​ความสำคัญของห่วงโซ่อุปทานของไทยต่อเศรษฐกิจโลก (ตอนที่ 1)

นางสาวพฤศญา จิตะพันธ์กุล

มหาอุทกภัยที่เพิ่งเกิดขึ้นในปี 54 ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของประเทศไทยเพียงประเทศเดียว แต่ยังส่งผลกระทบถึงภาคการผลิตในต่างประเทศด้วย ทั้งในเอเชีย อเมริกา ไปจนถึงแอฟริกาใต้ สะท้อนว่าไทยเป็นฟันเฟืองสำคัญตัวหนึ่งที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมต่างๆ ของโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (Hard Disk Drive: HDD) และยานยนต์ซึ่งไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ โดยมีบริษัทผู้ผลิตสินค้าและผู้ผลิตชิ้นส่วน (Supplier) ตั้งโรงงานอยู่เป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะในจังหวัดอยุธยาและปทุมธานี

ในยามที่ไม่มีภัยพิบัติ การตั้งโรงงานในบริเวณใกล้เคียงกันมีข้อดีคือช่วยให้การขนส่งและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทำได้สะดวกขึ้น บริษัทไม่จำเป็นต้องผลิตสินค้ากักตุนไว้มากนัก ผลิตเท่าที่ลูกค้าสั่งซื้อเพื่อลดต้นทุนการเก็บรักษาสินค้าและวัตถุดิบ แต่ข้อเสียก็คือเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นในบริเวณดังกล่าว โรงงานประกอบสินค้าและ Supplier หลายแห่งต้องหยุดผลิตอย่างกะทันหัน และส่งผลต่อเนื่องให้โรงงานอื่นๆ ที่ไม่ถูกน้ำท่วมทั้งในและต่างประเทศต้องชะลอหรือหยุดการผลิตไปด้วยเนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบ การที่ไม่สามารถผลิตสินค้าได้เนื่องจากมีวัตถุดิบไม่เพียงพอนี้เองที่เราเรียกว่าการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน

อุตสาหกรรม HDD เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน เนื่องจากไทยเป็นผู้ผลิต HDD รายใหญ่ที่สุดในโลก มีบริษัทประกอบ HDD รายใหญ่ของโลก 4 บริษัท จากทั้งหมดในโลกที่มีอยู่ 5 บริษัท ตั้งฐานการผลิตอยู่ในไทย ได้แก่ บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล (Western Digital) บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (Seagate) บริษัท ฮิตาชิ โกลบอล สตอเรจ เทคโนโลยี (HGST) และ บริษัท โตชิบา สตอเรจดีไวส์ (Toshiba) คิดเป็นสัดส่วนการผลิต HDD ถึงร้อยละ 41 ของการผลิตทั้งหมดของโลก มากกว่าจีนซึ่งเป็นอันดับ 2 และมีสัดส่วนการผลิตร้อยละ 25 ของโลก ทั้งนี้ HDD ที่ผลิตในไทยร้อยละ 90 เป็นการผลิตเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศเช่น จีน สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และญี่ปุ่น เพื่อนำไปผลิตเป็นสินค้าปลายน้ำ เช่น คอมพิวเตอร์
นอกจากนี้ ไทยยังเป็นฐานที่ตั้งของบริษัท Supplier ที่สำคัญจำนวนมาก อาทิ ผู้ผลิต Spindle motor (มอเตอร์หมุนแผ่นข้อมูลใน HDD) รายใหญ่ของโลก ได้แก่ บริษัท นิเด็ค (Nidec) บริษัท เอ็นเอ็มบี – มินีแบ (Minebea) และ บริษัท อัลฟาน่า เทคโนโลยี (Alphana Technology) ซึ่งทั้ง 3 บริษัทนี้มีกำลังการผลิตในไทยสูงถึงร้อยละ 66 ของการผลิตทั้งหมดของโลก และยังมีบริษัทข้ามชาติอื่นๆ ที่ผลิตชิ้นส่วน HDD อีกมากมาย อาทิ บริษัท แมกเนคอมพ์ พรีซิชั่น เทคโนโลยี (TDK) บริษัท ฮัทชินสัน เทคโนโลยี (Hutchinson) บริษัท เอ็นเอชเค สปริง (NHK Spring) ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นสวน Suspension (แขนจับหัวอ่าน) และ บริษัท เอ จี ซี อิเล็กทรอนิกส์ (AGC) ที่เป็นผู้ผลิต Glass substrates (แผ่นกระจกใน HDD) เป็นต้น

โรงงานต่างๆ เหล่านี้ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันในจังหวัดอยุธยาและปทุมธานี เมื่อเกิดอุทกภัยขึ้น โรงงานที่ถูกน้ำท่วมต้องหยุดผลิตทันที และยังทำให้โรงงานประกอบ HDD ที่ไม่โดนน้ำท่วมทั้งในไทยและต่างประเทศต้องหยุดชะงักหรือชะลอการผลิตไปด้วยเนื่องจากมีสต็อกวัตถุดิบเพื่อการผลิตไม่มากนัก ส่งผลให้การผลิต HDD ทั้งในไทยและของโลกลดลง โดยในไตรมาสที่ 4 ปี 54 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของ HDD ของไทยหดตัวลงถึงร้อยละ 55 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ HDD ทั้งโลกขาดแคลน โดย ศูนย์วิจัย IHS iSuppli[1] รายงานว่ายอดการส่งมอบ HDD ของโลกในไตรมาสที่ 4 ปี 54 ลดลงร้อยละ 26 จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน และทำให้ราคา HDD ของโลกสูงขึ้นประมาณร้อยละ 28 และคาดว่าการขาดแคลนอาจลากยาว ไปถึงไตรมาสที่ 1 ปี 55[2] เนื่องจากสต็อกของ HDD ที่มีอยู่เริ่มหมดลง นอกจากนี้ การหยุดผลิตดังกล่าว นอกจากจะทำให้บริษัทผู้ผลิต HDD ขาดรายได้แล้วยังอาจทาให้บริษัทต้องสูญเสียส่วนแบ่งตลาด ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยดังกล่าว[3] คาดว่า Western Digital อาจต้องสูญเสียการเป็นเจ้าตลาดโดยร่วงจากอันดับ 1 มาอยู่ที่ อันดับ 3 ในไตรมาสที่ 4 ปี 54

การขาดแคลน HDD ยังส่งผลให้คอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นสินค้าที่มี HDD เป็นส่วนประกอบขาดแคลน ตามไปด้วย โดยศูนย์วิจัย IHS iSuppli[4] คาดการณ์ว่ายอดขายคอมพิวเตอร์ในไตรมาสที่ 1 ปี 55 จะลดลงไป ประมาณร้อยละ 11.6 จาก ไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ปัญหาขาดแคลน HDD และคอมพิวเตอร์จะค่อยๆ คลี่คลายลง การผลิต HDD เริ่มฟื้นตัวตั้งแต่เดือน ธ.ค. 54 และคาดว่าจะกลับมาผลิตได้เต็มที่ในไตรมาสที่ 3 ปี 55

จากผลกระทบข้างต้นจะเห็นได้ว่าอุทกภัยที่เกิดขึ้นในไทยครั้งนี้ส่งผลรุนแรงต่ออุตสาหกรรม HDD และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั่วโลก สะท้อนว่าอุตสาหกรรม HDD ของไทยเป็นฟันเฟืองที่สำคัญต่อห่วงโซ่ อุปทาน HDD ของโลก สาหรับกรณีของอุตสาหกรรมยานยนต์ก็มีลักษณะที่ไม่ต่างกันนัก ซึ่งจะได้อธิบายใน ตอนต่อไปค่ะ

---------------------------------------------------------------------
1) ศูนย์วิจัย IHS iSuppli วันที่ 10 ก.พ. 2555

2) ศูนย์วิจัย JP Morgan วันที่ 1 ก.พ. 2555
3) ศูนย์วิจัย IHS iSuppli วันที่ 31 ต.ค. 2554
4) ศูนย์วิจัย IHS iSuppli วันที่ 8 ธ.ค. 2554

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย