​ดร.ฐิติมา ชูเชิด
ฝ่ายนโยบายการเงิน

เหตุการณ์เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องหลายปี โดยเฉพาะช่วงสิ้นปี 2562 ที่แข็งค่าใกล้ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็พูดถึงรับต้นปีใหม่นี้ ฝั่งผู้เสียประโยชน์ก็คงไม่ค่อยชอบ เช่น ธุรกิจส่งออกที่รายได้แปลงเป็นเงินบาทได้น้อยลง หรือนักท่องเที่ยวต่างชาติใช้จ่ายรูปเงินบาทได้น้อยลง แต่ฝั่งผู้ได้ประโยชน์คงชอบใจ เช่น ผู้นำเข้าหรือธุรกิจที่มีหนี้ต่างประเทศจ่ายถูกลง หรือคนไทยเที่ยวเมืองนอกแลกเงินบาทได้เรทดี ฝั่งนักวิชาการก็มองต่างมุมในการเสนอทางแก้ วันนี้จึงอยากชวนท่านผู้อ่านทำความเข้าใจสาเหตุของเงินบาทแข็งที่ผ่านมา และชวนคิดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวสองทางไม่อ่อนไม่แข็งเกินไปได้อย่างไร

อะไรทำให้เงินบาทแข็งมาหลายปี? เมื่อปลายปีที่แล้ว ผู้บริหารแบงก์ชาติให้สัมภาษณ์ว่า เงินบาทมีสัญญาณแข็งค่าเกินพื้นฐานเศรษฐกิจไทยไปมาก เป็นอาการที่กำลังบอกว่าประเทศไทยมีปัญหาอยู่ข้างใน เพราะสาเหตุหลักเกิดจากปัจจัยในประเทศเอง คือ

(1) ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูง ที่ผ่านมาไทยเราส่งออกได้เยอะกว่านำเข้า รายได้เงินตราต่างประเทศจึงไหลเข้าเยอะกว่าที่จ่ายออกไป ทำให้คนเอาเงินตราต่างประเทศมาขอแลกเป็นเงินบาทเยอะ เงินบาทจึงแพงขึ้น (แข็งค่าขึ้น) เรื่องนี้อาจฟังดูดีถ้าไม่ได้เกิดขึ้นเพราะประเทศไทยนำเข้าน้อยไป โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุนและเทคโนโลยีเพื่อไปผลิตหรือลงทุนในประเทศต่อ

(2) กลไกการผ่องถ่ายรายได้เงินตราต่างประเทศที่เหลือใช้ออกไปหาประโยชน์ในต่างประเทศยังไม่ดี หลายประเทศที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงเหมือนไทย เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ กลับไม่มีปัญหาค่าเงินแข็งให้กังวลมากนัก เพราะภาคธุรกิจ ภาครัฐ กองทุนเงินออมระยะยาว และประชาชนต้องการแลกเงินตราต่างประเทศส่วนเกินนี้ออกไปลงทุนในต่างประเทศ ทั้งที่เป็นการลงทุนผลิตสินค้าจ้างงานจริง และการลงทุนในตราสารทางการเงินต่างๆ

ด้านปัจจัยต่างประเทศ คือ กระแสเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาซื้อหลักทรัพย์ไทยเป็นบางช่วงและการคาดการณ์เงินบาทแข็งค่าของนักเก็งกำไร อาจกดดันให้เงินบาทแข็งค่าได้ในบางจังหวะ ขึ้นกับว่าอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดการเงินทั่วโลกน่าลงทุนกว่าหรือไม่ และนักลงทุนในตลาดการเงินโลกมองสินทรัพย์ไทยเป็นแหล่งพักเงินเพื่อหลบความเสี่ยงจากการลงทุนในโลกหรือไม่

หลายคนถามว่าทำไมแบงก์ชาติไม่ดูแลให้เงินบาทอ่อนลงอีก? ข้อนี้ผู้บริหารของแบงก์ชาติออกมาชี้แจงว่า แบงก์ชาติเองก็กังวลกับผลกระทบของเงินบาทแข็งต่อเศรษฐกิจไม่น้อย ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาได้เข้าไปซื้อเงินตราต่างประเทศที่เหลือใช้ในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนมากเกือบครึ่งนึงของขนาดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงเกือบ 180 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เงินสำรองระหว่างประเทศสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งช่วยชะลอเงินบาทแข็งค่าไปได้บ้าง และในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ก็ได้ออกมาตรการเฝ้าระวังเงินร้อนที่ไหลเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทและประกาศผ่อนคลายกฎเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงินครั้งใหญ่เพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกและลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทแข็ง หลังๆ มานี้การดูแลค่าเงินของธนาคารกลางต่างๆ อาจต้องคำนึงด้วยว่า บางประเทศใหญ่กำลังจับตาประเทศต่างๆ ที่เข้าแทรกแซงค่าเงินเพื่อให้ได้เปรียบทางการค้า ประกาศรายชื่อประเทศที่ต้องติดตามใกล้ชิด เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และสามารถตอบโต้ทางการค้าและการลงทุนกับประเทศคู่กรณีได้ทุกรูปแบบ ธนาคารกลางส่วนใหญ่จึงดูแลค่าเงินเท่าที่จำเป็นไม่ให้ผันผวนเร็วเกินไปจนระบบเศรษฐกิจปรับตัวตามไม่ทัน แต่ไม่ใช่ทำเพื่อหวังประโยชน์ทางการค้า

แล้วทุกคนในประเทศจะช่วยแก้โจทย์นี้ได้หรือไม่? การที่แบงก์ชาติทำหน้าที่ปราการด่านสุดท้ายเอาเงินบาทไปรับซื้อเงินตราต่างประเทศที่เหลือใช้จำนวนมากตามที่ว่ามาข้างต้น เป็นการแก้ที่ “ปลายเหตุ” และมีต้นทุนที่ต้องจัดการกับเงินบาทส่วนเกินที่เกิดขึ้นในระบบการเศรษฐกิจ เพื่อไม่ให้เงินบาทท่วมจนทำให้เกิดเงินเฟ้อรุนแรงและกระทบอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ถ้าทุกฝ่ายช่วยกันแก้ที่ “ต้นเหตุ” น่าจะเกิดประโยชน์โดยตรงและยั่งยืนกว่า ดังเช่น

1. การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง แก้โดยเพิ่มการนำเข้าสินค้าทุน ภาคเอกชนที่มีกำลังเงินนำเข้าเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ มาลงทุนต่อเพิ่มขึ้น ส่วนภาครัฐเร่งนำเข้าเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ และสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจที่อยากใช้โอกาสเงินบาทแข็งนำเข้าเครื่องจักรใหม่ เพื่อมาปรับกระบวนการผลิตให้ทันสมัย ลดต้นทุน หรือผลิตของคุณภาพดีขึ้นขายแพงขึ้นได้ รวมถึงการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ให้ผู้ส่งออกสามารถเก็บเงินรายได้ส่งออกไว้ในต่างประเทศเพื่อทำธุรกรรมในภายหลังได้ไม่จำกัดเวลาไม่ต้องรีบนำกลับมาแลกเป็นเงินบาท 2. กลไกการผ่องถ่ายเงินตราต่างประเทศส่วนเกินที่ยังทำงานได้ไม่ดี แก้โดยส่งเสริมให้ภาคเอกชนเก่งๆ ออกไปขยายกิจการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น และสนับสนุนให้สถาบันรับฝากเงินออมระยะยาว เช่น บริษัทประกันชีวิต กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมถึงประชาชนที่มีเงินออมเยอะเห็นประโยชน์ของการกระจายพอร์ตการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเพื่อหาโอกาสได้ผลตอบแทนที่สูงกว่า และ 3. กระแสเงินร้อนจากต่างชาติที่ไหลเข้ามาเก็งกำไรเป็นบางช่วงและการคาดการณ์เงินบาทแข็งค่าทางเดียว แก้โดยธนาคารกลางติดตามพฤติกรรมการเก็งกำไรค่าเงินใกล้ชิดและออกมาตรการจัดการได้เร็ว

แม้เร็วๆ นี้ เงินบาทจะอ่อนค่าขึ้นบ้างจากการปรับตัวหลังค่าเงินแข็งเกินปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไปเยอะและมีเหตุกังวลจากการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนาที่กระทบต่อเศรษฐกิจไทย แต่เงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าได้อีกเมื่อเหตุการณ์คลี่คลายเพราะสาเหตุหลักที่มาจากปัญหาภายในประเทศยังไม่ได้แก้ หากทุกฝ่ายช่วยกันแก้ที่ต้นเหตุ นอกจากจะช่วยเพิ่มการลงทุนยกระดับศักยภาพของประเทศขึ้นแล้ว ยังช่วยให้กระแสเงินตราต่างประเทศไหลเข้าไหลออกสมดุลขึ้น เงินบาทจะไม่เคลื่อนไหวทางเดียว จะไม่มีฝ่ายใดได้หรือเสียประโยชน์นานๆ ค่ะ


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย