นายสุพริศร์ สุวรรณิก
ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค
เมื่อ 18 มิ.ย. ปีที่แล้ว ผู้เขียนยังจำได้ดีถึงปรากฏการณ์ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับวงการการเงินโลกเป็นอย่างมาก นั่นคือ การประกาศสร้างสกุลเงินดิจิทัล “ลิบร้า (Libra)” ของโซเชียลมีเดียอันดับ 1 อย่าง “เฟสบุ๊ค”ที่ร่วมกับหน่วยงานยักษ์ใหญ่ระดับโลกอื่น ๆ อีก 27 หน่วยงาน ภายใต้ชื่อ “สถาบันลิบร้า (Libra Association)” โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อเป็นสกุลเงินของโลก (global currency) และกำหนดออกใช้จริงภายในปี 2563 นี้ ทั้งนี้ ผู้เขียนได้ตั้งคำถามสำคัญในบทความ “Libra เงินสกุลใหม่ของโลก?” ไว้ว่า ลิบร้าจะสามารถบรรลุเป้าหมายความเป็น “เงิน” ได้ตามที่ตั้งใจหรือไม่?
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ซึ่งลิบร้ายังไม่ได้ออกใช้จริงแต่อย่างใด ลิบร้ายังคงล้มลุกคลุกคลานและถูกตั้งข้อสงสัยมากมายเกี่ยวกับรายละเอียดแผนดำเนินงานเพื่อให้เป็นเงินได้สำเร็จ ซึ่งดูจะ “ไม่ละเอียด” และ “ไม่ชัดเจน” เท่าที่ควร โดยเฉพาะในแง่ความปลอดภัยและการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ลิบร้า (ท่านผู้อ่านที่ติดตามข่าวของเฟสบุ๊คคงพอนึกออกว่า เฟสบุ๊คสูญเสียความน่าเชื่อถือในประเด็นนี้มากเพียงใด หลังกรณีอื้อฉาวที่เฟสบุ๊คปล่อยให้บริษัท Cambridge Analytica เข้าถึงข้อมูลผู้ใช้กว่า 87 ล้านบัญชีเพื่อประโยชน์ทางการหาเสียงในสหรัฐฯ) ไปจนถึงคุณสมบัติของการเป็น “stable coin” คือ การทำให้ลิบร้าเป็นคริปโทเคอร์เรนซีที่มีความผันผวนต่ำ โดยวิธีหนุนหลังด้วยทุนสำรองเต็มจำนวนและทุนสำรองนั้นจะเป็นเงินสกุลหลักและตราสารหนี้ระยะสั้นที่ออกโดยรัฐบาล ซึ่งกระบวนการต่าง ๆ ในทางปฏิบัติยังไม่มีความชัดเจน เช่น จะบริหารทุนสำรองได้ยั่งยืนเพียงใด นอกจากนี้ ยังเป็นที่สงสัยว่า การที่ลิบร้ามีเป้าหมายเป็นสกุลเงินของโลก แต่ออกและดำเนินการโดยบริษัทเอกชน ซึ่งมุ่งผลกำไรทางธุรกิจเป็นหลัก จะรับประกันความโปร่งใสและการมีธรรมาภิบาลได้มากน้อยเพียงใด รวมถึงจะสร้างผลกระทบต่อนโยบายการเงินของประเทศต่างๆ และต่อเสถียรภาพการเงินโลกอย่างไร
เมื่อมีข้อสงสัยมากมายและเฟสบุ๊คเองก็ไม่สามารถให้รายละเอียดที่ชัดเจนต่อสาธารณชน รวมถึงวุฒิสภาสหรัฐฯ ที่ผู้ก่อตั้งเฟสบุ๊คอย่างนายมาร์ค ซักเกอร์เบิกต้องไปแถลงรายละเอียดด้วยตนเอง ซึ่งกลับสร้างความคลางแคลงใจเพิ่มเติมมากขึ้นอีก จึงทำให้ลิบร้าได้รับแรงต้านทานมหาศาลจากภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแลในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ เอง ซึ่งเรียกร้องให้เฟสบุ๊คชะลอการออกใช้ลิบร้าไปก่อน
เคราะห์ซ้ำกรรมซัด…หน่วยงานพันธมิตรที่ร่วมเป็นหนึ่งใน 28 หน่วยงานตั้งแต่วันเปิดตัวลิบร้า กลับพากันถอนตัวออกไป นำโดยบริษัทบริการชำระเงินระดับโลกอย่าง Paypal ในช่วงเดือน ต.ค. ตบเท้าตามมาด้วยการถอนตัวของพันธมิตรสำคัญอย่าง Visa, Mastercard, eBay, Stripe และ Mercado Pago ทั้งนี้ นายมาร์ค ซักเกอร์เบิกก็ยังไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ว่าเพราะเหตุใดบริษัทเหล่านี้จึงถอนตัว แต่เป็นที่คาดการณ์กันอย่างกว้างขวางว่า เหตุผลส่วนหนึ่งของการ “สละเรือ” ย่อมเกิดจากแรงต้านมากมายของหน่วยงานรัฐหลายประเทศ อาทิ เยอรมนีและฝรั่งเศสที่แถลงจุดยืนชัดเจนเลยว่า จะคัดค้านและห้ามการใช้ลิบร้าเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนในสหภาพยุโรป
สำหรับประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐ ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ซึ่งมีแนวทางสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในโลกปัจจุบัน แต่เป็นไปอย่างระมัดระวังและรอบคอบ ได้ร่วมกันจัดตั้งคณะทำงานพิเศษเพื่อศึกษาและติดตามพัฒนาการของลิบร้าอย่างใกล้ชิด และในเบื้องต้นได้ให้ความรู้และคำแนะนำต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในความเสี่ยงที่มิจฉาชีพจะแอบอ้างหลอกลวงประชาชนให้ลงทุนในลิบร้า ทั้งที่ลิบร้ายังไม่ได้มีการใช้จริงแต่อย่างใด
ไม่ว่าภายในปีนี้ สถาบันลิบร้าหรือเฟสบุ๊ค จะสามารถทำให้ลิบร้าใช้ได้จริงตามที่ตั้งเป้าไว้ได้หรือไม่ (ท่าทีล่าสุดยังตั้งเป้าว่าจะทำให้ออกใช้ได้ภายในครึ่งปีแรกหรือสิ้นปี 2563) คำถามสำคัญเรื่องความเป็น “เงิน” ที่ผู้เขียนได้เคยตั้งไว้ จะได้รับคำตอบอย่างกระจ่างแจ้งก็ต่อเมื่อลิบร้ามีการออกใช้จริงในระยะหนึ่งแล้ว อย่างไรก็ตาม ทุกท่านคงเห็นแล้วว่า การเดินทางของลิบร้าเต็มไปด้วยขวากหนามตั้งแต่ยังไม่ออกจากจุดสตาร์ท ผู้เขียนไม่อยากนึกเลยครับว่า หากลิบร้าได้ออกสตาร์ทตามที่ได้ตั้งใจไว้แล้ว จะมีอุปสรรคอีกมากแค่ไหนที่รออยู่ แล้วลิบร้าจะมีชีวิตรอดต่อไปได้นานเพียงใด… ละครเรื่องนี้ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด อย่ากะพริบตาครับ!
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย