นางสาวกฤษณี พิสิฐศุภกุล
ไทยส่งออกน้ำยางข้นได้เป็นอันดับหนึ่งของโลกไปยังประเทศผู้ผลิตถุงมือยาง กล่าวได้ว่าเราตกอยู่ในสถานะประเทศที่ผลิตวัตถุดิบให้กับประเทศที่ผลิตผลิตภัณฑ์ยางพาราที่มีมูลค่าสูง ขณะเดียวกัน น้ำยางข้นซึ่งมีสัดส่วนการผลิตร้อยละ 20 ของยางทั้งหมด (Chart ประกอบ) ยังไม่สามารถพัฒนาไปเป็นอุตสาหกรรมปลายน้ำได้มากนัก ซึ่งไทยส่งออก น้ำยางข้นในสัดส่วนสูงคิดเป็นอันดับ 2 ของมูลค่าการส่งออกยางธรรมชาติทั้งหมด บทความนี้พยายามจะตอบคำถามที่ว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่ไทยจะหันมาสนใจอุตสาหกรรมถุงมือยาง เพื่อเป็นการต่อยอดจากอุตสาหกรรมน้ำยางข้นที่ไทยเรามีความได้เปรียบและชำนาญในการผลิต โดยการชี้ให้เห็นถึง ข้อจ้ากัดของไทย ทำให้ไม่สามารถก้าวข้ามการส่งออกสินค้าแปรรูปขั้นต้นให้เป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงได้ ปัจจัยสู่ความสำเร็จ (Key success factor) รวมทั้งข้อเสนอแนะแนวทางการยกระดับความสามารถในการแข่งขันผลิตภัณฑ์ยางของไทย
ไทยส่งออกน้ำยางข้นได้อันดับ 1 แต่มูลค่าเพิ่มต่ำ
ไทยส่งออกน้ำยางข้นไปยังตลาดโลกมีส่วนแบ่งการตลาดสูงถึงร้อยละ 73 โดยส่งออกไปยังประเทศผู้ใช้หลัก คือ มาเลเซียและจีน น้ำยางข้นไทยเป็นสินค้าที่ทำรายได้ดีเนื่องจากมีตลาดรองรับที่แน่นอน โดยเฉพาะมาเลเซียมีความต้องการใช้เพื่อผลิตถุงมือยางอย่างต่อเนื่อง และการส่งออกไปมาเลเซียทำได้ง่ายจากระยะทางที่ใกล้กัน ไทยจึงมีความได้เปรียบในเชิงแข่งขันทั้งด้านปริมาณการผลิต และที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ในการส่งออกส่งผลให้ประเทศอื่นแข่งขันได้ยาก
อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตของมูลค่าการส่งออกค่อนข้างต่ำ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการลดลงของราคายางเรื่อยมา และเป็นสินค้าที่อยู่ในขั้นอิ่มตัว ประกอบกับน้ำยางข้นยังเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ ควบคุมคุณภาพยาก เพราะน้ำยางสดของไทยรวบรวมจากเกษตรกรชาวสวนขนาดเล็กจำนวนมาก ทำให้ผู้ประกอบการส่งออกจะต้องให้ความสำคัญในการรักษาคุณภาพให้ตรงตามคุณสมบัติที่ผู้ใช้ต้องการ เพื่อให้สามารถอยู่ในอุตสาหกรรมได้ยาวนานอย่างเข้มแข็ง นอกจากนี้ จุดอ่อนสำคัญในอุตสาหกรรมน้ำยางข้น คือ ราคาส่งออกถูกกำหนดโดยผู้ซื้อต่างประเทศเป็นสำคัญ และอายุในการเก็บรักษาน้ำยางข้นค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับยางแผ่นรมควันหรือยางแท่ง ผู้ประกอบการจำเป็นต้องระบายสต็อกสม่ำเสมอ ทำให้บางช่วงต้องขายในราคาที่ต่ำตามกลไกราคาตลาดโลก
ดังนั้น การจะหลุดพ้นจากภาวะดังกล่าวจำเป็นต้องมองหาอุตสาหกรรมอื่นที่สามารถต่อยอดจากน้ำยางข้นได้ ทั้งเพื่อส่งเสริมให้การผลิตสินค้าน้ำยางข้นมีตลาดรองรับในประเทศ และเพื่อพัฒนาเป็นสินค้าในอุตสาหกรรมปลายน้ำส่งออกได้ในมูลค่าสูงขึ้น นั่นคือ อุตสาหกรรมถุงมือยางธรรมชาติ เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำยางเป็นวัตถุดิบในการผลิตสูงถึงร้อยละ 80-90 โดยน้ำหนัก และการทดแทนด้วยยางสังเคราะห์ไม่สามารถทำได้ทั้งหมด โดยเฉพาะการผลิตถุงมือแพทย์ผ่าตัด นอกจากนี้ ยังมีโอกาสเติบโตจากความต้องการใช้ถุงมือยางโลกที่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ยราวร้อยละ 5-10 ต่อปี หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 1,000 ล้านคู่ต่อปี จากปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น การตระหนักรู้ถึงการดูแลสุขภาพ ภัยคุกคามจากเชื้อโรคหรือโรคระบาด และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
กรณีศึกษาของมาเลเซีย: ผู้นำการผลิตและส่งออกถุงมือยางจากจุดแข็งด้านการวิจัย และพัฒนา
มาเลเซียเป็นผู้นำในการผลิตอุตสาหกรรมถุงมือยางและส่งออกในตลาดโลก มีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 52 โดยไทยมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 2 แต่มูลค่าส่งออกถุงมือยางของมาเลเซียสูงกว่าไทยถึงประมาณ 3 เท่า ถุงมือยางไทยเป็นสินค้าที่มีส่วนแบ่งตลาดและอัตราการเติบโตของมูลค่าการส่งออกต่ำ เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) จึงมีต้นทุนการผลิตสูงกว่ามาเลเซีย โดยเฉพาะสัดส่วนต้นทุนแรงงานและปัญหาเครื่องจักรที่ล้ำสมัย ซึ่งการเปลี่ยนเครื่องจักรต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง ทำให้เป็นอุปสรรคและข้อจำกัดสำคัญในการลงทุนของผู้ประกอบการ ดังนั้นอุตสาหกรรมถุงมือยางไทยจึงไม่สามารถแข่งขันกับมาเลเซียได้
ยิ่งไปกว่านั้น จุดแข็งสำคัญที่ทำให้มาเลเซียก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกถุงมือยางรายใหญ่ของโลก คือ การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้มีเทคโนโลยีการผลิตที่รวดเร็วและทันสมัย กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพสูง มาเลเซียสามารถผลิตถุงมือยางได้มากกว่าไทยประมาณ 4 เท่า ผู้ผลิตถุงมือยางของมาเลเซียกว่าร้อยละ 50 ได้รับมาตรฐาน SMG (Standard Malaysian Gloves) ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานที่สำนักงานอาหารและยำของสหรัฐฯ (U.S. Food and Drug Administration: USFDA) กำหนด โดยเฉพาะถุงมือทางการแพทย์มุ่งให้อยู่ในระดับพรีเมียมที่มีคุณภาพและราคาสูง ทำให้ถุงมือยางของมาเลเซียได้รับการยอมรับจากประเทศคู่ค้ำสำคัญ ซึ่งจุดแข็งดังกล่าวเกิดจากรัฐบาลมาเลเซียมีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมถุงมือยางอย่างจริงจังและยาวนาน ในรูปแบบการจัดตั้ง Malaysian Rubber Export Council ให้การสนับสนุนด้านเทคนิค การวิจัยและพัฒนา การออกแบบและรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ การช่วยเหลือผู้ส่งออกในการรุกตลาดส่งออกใหม่และขยายตลาดส่งออกเดิม รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี อาทิ การยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบ และภาษีนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตถุงมือยาง ส่งผลให้ผู้ส่งออกถุงมือยางของมาเลเซียสามารถจำหน่ายถุงมือยางผ่านตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่ของประเทศคู่ค้ำได้โดยตรง และได้เปรียบเชิงแข่งขันในตลาดโลก
ปัจจัยสู่ความสำเร็จ คือ นโยบายภาครัฐที่ชัดเจนและจริงจัง
จากกรณีศึกษาความสำเร็จของอุตสาหกรรมถุงมือยางของมาเลเซีย จะเห็นว่าปัจจัยสู่ความสำเร็จที่สำคัญที่สุด คือ การสนับสนุนจากภาครัฐ เริ่มตั้งแต่การมีนโยบายที่ชัดเจนและจริงจังให้อุตสาหกรรมปลายน้ำเป็นอุตสาหกรรมหลักที่จะสร้างรายได้ให้กับประเทศในระยะยาว ขณะที่มองย้อนกลับมายังกรณีศึกษาของไทย อุตสาหกรรมถุงมือยางไทยยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐน้อย โดยเฉพาะด้านการสร้างความเข้มแข็งให้กับยางพาราทั้งระบบ ที่ผ่านมานั้นยังขาดองค์กรที่รับผิดชอบการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางอย่างมีเอกภาพ การสนับสนุนยังมีอยู่บ้างแต่กระจัดกระจายตามหน่วยงานที่แยกส่วนกันทำให้ประสิทธิภาพ ในการผลิตต่ำ ขาดการวิจัยและพัฒนาเพื่อลดต้นทุนการผลิตหรือปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง
โอกาสของถุงมือยางไทยควรเร่งมุ่งไปที่การสร้างความแตกต่าง
แม้ว่าการได้รับการสนับสนุนที่ถูกต้องและจริงจังจากภาครัฐมีความสำคัญ อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของการพัฒนาอุตสาหกรรมถุงมือยางย่อมขึ้นกับผู้ประกอบการด้วย หากพิจารณาถึงความ ได้เปรียบด้านวัตถุดิบ โอกาสจากความต้องการใช้ถุงมือยางในตลาดโลก และคุณสมบัติของยางธรรมชำติที่ยางสังเคราะห์ไม่สามารถทดแทนได้ทั้งหมด จึงยังมีความเป็นไปได้ที่ไทยจะให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมถุงมือยางอย่างจริงจัง ทั้งการให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง การสนับสนุนการลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนเป็นเครื่องจักรที่ทันสมัยมีประสิทธิภาพการผลิตสูง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องแข่งขันกับมาเลเซียซึ่งเน้นการผลิตถุงมือยางแบบ Mass products แต่สามารถเพิ่มช่องทางการทำตลาดอื่น ได้แก่ การทำการตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche market) การผลิตสินค้าถุงมือยางที่แตกต่าง (Differentiated product) เช่น มีสี มีกลิ่นอ่อนโยน ลดกลิ่นยางธรรมชำติ เป็นต้น ซึ่งหากสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมถุงมือยางไทยให้เติบโตได้จริง มีโอกาสที่วันหนึ่ง ถุงมือยางไทยจะไต่ระดับเทียบเคียงกับมาเลเซีย เพื่อให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำรายได้จากการส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ได้