ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

อัตราการขยายตัวเฉลี่ยของเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอลงมาอย่างต่อเนื่อง เป็นประเด็นท้าทาย ที่น่าเป็นห่วงจากเดิมก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจไทยเคยโตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 7-8 ก็เริ่มชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 4-5 และล่าสุด หลังช่วงวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลก ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 2-3 อาจพูดได้ว่าศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (potential growth) ลดลงเรื่อย ๆ การเพิ่มสัดส่วนการลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จะเป็นแม่แรงสำคัญในการยกระดับ potential growth ของไทย แต่เป็นที่น่ากังวลใจว่า สัดส่วนการลงทุนของไทยในช่วงที่ผ่านมานั้น ยังไม่ฟื้นตัว ส่วนหนึ่งจากความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทยเองทำให้ศักยภาพของการเติบโตถูกจำกัดลง ในขณะเดียวกัน ภูมิคุ้มกันของระบบเศรษฐกิจแม้จะยังดีอยู่ ก็เริ่มมีความเปราะบางในบางด้าน โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้นตามลำดับ ดังนั้นการให้ความสำคัญกับการปรับตัวของโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ การปฏิรูประบบสถาบันภาครัฐ และการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากที่จะช่วยให้ประเทศกลับมาเติบโตอย่างยั่งยืนและทั่วถึง


เข้าโค้งการเปลี่ยนผ่าน : โอกาสท่ามกลางความท้าทาย

ในระยะกลางถึงยาวนั้น ประเทศไทยจะกลับมาเติบโตในระดับที่แข่งขันกับประเทศอื่นได้ จำเป็นต้องปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องของการปรับตัวด้านปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ได้แก่ แรงงาน ทรัพยากร หรือทุน หรือที่เรียกกันว่าด้านอุปทาน (supply side)

ทั้งนี้ หากมองไปในอนาคตข้อจำกัดทางด้านอุปทาน (supply constraints) จะมีมากขึ้นเรื่อย ๆไม่ว่าจะเป็น ด้านประชากร ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมวัยชราอย่างรวดเร็ว โดยได้เริ่มผ่านจุดที่ประชากรวัยแรงงานมีจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ก่อนที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกำลังจะมีขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 นอกจากนี้อีกเพียงประมาณ 10 ปีนับจากการเปิดการค้าเสรีในอาเซียน ประชากรของไทยจะเริ่มลดลงเป็นประเทศแรกในกลุ่มอาเซียนทางด้านทรัพยากร โดยเฉพาะแหล่งพลังงาน ประเทศไทยมีค่อนข้างจำกัด ยิ่งเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน จะเห็นว่า ประเทศไทยมีแหล่งพลังงานที่น้อยกว่ามาก ในขณะที่ ด้านการสะสมทุนของประเทศ ก็ยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งรวมถึงองค์ความรู้เทคโนโลยีต่าง ๆ ของไทย ที่จะช่วยยกระดับผลิตภาพของการผลิต (productivity) ก็ไม่มีการพัฒนาเท่าที่ควร

ดังนั้น การที่ประเทศไทยจะใช้ประโยชน์จากต้นทุนแรงงานราคาถูก ทรัพยากรและปัจจัยทุนเดิม ๆ เพื่อการขยายตัวอย่างในอดีตที่ผ่านมาคงจะเป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะถ้าประเทศไทยยังจะใช้แนวทางการพัฒนาในรูปแบบเดิม ๆ คงจะเห็นการขยายตัวของ GDP เฉลี่ยประมาณร้อยละ 3 ไปอีกใน 10 ปีข้างหน้า เทียบกับประเทศในภูมิภาคด้วยกันแล้ว ก็คงเรียกได้ว่า ประเทศไทยจะโตแบบตกรถไฟ ในขณะเดียวกัน หากพิจารณาไปพร้อมกับการที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอีกไม่นาน ก็อาจพูดง่าย ๆ ได้ว่า เป็นประเทศที่จะแก่ก่อนรวย เพราะยังไม่ทันที่ประเทศไทยจะก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง ก็กลายเป็นประเทศที่ประชากรเข้าสู่สังคมวัยชราแล้ว ยังไม่รวมถึงการที่ประเทศยังไม่ได้เตรียมการออมเพื่อชราภาพที่เพียงพอและทั่วถึงอย่างเป็นระบบ ซึ่งต่อไปจะทำให้เกิดปัญหา จนตอนแก่ อีกด้วย
อย่างไรก็ดี หากประเทศไทยปรับกลยุทธ์การพัฒนาให้เหมาะสม ภายใต้ข้อจำกัดเหล่านี้ โดยการปฏิรูปและปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจให้อิงการเติบโตที่มาจากการเพิ่ม productivity ควบคู่กับการพัฒนาอย่างทั่วถึง GDP อาจสามารถกลับมาโตได้เฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปีในอีก 10 ปีข้างหน้า


เราจะฉวยโอกาสท่ามกลางความท้าทายได้อย่างไร

เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเติบโตในอัตราดังกล่าวได้จริง คงต้องเริ่มทำการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญตั้งแต่วันนี้ โดยภาคเอกชนซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของระบบเศรษฐกิจจำเป็นต้องปรับตัวภายใต้ข้อจำกัดด้านแรงงานและทรัพยากรอื่นๆ ด้วยการขยายการผลิตและตลาดไปต่างประเทศ (move out) การเพิ่มผลผลิตที่มีมูลค่าเพิ่ม (moveup) ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศอย่างมีกลยุทธ  (move in) รวมไปถึงการเติบโตอย่างทั่วถึง (move down)

ทั้งนี้ ประเทศไทยควรฉวยโอกาสแรงหนุนจากกระแสแนวโน้มเศรษฐกิจและสังคมโลก (Megatrends) ที่จะช่วยให้เกิดการปรับตัวเชิงโครงสร้างระบบเศรษฐกิจดังกล่าว ใน 3 ด้านสำคัญ

แรงหนุนด้านแรก คือ การใช้โอกาสจากการเชื่อมโยงกับต่างประเทศ (Connectivity) โดยประเทศไทยควรใช้โอกาสจากการรวมตัวกันของกลุ่มประเทศอาเซียน หรือ AEC ให้สูงที่สุด ทั้งจากการเพิ่มการค้าและการลงทุนระหว่างกัน โดยในปัจจุบันการค้าการลงทุนระหว่างกันในภูมิภาค (AEC intra-regional trade) มีสัดส่วนที่ยังค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศอื่นเช่น NAFTA หรือ European Union นอกจากนี้ ยังควรเร่งเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานระหว่างกันเพื่อเตรียมความพร้อมเป็นฐานการผลิตที่เสริมกันเป็นห่วงโซ่การผลิต (supply chain) ในขณะเดียวกัน ยังเป็นโอกาสในการขยายตลาดไปสู่ AEC และภูมิภาคเอเชีย ซึ่งผู้บริโภคกำลังมีระดับรายได้สูงขึ้น
แรงหนุนด้านที่สอง คือ การใช้โอกาสจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (New Technology) อาทิ การสื่อสารและการทำธุรกรรมประเภทใหม่ ๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต และระบบออโตเมชั่น ซึ่งประเทศไทยสามารถใชโ้ อกาสจากเทคโนโลยเี หล่านี้ เพื่อสนับสนุนการปรับตัวของภาคการผลิตและบริการ เพื่อลดการพึ่งพาแรงงาน ลดต้นทุน ยกระดับมูลค่าเพิ่มของผลผลิต ขยายตลาดและการให้บริการที่ทั่วถึง รวมถึงเร่งผลักดันระบบเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากนี้ ประเทศไทยยังต้องลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนามากกว่านี้ เพราะจะเป็นปัจจัยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของไทยที่สำคัญ
แรงหนุนด้านที่สาม คือ การใช้โอกาสจากการพัฒนาเข้าสู่สังคมเมือง (Urbanization) ซึ่งจะมาพร้อมกับการสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ (Infrastructure) อาทิ การคมนาคม โทรคมนาคม โดยถือเป็นการลงทุนที่คุ้มต่อขนาดจากตัวเมืองที่จะใหญ่ขึ้น (economy of scale) ทั้งนี้ การลงทุนจำนวนสูงดังกล่าวจะเป็นโอกาสที่ภาครัฐจะเป็นแรงขับเคลื่อนการลงทุนที่สำคัญ โดยภาคเอกชนสามารถเร่งลงทุนตามสอดคล้องกันไปได้ ทั้งนี้ หากต้องการให้ประเทศสามารถขยายตัวได้ในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 5 สัดส่วนการลงทุนต่อ GDP ต้องเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 28 ถึง 30

ดังนั้น ภาคธุรกิจของไทยจึงควรต้องฉวยโอกาสจากแรงสนับสนุนที่มาพร้อมกับ Megatrends ทั้ง 3 ด้าน เพื่อให้เกิดการปรับตัวภายใต้ข้อจำกัดต่าง ๆ รวมถึง การยกระดับศักยภาพของตนเองและของประเทศโดยรวม

ทั้งนี้ การปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องอาศัยระบบสถาบันภาครัฐที่เข้มแข็ง (Strong institutions) ที่จะช่วยกำหนดกฎกติกาต่างๆ ร่วมด้วย เพื่อเอื้อให้การปรับตัวและจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างถูกที่ ถูกทาง อาทิ กระบวนการทางกฎหมาย การบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่งจะช่วยสร้างขอบเขตและแรงจูงใจที่ถูกต้องเหมาะสมสำหรับภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมและเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ระบบสถาบันภาครัฐของไทย ยังไม่ได้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว และกลับบิดเบือนให้เกิดการใช้ทรัพยากร ผิดที่ ผิดทางด้วยในบางครั้ง ซึ่งเกิดจากแรงต้านหลัก ๆ 3 ด้าน ได้แก่

แรงต้านที่หนึ่ง คอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการยกระดับศักยภาพประเทศเป็นอย่างมาก ส่งผลให้โครงการหลาย ๆ โครงการของภาครัฐล่าช้า หรือหยุดลงกลางคัน เป็นภาระความเสียหายต่อประเทศชาติ ดังนั้น เพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว ภาครัฐควรกำหนดบทบาทและกติกาให้ชัดเจน ซึ่งหมายถึงการมีผู้รับผิดชอบ (Accountability) มีเป้าที่ชัดเจนและวัดได้จริง ลดการใช้ดุลยพินิจ และที่สำคัญที่สุดคือ ต้องเพิ่มความโปร่งใสและเปิดเผยข้อมูล ตัวอย่างที่ดีที่ภาครัฐกำลังเริ่มนำมาใช้คือ สัญญาคุณธรรม (Integrity pact) ซึ่งเป็นกลไกป้องกันคอร์รัปชั่นในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐโดยมีการเปิดเผยข้อมูลในทุกขั้นตอนของโครงการ และเปิดให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการดำเนินงานของโครงการ เพื่อสร้างความโปร่งใสและปิดช่องโหว่ที่จะทำให้เกิดการทุจริต โดยกลไกดังกล่าวจะสัมฤทธิ์ผลได้ ต้องอาศัยทุกฝ่ายในการร่วมมือ
แรงต้านที่สอง ข้อจำกัดของระบบบริหารจัดการภาครัฐ โดยบทเรียนที่เห็นได้ชัด คือ กรณีของรัฐวิสาหกิจที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นตามลำดับในระบบเศรษฐกิจไทย หากการให้บริการพื้นฐานที่สำคัญของรัฐวิสาหกิจขาดคุณภาพประสิทธิภาพต่ำ ต้นทุนสูง ย่อมจะเป็นตัวถ่วงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวมไปด้วย ดังนั้น การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้สัมฤทธิ์ผล วางโครงสร้าง กลไก และกติกาที่เหมาะสม เพื่อเสริมสร้างให้รัฐวิสาหกิจมีความเข้มแข็ง ให้ทำในสิ่งที่ควรทำ ทำอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ และทำอย่างโปร่งใสและมีธรรมาภิบาล จึงเป็นสิ่งจำเป็น
แรงต้านที่สาม การบิดเบือนกลไกตลาดที่ก่อให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรผิดที่ ผิดทาง ซึ่งอาจเกิดจากการที่ภาครัฐอุดหนุนราคาในลักษณะที่ไม่เหมาะสม หรือกำหนดกฎเกณฑ์ที่จำกัดการแข่งขัน เช่น ก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างกิจการของรัฐและของเอกชน หรือการจำกัดการมีส่วนร่วมจากต่างประเทศในบางกิจการ ทั้งนี้ การแข่งขันเป็นกลไกสำคัญให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงต้องอาศัยภาครัฐในการเพิ่มบทบาทกำกับดูแลนโยบายที่ส่งเสริมผลิตภาพมากขึ้น และหากจำเป็นต้องแทรกแซงกลไกตลาด ก็ควรมีกลไกบริหารจัดการที่รัดกุมและโปร่งใส เลี่ยงการอุดหนุนราคาในลักษณะที่บิดเบือนตลาดสูง มีภาระการคลังสูงและใช้งบต่อหัวสูง

นอกจากนี้ เพื่อให้การเติบโตเป็นไปแบบไม่สะดุด จำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะการป้องกันการก่อหนี้เกินตัว โดยเฉพาะในส่วนของภาครัฐ และ ภาคประชาชน โดยการวางกรอบวินัยทางการเงินการคลัง เพื่อให้มีการดำเนินนโยบายแบบมีความรับผิดชอบ และไม่ก่อหนี้เกินตัว พร้อมๆ ไปกับการปฏิรูประบบประกันสังคมให้ยั่งยืน และผลักดันการออมชราภาพของแรงงานนอกระบบอย่างจริงจัง

ท้ายสุดนี้ ช่วงเวลานี้ เป็นโค้งสำคัญของประเทศไทย เราสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยภาคธุรกิจจำเป็นต้องรีบปรับตัวให้สอดคล้องกับกระแส Megatrends ซึ่งจะนำไปสู่การปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ในขณะที่ ภาครัฐต้องทำหน้าที่สนับสนุนและเอื้อให้เกิดการปรับตัวดังกล่าว โดยการปฏิรูประบบสถาบันภาครัฐให้เข้มแข็งขึ้น(strong institutions) เพื่อลดข้อจำกัดและแรงต้านต่าง ๆ และทุกภาคส่วนต้องร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันให้เข้มแข็งรองรับแรงเสียดทานได้ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเติบโตได้อย่าง
เต็มศักยภาพ ยั่งยืน และทั่วถึง

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย