​นโยบายเพื่อรองรับสังคมสูงวัย เน้นแค่ผู้สูงอายุยังไม่พอ

​ดร. จารีย์ ปิ่นทอง

มาตรการรองรับสังคมผู้สูงอายุที่ ครม. มีมติเห็นชอบในเดือนก่อน แสดงให้เห็นว่ารัฐบาล ตระหนักถึงความสำคัญของการรับมือการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วของไทย อย่างไรก็ตาม มาตรการส่วนใหญ่ตอนนี้เน้นการช่วยเหลือผู้สูงอายุเป็นหลัก และยังไม่เพียงพอที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไปในระยะยาว

การศึกษาจากงานสัมมนาวิชาการของธนาคารแห่งประเทศไทยประจำปี 2558 โดย ฐานิดา อารย เวชกิจ และคณะ พบว่าสัดส่วนของผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจะส่งผลด้านลบต่อการเติบโตของ เศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง ดังนั้น การรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า จึงควรพิจารณานโยบายเพื่อพัฒนาคนวัยทำงานด้วย โดยเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเพื่อยกระดับแรงงานและศักยภาพของเศรษฐกิจไทย

หากไม่มีนโยบายรองรับใดๆ รายได้เฉลี่ยของคนไทยและประสิทธิภาพการผลิตจะลดลง ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของคนไทยจะมีปัญหามากขึ้น เมื่อคนวัยทำงานมีสัดส่วนน้อยลง จำนวนแรงงานที่เป็นปัจจัยการผลิตกำลังทยอยลดลง และส่งผลให้ค่าจ้างแรงงานสูงขึ้น แม้แรงงานไม่ได้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด นายจ้างบางรายคงต้องปรับตัวลดขนาดกิจการ หรือเปลี่ยนไปทำกิจการที่เป็นการจ้างงานตนเอง ผลการศึกษาพบว่า รายได้เฉลี่ยของคนไทยอาจลดลงมากถึงร้อยละ 30 ในอีก 30 ปีข้างหน้า ขณะที่ประสิทธิภาพการทำงานจะลดลง และความเหลื่อมล้ำของรายได้จะเพิ่มขึ้น ทำให้ประเทศไทยยังติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง และกลายเป็นประเทศแก่ก่อนรวย

การสร้างสถานการณ์สมมติจากแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ช่วยให้เข้าใจได้ว่า นโยบายใดจะช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัยได้บ้าง ดังต่อไปนี้

1. การขยายอายุการทำงานช่วยเพิ่มรายได้เฉลี่ยของคนไทยได้บ้าง แต่ไม่มากนัก และไม่ สมควรขยายอายุการทำของทุกอาชีพ ในสภาพความเป็นจริงคนไทยในปัจจุบันมีสุขภาพดี และอายุยืนกว่าในอดีต ทำให้มีแนวคิดที่จะขยายอายุการทำงานเพื่อช่วยเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตาม การขยายอายุการทำงานเป็นทางเลือกหนึ่งในภาวะที่ปัญหาขาดแคลนแรงงานรุนแรงมากขึ้น แต่ไม่ควรใช้กับทุกสาขาอาชีพ โดยเฉพาะอาชีพที่ใช้พละกำลังหรืออาศัยความแข็งแรงของร่างกายในการทำงาน การขยายอายุการทำงานของอาชีพเหล่านี้จะทำให้ประสิทธิภาพโดยรวมลดลงอีกด้วย ซึ่งต่างจากผู้สูงอายุที่ทำงานวิชาการหรือเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ควรได้รับการพิจารณาให้ขยายระยะเวลาเกษียณอายุ แล้วแต่กรณีตามความเหมาะสม เนื่องจากบุคคลเหล่านี้ยังเป็นทรัพยากรที่สำคัญและยังสามารถสร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจของประเทศได้

อย่างไรก็ตาม การขยายอายุการทำงานจะไม่ช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ แม้อายุการทำงานที่ยาวขึ้นจะช่วยให้แรงงานมีรายได้เพิ่มเติม แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำจะยังมีอยู่ต่อเนื่อง เพราะรายได้เฉลี่ยของแรงงานโดยรวมเริ่มทยอยลดลงหลังอายุ 45 ปี ขณะที่แรงงานสูงอายุบางส่วน ฐานะดีและเป็นผู้ประกอบการธุรกิจของตนเอง การสนับสนุนให้ทุกคนทำงานนานขึ้นอาจซ้ำเติมช่องว่างทางรายได้ของแรงงานจากสองกลุ่มนี้ และทำให้ความเหลื่อมล้ำโดยรวมของประเทศสูงขึ้นด้วย

นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาวมาตรการรับมือกับผลกระทบจากสังคมสูงวัยโดยเน้นที่ผู้สูงอายุอย่างเดียวยังไม่พอ เนื่องจากผู้สูงอายุไม่ใช่กำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้น ประเทศไทยควรพิจารณานโยบายที่เน้นการพัฒนาประสิทธิภาพของคนวัยทำงานด้วย เพื่อยกระดับแรงงานและเศรษฐกิจไทย ตลอดจนเพิ่มความเท่าเทียมของรายได้ด้วย

2. นโยบายเพิ่มทักษะของคนทำงานให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมากขึ้น (specialization) หากทำควบคู่กับการสร้างระบบเครดิตให้สามารถเข้าถึงในวงเงินที่สูงขึ้นจะช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้าe
นโยบายเพิ่มทักษะของคนทำงานให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมากขึ้น ต้องสนับสนุนให้ นักเรียนได้เสริมความชำนาญในด้านใดด้านหนึ่ง เช่น พัฒนาทักษะการทำงาน (working skill) เพื่อเป็นลูกจ้างที่มีประสิทธิภาพและรายได้สูงขึ้น หรือพัฒนาทักษะด้านการบริหาร (management skill) เพื่อมุ่งเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ สำหรับคนที่อยู่ในตลาดแรงงานแล้วก็จำเป็นต้องพัฒนาทักษะและฝีมือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและจะได้ไม่ถูกออกจากงาน

การสร้างระบบเครดิตให้สามารถเข้าถึงในวงเงินที่สูงขึ้นจากหลักทรัพย์ค้าประกันเท่าเดิม ทำ ให้การกู้ยืมเงินเพื่อประกอบธุรกิจทำได้ง่ายขึ้น (1) สำหรับคนอายุน้อยที่เพิ่งเริ่มทำงาน นโยบายนี้จะช่วยลดข้อจำกัดในการกู้ยืมของผู้ประกอบการซึ่งมีหลักทรัพย์ในการค้ำประกันไม่มาก และช่วยให้เริ่มกิจการได้ง่ายขึ้น เช่น การทำธุรกิจ start-up นอกจากนี้ หากไม่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจคนเหล่านี้ยังสามารถกลับมาเป็นลูกจ้างได้ง่ายกว่า คนที่สูงอายุ (2) สำหรับคนทำงานวัยกลางคน ผลการศึกษาพบว่านโยบายนี้สามารถช่วยขยายธุรกิจ และเพิ่มรายได้ อย่างไรก็ตาม หากธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จ คนทำงานกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากจะกลับมาเป็นลูกจ้างได้ยากกว่า เพราะมีอายุมากแล้ว

อย่างไรก็ตาม นโยบายเพิ่มทักษะของคนทำงานให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมากขึ้น ต้องทำควบคู่ไปกับการสร้างระบบเครดิตให้สามารถเข้าถึงในวงเงินที่สูงขึ้น จึงจะช่วยเพิ่มผลผลิตต่อหัวได้มากกว่า 2 เท่า และลดความเหลื่อมล้ำไปพร้อมกัน ทั้งนี้ การสร้างระบบเครดิตฯ เพียงอย่างเดียวช่วยให้การจัดสรรทรัพยากรมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเงินในระบบถูกนำไปใช้ให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ไม่ได้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำของรายได้เพราะผู้ประกอบการรายเดิมสามารถใช้เงินทุนเพื่อขยายธุรกิจและเพิ่มรายได้ ในขณะที่ลูกจ้างก็ได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นแต่ผลประโยชน์เพิ่มขึ้นไม่เท่ากับผู้ประกอบการ ทั้งนี้ นโยบายที่เน้นการเพิ่มทักษะของคนทำงานให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางจะช่วยเสริมศักยภาพให้ลูกจ้าง ส่งผลให้รายได้สูงขึ้น และลดช่องว่างของรายได้ระหว่างกลุ่มลูกจ้างกับกลุ่มนายจ้างได้


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย