นางจารุพรรณ วานิชธนันกูล

ในยามที่เศรษฐกิจโลกประสบวิกฤตการเงิน เรามักจะได้ยินข่าวเกี่ยวกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่เกิดขึ้น จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการออม การลงทุนและการระดมทุนของแต่ละภาคเศรษฐกิจอย่างไร และในท้ายที่สุด เศรษฐกิจที่ตกต่ำจะส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของแต่ละภาคเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน ข้อมูลหนึ่งที่เราสามารถนำมาวิเคราะห์ภาพดังกล่าวได้ ก็คือบัญชีเศรษฐกิจเงินทุน (Flow-of-Funds Account) ที่เผยแพร่โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

บัญชีเศรษฐกิจเงินทุนเป็นบัญชีที่แสดงการไหลเวียนของกระแสการเงินระหว่างภาคเศรษฐกิจต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจ ประกอบด้วยภาคธุรกิจเอกชน (รวมรัฐวิสาหกิจ) ภาคสถาบันการเงิน (รวมธนาคารแห่งประเทศไทย) ภาคครัวเรือน (รวมสถาบันที่ไม่แสวงหากำไรที่ให้บริการแก่ครัวเรือน) ภาครัฐบาล และภาคต่างประเทศ ซึ่งบัญชีนี้มีความเชื่อมโยงกับรายได้ประชาชาติของประเทศไทยตรงที่ทำให้ทราบว่าเงินออมของภาคเศรษฐกิจต่างๆ ที่เราเห็นในบัญชีรายได้ประชาชาตินั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร ซึ่งในต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา และยุโรป จะใช้ข้อมูลดังกล่าวในการอธิบายการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเงิน รวมไปถึงความไม่สมดุลของโครงสร้างทางการเงินในแต่ละภาคเศรษฐกิจ

สำหรับประเทศไทย จากการวิเคราะห์ข้อมูลบัญชีเศรษฐกิจกิจเงินทุนล่าสุดซึ่งเป็นข้อมูลปี 2552 และเป็นปีที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลก ทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวร้อยละ 2.3 และเมื่อเทียบข้อมูลของปี 2552 กับปี 2550 ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจทำให้แต่ละภาคเศรษฐกิจเคลื่อนย้ายการลงทุนจากสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงมายังสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำมากขึ้นโดยเฉพาะภาคครัวเรือนซึ่งมีการออมในรูปของการลงทุนในหลักทรัพย์น้อยลงและเปลี่ยนมาออมเงินในรูปของเงินฝากและการประกันภัยเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกัน ภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวทำให้ภาคธุรกิจเอกชนลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (Non-Financial Asset) ลดลง โดยในปี 2552 การลงทุนภาคเอกชน ณ ราคาคงที่หดตัวร้อยละ 13.1 และหันมาลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินมากขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2550 รวมทั้งธุรกรรมการลงทุนที่ลดลงทำให้ความต้องการระดมทุนน้อยลงไปด้วย ประกอบกับสถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการปล่อยกู้มากขึ้น ทำให้ภาคธุรกิจลดการกู้ยืมและชำระคืนหนี้เพิ่มขึ้น และหันมาระดมทุนจากหุ้น ตราสารทุน และสินเชื่อทางการค้าแทน

ภาคต่างประเทศเป็นอีกภาคที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ และยังอยู่ระหว่างการฟื้นตัวทำให้ในปี 2552 ภาคต่างประเทศมีการลงทุนทางการเงินในไทยลดลงเกือบ 4 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2550 โดยส่วนใหญ่เป็นการลดการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง รวมทั้งการให้สินเชื่อการค้าแก่ภาคเศรษฐกิจในประเทศไทยก็ลดลงตามธุรกรรมการค้าที่ลดลงด้วย
ส่วนภาครัฐบาลมีการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจหลายมาตรการในปี 2552 อาทิ การลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นต้น รวมทั้งมีการเพิ่มทุนให้รัฐวิสาหกิจ ทำให้มีการระดมทุนเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นการออกพันธบัตรและตั๋วเงินคลัง ซึ่งการใช้จ่ายของภาครัฐยังคงน้อยกว่าการระดมทุน ทำให้ในปี 2552 รัฐบาลมีเงินคงคลังฝากไว้กับสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นเช่นกัน

นอกจากบัญชีเศรษฐกิจเงินทุนจะใช้ในการอธิบายการหมุนเวียนของกระแสเงินในระบบเศรษฐกิจผ่านเครื่องมือทางการเงินต่างๆ แล้ว ยังสามารถใช้ในการประเมินเสถียรภาพการเงินของแต่ละภาคเศรษฐกิจได้ด้วย โดยนักวิเคราะห์ในสหรัฐอเมริกาและประเทศในยูโรโซนได้ใช้ข้อมูลจากบัญชีดังกล่าวในรูปของยอดคงค้าง (Stock) ของสินทรัพย์และหนี้สินในการประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน และใช้เป็นสัญญาณเตือนภัย ซึ่งถ้าการสะสมหนี้ของภาคเศรษฐกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินมีการขยายตัวมากเกินกว่าการขยายตัวของสินทรัพย์ทางการเงินมากๆ ก็จะเป็นการส่งสัญญาณว่าสถาบันการเงินควรระมัดระวังการให้สินเชื่อมากขึ้น
การที่สหรัฐฯ และประเทศในยูโรโซนสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้ เป็นเพราะข้อมูลของเค้ามีรายละเอียดมาก มีข้อมูลทั้งที่เป็นกระแสเงิน (Flow) และยอดคงค้าง (Stock) รวมทั้งมีการเผยแพร่เป็นรายไตรมาสและล่าช้าเพียง 3-4 เดือน ทำให้ผู้ดำเนินนโยบายสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้เต็มที่ แต่ทว่าสำหรับไทยการวิเคราะห์ดังกล่าวมีข้อจำกัด เพราะหากจะให้เห็นภาพการวิเคราะห์ที่ชัดเจนและถูกต้องควรใช้ข้อมูลยอดคงค้าง (Stock) ขณะที่ข้อมูลของไทยที่เผยแพร่ในปัจจุบันมีเฉพาะข้อมูลกระแสเงิน (Flow) ซึ่งเป็นข้อมูลรายปี และมีการเผยแพร่ย้อนหลังถึง 15 เดือน

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย