นางสาวภัทรภรณ์ หิรัญวงศ์

ในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 ราคาน้ำมันดิบดูไบได้ปรับลดลงกว่า 40% มาอยู่ที่ระดับประมาณ 57 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรลในช่วงสิ้นปี ซึ่งนับว่าเป็นการปรับลดลงที่ค่อนข้างเร็วและแรง โดยเป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทานที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของตลาดน้ำมันที่ผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่ม OPEC มีบทบาทมากขึ้น ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันที่ชะลอตัวตามการขยายตัวอย่างช้าๆของเศรษฐกิจโลกเป็นปัจจัยรอง

ในอดีต ตลาดมักจะคาดหวังและเคยชินกับบทบาทของกลุ่ม OPEC (กลุ่มประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก) ในการเป็นผู้รักษาสมดุลของตลาด ผ่านการลดหรือเพิ่มการผลิตน้ำมัน เพื่อให้ราคาไม่ผันผวนจนเกินไปหรืออยู่ในระดับที่กลุ่ม OPEC จะได้ประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะบทบาทในการปรับลดการผลิตหากราคาน้ำมันปรับต่ำลงมาก แต่ในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กลุ่ม OPEC ประกาศคงปริมาณการผลิตไว้ที่ 30 ล้านบาร์เรลต่อวันซึ่งนับเป็นปัจจัยที่ซ้ำเติมให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงอีก

หลายท่านคงสงสัยว่า ทำไมกลุ่ม OPEC จึงไม่ปรับลดการผลิตเช่นในอดีตและปล่อยให้ราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำต่อไป ถ้าเราลองพิจารณาถึงเหตุผลที่เป็นไปได้ จะพบว่ากลุ่ม OPEC คงพิจารณาแล้วเห็นว่า ราคาที่ลดต่ำลงน่าจะสะท้อนปัจจัยพื้นฐานของตลาดจากกำลังการผลิตส่วนเกินที่เพิ่มมากขึ้น หากกลุ่ม OPEC ลดกำลังการผลิตลง ก็จะไม่ได้ช่วยให้ราคาปรับสูงขึ้นมากนัก เพราะผู้ผลิตนอกกลุ่ม OPEC ก็สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างต่อเนื่อง เหตุผลสำคัญอีกข้อหนึ่งคือ ราคาที่ต่ำลงจะช่วยลดการแข่งขันจากผู้ผลิตที่มีต้นทุนการผลิตสูงและลดแรงจูงใจในการลงทุนเพื่อเพิ่มการผลิต ซึ่งจะช่วยลดคู่แข่งของกลุ่ม OPEC ในอนาคต โดยคู่แข่งที่สำคัญได้แก่ สหรัฐอเมริกาที่ประสบความสำเร็จในพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) ซึ่งแหล่งผลิตส่วนใหญ่มีจุดคุ้มทุน (Break-even) ที่ประมาณ 60 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล ซึ่งสูงกว่าต้นทุนการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC ที่โดยรวมอยู่ที่ประมาณ 10 – 25 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรลเท่านั้น

ในระยะสั้น ราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างมากน่าจะส่งผลให้กำลังการผลิตน้ำมันของโลกมีแนวโน้มต่ำกว่าที่ตลาดเคยคาดอย่างมีนัยสำคัญทั้งจากการหยุดกิจการของผู้ผลิตน้ำมันที่มีต้นทุนการผลิตสูง โดยเฉพาะผู้ผลิตในกลุ่ม Shale oil ที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องจากภาระหนี้สินที่สูง และการปรับลดการลงทุนในแหล่งผลิตน้ำมันใหม่โดยเฉพาะในโครงการที่มีต้นทุนการลงทุนและจุดคุ้มทุนที่ค่อนข้างสูง ขณะที่ความต้องการน้ำมันจะค่อยๆปรับสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันที่ต่ำลงมาก ในช่วงที่ตลาดน้ำมันกำลังปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพใหม่ (New Normal) นี้ ราคายังมีแนวโน้มที่จะผันผวนต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไป เมื่ออุปทานส่วนเกินปรับลดลงตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นและกำลังการผลิตที่ลดลง ราคาน้ำมันน่าจะปรับเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2558

แม้ราคาน้ำมันอาจปรับสูงขึ้นในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าจากระดับในปัจจุบัน แต่มีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา โดยเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงด้านวัฏจักรและด้านโครงสร้างของตลาดน้ำมัน ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ตลาดน้ำมันอยู่ในช่วงวัฏจักรการลงทุน (Investment phase) อุปสงค์จากประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่การลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตใหม่ต้องใช้เวลานาน ส่งผลให้ตลาดปรับตัวผ่านการเพิ่มขึ้นของราคาเป็นสำคัญแต่ในปัจจุบัน ตลาดน้ำมันเข้าสู่ช่วงวัฏจักรการใช้ประโยชน์ (Exploitation Phase) หลังจากการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาทำให้อุปทานส่วนเกินมีมากขึ้น ส่งผลให้ในช่วงต่อไปทั้งอุปทานและราคาสามารถทำหน้าที่ร่วมกันในการตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้น ในด้านโครงสร้าง ผู้ผลิตนอกกลุ่ม OPEC จะมีบทบาทมากขึ้นในการตอบสนองความต้องการน้ำมันโลก ซึ่งจะทำให้อำนาจในการควบคุมราคาของกลุ่ม OPEC ลดลง นอกจากนี้ การปรับเพิ่มของอุปทานเพื่อตอบสนองต่อราคาที่สูงขึ้นสามารถทำได้รวดเร็วกว่าในอดีต โดยเฉพาะระยะเวลาในการเริ่มดำเนินการผลิต Shale Oil ที่สั้นจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดแรงกดดันด้านราคาจากความล่าช้าในการพัฒนาแหล่งน้ำมันใหม่เหมือนที่เกิดขึ้นในอดีต


นัยต่อเศรษฐกิจโลกและไทย

การลดลงของราคาน้ำมันโดยเป็นผลจากปัจจัยบวกด้านอุปทานเป็นสำคัญจะมีส่วนช่วยในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยส่งผลทางตรงผ่านช่องทางการค้าที่ดีขึ้นและผลทางอ้อมผ่านอัตราเงินเฟ้อและต้นทุนที่ปรับลดลงโดยประเทศที่มีการนำเข้าน้ำมันและมีความเข้มข้นของการใช้น้ำมันสูง (High Oil Intensity) จะเห็นผลบวกได้อย่างชัดเจนขณะที่ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันจะเสียประโยชน์จากรายรับที่ลดลงจากการส่งออกน้ำมัน ทำให้ดุลการค้า ฐานะทางการคลังรวมทั้งเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม ในภาพรวม ราคาน้ำมันที่ลดลงจะเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากกลุ่มประเทศที่นำเข้าน้ำมันดิบสุทธิซึ่งได้รับประโยชน์มีขนาดเศรษฐกิจคิดเป็นร้อยละ 75 ของเศรษฐกิจโลก สูงกว่ากลุ่มประเทศที่ส่งออกน้ำมันดิบสุทธิซึ่งเสียประโยชน์

สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิถึงร้อยละ 9.4 ของ GDP ในปี 2556 พบว่าเราได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันลดลงผ่านหลายช่องทาง ดังนี้ ช่องทางแรก ผ่านการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้นจากรายจ่ายด้านพลังงานที่ลดลงและกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น อีกทั้ง แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอลง จะเอื้อให้ผู้บริโภคมีเงินไปใช้จ่ายในด้านอื่นๆ เพิ่มขึ้น ช่องทางที่สองผ่านต้นทุนที่ลดลงของภาคธุรกิจ และจากการประเมินข้อมูลโครงสร้างการผลิต (Input Output Table) พบว่า การลดลงของราคาน้ำมันตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคมถึงกลางเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลงแล้วประมาณ 36% และราคาขายปลีกในประเทศปรับลดลงแล้ว 9% จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจลดลงร้อยละ 1.4 โดยเป็นผลโดยตรงของราคาน้ำมันที่ลดลงร้อยละ 0.5 และผลทางอ้อมผ่านต้นทุนวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่ลดลงตามราคาน้ำมันร้อยละ 0.9 และช่องทางที่สาม ผ่านดุลบัญชีเดินสะพัดที่ปรับดีขึ้น จากดุลการค้าผ่านการปรับดีขึ้นของอัตราการค้า (Terms of Trade) เป็นสำคัญ ขณะที่อานิสงค์ต่อดุลบริการในระยะสั้นยังค่อนข้างจำกัด จากภาวะเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของไทยที่มีแนวโน้มชะลอตัวและการปรับอัตราค่าโดยสารเครื่องบินจำเป็นต้องใช้เวลา แต่ในระยะยาว ดุลบริการน่าจะได้รับประโยชน์จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังไทยตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มากกว่าการเดินทางออกไปเที่ยวต่างประเทศของนักท่องเที่ยวไทย

แม้อัตราการลดลงของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศในช่วงที่ผ่านมาจะต่ำกว่าการลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก โดยเป็นผลจากฐานภาษีที่ลดทอนความผันผวนของราคาขายปลีก การชดเชยการอุดหนุนราคาที่ภาครัฐใช้ไปก่อนหน้าผ่านการลดภาษีสรรพสามิตและการติดลบของกองทุนน้ำมัน รวมทั้งการปรับขึ้นราคาขายปลีก LPG และ NGV ภายใต้นโยบายปฏิรูปโครงสร้างราคาพลังงาน ซึ่งทำให้ผลบวกของราคาน้ำมันโลกที่ลดลงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยลดทอนไปบ้างในระยะสั้น แต่ภาครัฐควรอาศัยโอกาสที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำดำเนินการปฏิรูปราคาพลังงานเช่นเดียวกับที่หลายประเทศในเอเชีย เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว เพื่อลดภาระในการอุดหนุนราคาของภาครัฐและปรับให้ราคาสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างประสิทธิภาพการใช้พลังงานและเป็นผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย