราคา ส่งผลให้ผู้ขายไม่สามารถตั้งราคาได้สูงเช่นในอดีต (3) ราคาน้ำมันที่ปรับลดลง จากเทคโนโลยีการผลิตน้ำมันด้วยการขุดเจาะชั้นหินดินดาน (shale oil)ซึ่งส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบในตลาดโลกมีเพิ่มมากขึ้น ราคาน้ำมันจึงปรับตัวลดลง (4)ต้นทุนการผลิตและค่าแรงที่ถูกลง จากการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่มีการนำเครื่องจักรมาทดแทนแรงงานคน (automation) เพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการแรงงานในภาคการผลิตมีน้อยลง รวมถึงแนวโน้มค่าแรงที่ปรับลดลงจากหลายปัจจัย เช่น การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในภาคบริการซึ่งมีผลิตภาพและค่าแรงที่ต่ำกว่าภาคการผลิตโดยเปรียบเทียบ อำนาจการต่อรองค่าแรงของสหภาพแรงงานที่ลดลง ขณะที่บางประเทศมีจำนวนแรงงานเพิ่มขึ้นจากแรงงานสูงอายุและผู้อพยพ (5) การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (aging society) ที่ส่งผลกระทบผ่านพฤติกรรมการบริโภคและการใช้จ่ายที่น้อยลง แต่มีการออมมากขึ้น และ (6) บทบาทที่มากขึ้นของการคาดการณ์เงินเฟ้อ (inflation expectation) ที่อยู่ในระดับต่ำต่ออัตราเงินเฟ้อปัจจุบัน อันจะส่งผลต่อการกำหนดราคาและการเรียกร้องค่าแรงในระยะข้างหน้า
ปัจจัยเชิงวัฏจักรที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อลดต่ำลงมี 2 ปัจจัยสำคัญ คือ (1) การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง ส่งผลให้อุปสงค์ปรับลดลงและกดดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาพลังงาน (2) การแข็งค่าของสกุลเงินในประเทศ ทำให้ต้นทุนการนำเข้าลดลง นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายภาครัฐในบางประเทศยังเป็นปัจจัยกดดันให้อัตราเงินเฟ้อต่ำอีกด้วย เช่น การอุดหนุนราคาพลังงาน การกำหนดเพดานราคาสินค้า รวมถึงการยกเว้นภาษีนำเข้าหรือเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำสำหรับสินค้าบางประเภท
จากการที่อัตราเงินเฟ้อของหลายประเทศมีแนวโน้มปรับลดลงและอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ธนาคารกลางต่างประเทศบางแห่งจึงได้เริ่มทบทวนเป้าหมายเงินเฟ้อที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อ (inflation target) ที่เหมาะสมกับสภาวะและโครงสร้างเศรษฐกิจการเงินของประเทศนั้น ๆ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ส่งผลต่อพลวัตของเงินเฟ้อ เนื่องจากการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อที่มีความเหมาะสมจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อให้อยู่ในระดับที่ไม่สูงหรือต่ำจนเกินไป (anchor inflation expectation)และสามารถสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน รวมถึงป้องกันการเกิดความไม่สมดุลในระบบการเงิน (financial imbalance) โดยหากมีการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อที่สูงเกินไปเทียบกับเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อลดลงและอาจมีการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายยาวนานขึ้น ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำทำให้เกิดพฤติกรรมการก่อหนี้ผ่านต้นทุนการกู้ยืมที่ถูกลง การแสวงหาผลตอบแทน (search for yield) ที่สูงขึ้นท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและการประเมินความเสี่ยงของการลงทุนที่ต่ำเกินจริง (underpricing of risks) อันจะส่งผลต่อเสถียรภาพระบบการเงิน (financial stability) ได้ ขณะที่การกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อที่ต่ำเกินไปอาจทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะยาวปรับตัวลดลงตามไปด้วย ส่งผลให้ความสามารถในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมในช่วงที่จำเป็น (policy space) มีน้อยลงจากการที่ธนาคารกลางมักจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนกระทั่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าศูนย์ (zero lower bound) ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการออมของประชาชนได้
ในระยะหลัง ธนาคารกลางบางแห่งจึงได้มีการปรับลดหรือทบทวนเป้าหมายเงินเฟ้อเพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มเงินเฟ้อที่ต่ำลง โดยในปี 2016 ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (Bank of Korea) ปรับลดเป้าหมายเงินเฟ้อจากร้อยละ 2.5-3.5 เป็นร้อยละ 2 จากศักยภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ลดลง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและการแข่งขันด้านราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นจากทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงเป็นระดับที่สอดคล้องกับประมาณการเงินเฟ้อในระยะปานกลาง ขณะที่ธนาคารกลางนอร์เวย์ (Norges Bank) ปรับลดเป้าหมายเงินเฟ้อในปี 2018 จากร้อยละ 2.5 เป็นร้อยละ 2 จากการที่ก่อนหน้านี้ได้กำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อที่สูงเพื่อบรรเทาผลกระทบของการแข็งค่าของสกุลเงินโครนจากการส่งออกน้ำมัน ซึ่งในระยะหลังไม่ได้มีแรงกดดันค่าเงินในลักษณะดังกล่าวแล้ว จึงพิจารณาปรับเป้าเงินเฟ้อลง ขณะเดียวกันธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank) เองก็กำลังเริ่มทบทวนเป้าหมายเงินเฟ้อด้วยเช่นกัน
การกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อให้สอดคล้องกับโครงสร้างเศรษฐกิจ การเงิน และพลวัตของเงินเฟ้อที่เปลี่ยนแปลงไปจึงเป็นประเด็นที่ธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ให้ความสำคัญ เพื่อให้สามารถสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย