​พลิกโฉม...การบัญชีสำหรับเครื่องมือทางการเงิน “ความพร้อมและผลกระทบในการปฏิบัติตาม TFRS 9"​

​นางสาวณิชนันทน์ เมาลานนท์
ฝ่ายนโยบายการกำกับสถาบันการเงิน

ประเทศไทยจะเริ่มบังคับใช้มาตรฐานการการรายงานทางการเงินกลุ่มเครื่องมือทางการเงิน (Thai Financial Reporting Standards: TFRS 9) ในวันที่ 1 มกราคม 2563 นี้ โดยที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น สภาวิชาชีพบัญชี ผู้สอบบัญชี สถาบันการเงิน (สง.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ได้ร่วมกันศึกษา สำรวจผลกระทบ และสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสาธารณชนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 เพื่อเตรียมความพร้อมในการนำมาตรฐาน TFRS 9 มาถือปฏิบัติในประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ เพื่อช่วยสนับสนุนการเติบโตของระบบเศรษฐกิจไทย

มาตรฐาน TFRS 9 ครั้งนี้ ได้ปรับเปลี่ยนหลักการเกี่ยวกับการจัดประเภทและการวัดมูลค่าของเครื่องมือทางการเงิน และการด้อยค่าของเครื่องมือทางการเงิน โดยมีส่วนที่สำคัญ คือ การกันเงินสำรองเพื่อรองรับผลเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากสินทรัพย์และภาระผูกพัน เช่น เงินให้สินเชื่อ เงินลงทุนในตราสารหนี้ สัญญาค้ำประกันทางการเงิน วงเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้ จากแนวคิดเดิมที่กันเงินสำรองจากความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว (Incurred Loss) เป็นการกันสำรองเพื่อรองรับความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต (Expected Loss: EL) เพื่อให้เงินสำรองสะท้อนความเสี่ยงด้านเครดิตตลอดอายุของลูกหนี้ โดยกำหนดให้พิจารณาจากข้อมูลทั้งในอดีต ปัจจุบัน และเหตุการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต (Forward-looking Information)โดยพิจารณากันเงินสำรองต่างกันตามสถานะหรือชั้น (Stage) ของลูกหนี้ สำหรับลูกหนี้ Stage 1 (กลุ่มที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตไม่เปลี่ยนแปลงจากวันแรกของการให้สินเชื่อ) ให้กันเงินสำรองเพื่อรองรับความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายใน 1 ปีข้างหน้า (1-year EL)และลูกหนี้ Stage 2 (กลุ่มที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ) และ Stage 3 (กลุ่มหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ Non-performing loan: NPL) ให้กันเงินสำรองรองรับความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตลอดอายุของลูกหนี้ (Lifetime EL) ทำให้ สง. รับรู้เงินสำรองเร็วขึ้นตามสถานะของลูกหนี้ที่เปลี่ยนแปลงไป และงบการเงินสะท้อนฐานะที่แท้จริงอย่างทันการณ์


นอกจากนี้ งบการเงินจะมีการเปลี่ยนแปลงการแสดงรายการแบบใหม่ตามแนวทางการจัดประเภท และการวัดมูลค่าที่เปลี่ยนแปลงไป โดยในงบแสดงฐานะทางการเงินจะมีการเพิ่มบางรายการ เช่น สินทรัพย์/ หนี้สินทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุน (FVTPL)และงบกำไรขาดทุนจะมีการเปลี่ยนแปลงบางรายการ เช่น กำไร (ขาดทุน) จากการวัดมูลค่าเครื่องมือทางการเงินประเภทต่างๆ ผ่านกำไรขาดทุน (FVTPL)หรือกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น (FVOCI) และผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ใช้งบการเงินทราบถึงรูปแบบการประกอบธุรกิจ และวัตถุประสงค์ในการถือครองสินทรัพย์ของกิจการ หากมีวัตถุประสงค์ในการถือครองสินทรัพย์เพื่อมุ่งหวังกำไรระยะสั้น จะรับรู้กำไร/ ขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่าเข้างบกำไรขาดทุน (FVTPL)แต่หากถือเพื่อมุ่งหวังกระแสเงินสดและขายในอนาคต จะรับรู้กำไร/ ขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่าเข้างบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น (FVOCI) แต่หากถือเพื่อมุ่งหวังเพียงกระแสเงินสดตามสัญญา จะวัดมูลค่าด้วยวิธีราคาทุนตัดจำหน่ายและมีการกันสำรองตามที่กล่าวข้างต้น

นอกจากการแสดงรายการในงบการเงินที่จะมีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว อัตราส่วนทางการเงิน บางรายการก็จะมีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เช่น (1) เงินให้สินเชื่อใน Stage 2 ratio อาจมากกว่า Special Mention (SM) ratio เดิม เนื่องจากขอบเขตการนับลูกหนี้ที่กว้างกว่า (2) Net Interest Margin (NIM) อาจกว้างขึ้นแต่ไม่มาก เนื่องจากการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยจากส่วนที่คาดว่าจะได้รับคืนของลูกหนี้ NPL

สำหรับข้อกังวลของลูกหนี้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่อาจส่งผลให้ภาระการกันเงินสำรองของ สง.เพิ่มขึ้นนั้น ก็อาจไม่ได้ส่งผลกระทบมากนัก เนื่องจาก สง. สามารถปรับชั้นลูกหนี้ที่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้ดีขึ้นได้ หากลูกหนี้สามารถปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ดังนี้ (1)ลูกหนี้ที่ยังไม่เป็น NPL สามารถปรับชั้นจาก Stage 2 เป็น Stage1 ได้ หากลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้ติดต่อกัน 3 เดือน/งวด และ (2)ลูกหนี้ที่เป็น NPLสามารถปรับชั้นจาก Stage 3 เป็น Stage 2 ได้ หากสามารถชำระติดต่อกัน 3 เดือน/งวด และหลังจากนั้น หากลูกหนี้สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขใหม่ได้ และ สง. พิจารณาแล้วว่าความเสี่ยงของลูกหนี้ดีขึ้น หรือไม่มียอดหนี้คงค้าง ณ สิ้นเดือนที่ 9 นับจากวันที่ปรับชั้นลูกหนี้เป็น Stage 2 สามารถปรับเป็น Stage 1 ได้ ดังนั้น หากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สามารถช่วยให้ลูกหนี้มีสถานะ และผลประกอบการดีขึ้น ก็จะช่วยให้ภาระการกันเงินสำรอง และผลประกอบการของ สง. ดีขึ้นด้วย

มาถึงตรงนี้หลายคนอาจคิดว่าการนำ TFRS 9 มาใช้ จะส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงิน ผลการดำเนินงาน และ ระบบ สง. เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกันเงินสำรอง ซึ่งจะเป็นภาระต้นทุนให้กับ สง. อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา สง. กันเงินสำรองเพิ่มเติมสำหรับเงินให้สินเชื่อ Current Loan (CL) และ Possible Impaired Loan (PIL)ตามหลักการ EL ตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากการกันเงินสำรองตาม TFRS 9 ที่จะเริ่มบังคับใช้ในปี 2563 นี้ โดยจากการติดตามผลกระทบของการนำ TFRS 9มาใช้ พบว่า ณ วันแรกของการถือปฏิบัติตาม TFRS 9ระบบ สง. มีปริมาณเงินสำรองเพียงพอรองรับการถือปฏิบัติตาม TFRS 9 ทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณการปล่อยสินเชื่อมากนัก ประกอบกับสภาวะตลาดที่มีการแข่งขันสูง และ สง. ต้องรักษาฐานลูกค้า ทำให้ผลกระทบจากการปรับดอกเบี้ยมีจำกัด ดังนั้น การเริ่มบังคับใช้มาตรฐาน TFRS 9 ในครั้งนี้ คาดว่าจะไม่กระทบต่อการปล่อยสินเชื่อของ สง. ในขณะที่จะช่วยส่งเสริมให้ สง. แสดงฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง มีเงินสำรองเพียงพอเพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย นอกจากนี้ งบการเงินของ สง. ไทยจะสอดคล้องตามสากล ซึ่งจะช่วยให้ระบบสถาบันการเงินมีความโปร่งใส น่าเชื่อถือ และสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

>>​Download​​ PDF