ดร. รังสรรค์ หทัยเสรี
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นับเป็นธนาคารกลางอันดับต้นๆ ในภูมิภาคเอเชียที่ได้พัฒนาและนำระบบการโอนเงินมูลค่าสูงในลักษณะ RTGS (Real Time Gross Settlement) มาใช้ในปี พ.ศ. 2538 ระบบนี้มีจุดเด่นตรงที่ว่า สามารถขจัดความเสี่ยงทางด้าน Settlement Risk ตลอดจน Credit Risk ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นการชำระดุลที่เกิดขึ้นทีละรายการโดยมีผลสมบูรณ์ในทันที แต่ในอีกมุมมองหนึ่งก็อาจส่งผลทำให้ผู้สั่งโอนเผชิญกับความเสี่ยงด้าน Liquidity Risk เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้โอนจะต้องบริหารเงินและสภาพคล่องให้เพียงพอจึงจะสามารถทำการโอนเงินได้สำเร็จ
จากวันนั้นถึงวันนี้ มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่น่าสนใจคือ ธุรกรรมในบาทเนตของไทยมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ทั้งในแง่ปริมาณและมูลค่า โดยมีมูลค่าธุรกรรมโอนเงินรวม 765.7 ล้านล้านบาท ในปี 2554 หรือเกือบ 71 เท่าของ GDP เทียบกับปีก่อนหน้าที่มีมูลค่าธุรกรรมโอนเงินรวม 654.6 ล้านล้านบาท หรือราว 61 เท่าของ GDP
ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ การที่ระบบบาทเนตมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นกับระบบการชำระดุลอื่นๆ (System Interdependencies) ตัวอย่างเช่น กรณีการซื้อขายหลักทรัพย์ที่สะท้อนความเชื่อมโยงระหว่าง “ระบบบาทเนต” ที่ทำหน้าที่ในการชำระเงินค่าหลักทรัพย์กับระบบของ “ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์” ที่ทำหน้าที่ในการรับส่งมอบหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายกัน ดังนั้น หากระบบใด/ระบบหนึ่งไม่สามารถชำระราคาค่าซื้อขายหลักทรัพย์ หรือไม่สามารถส่งมอบหลักทรัพย์ให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ในลักษณะ Delivery versus Payment ก็จะเป็นความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบในลักษณะลูกโซ่จากระบบหนึ่งไปสู่อีกระบบหนึ่ง จนอาจก่อให้เกิด Systemic Risk ต่อระบบการชำระเงินโดยรวมได้ในที่สุด
ธุรกรรมในบาทเนตที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งความเชื่อมโยงที่เพิ่มสูงขึ้นระหว่างระบบบาทเนตกับระบบการชำระเงินอื่นดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของช่องทางการชำระเงินผ่านระบบบาทเนตที่มีบทบาทมากขึ้น ในการรองรับธุรกรรมทางเศรษฐกิจและตลาดการเงินของประเทศ อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งก็สะท้อนว่า ธปท. จำเป็นต้องติดตามและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องราบรื่น และมีระบบจัดการความเสี่ยงที่ได้มาตรฐาน
ถึงตรงนี้ จำเป็นต้องมาถอดรหัสดูว่า มีปัจจัยและกลไกเด่น ๆ ใดบ้างที่ทำให้การบริหารสภาพคล่องและความเสี่ยงในระบบบาทเนตมีพัฒนาการในทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงปัจจุบัน โดยเฉพาะความเสี่ยงทางด้าน Liquidity risk ทั้งนี้ เพื่อให้แน่ใจว่า สามารถรองรับการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของธุรกรรมการโอนเงินในระบบบาทเนตได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
พัฒนาการที่เห็นได้ชัดคือ การที่ ธปท. จัดให้มี “กลไกเงินสภาพคล่องระหว่างวัน” (Intraday Liquidity Facility: ILF) เพื่อให้สมาชิกสามารถใช้เป็นเงินสภาพคล่องชั่วคราวระหว่างวันในระบบบาทเนตได้ตามจำนวนตราสารหนี้ที่นำมาวางเป็นหลักประกัน โดยต้องวางไม่น้อยกว่า 10% ของมูลค่าการโอนเงินของตนเองผ่านระบบบาทเนตเฉลี่ยต่อวัน ซึ่งในปัจจุบันธนาคารพาณิชย์มีการวางตราสารหนี้ ILF มากกว่าเกณฑ์ที่กำหนด โดยมีมูลค่า ILF รวมทั้งสิ้นราว 15% ของมูลค่าการโอนเงินและมีการใช้ ILF ระหว่างวันเฉลี่ยราววันละ 1 ใน 3 ของมูลค่า ILF ที่ได้วางไว้ นอกจากนี้ ยังจัดให้มีกลไกที่ช่วยให้เกิดการไหลเวียนของสภาพคล่อง (Liquidity recycling) ได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลไก “Queuing Mechanism” ที่ช่วยในการบริหารจัดการรายการค้างคิวในระบบบาทเนต และกลไก “Gridlock Resolution” ที่ช่วยจับกลุ่มรายการค้างคิวในระบบบาทเนต เพื่อชำระรายการดังกล่าวพร้อมกันในลักษณะ Netting ระหว่างกลุ่มรายการที่ค้างคิวอยู่ ทำให้สามารถลดการใช้สภาพคล่องในการทำรายการของธนาคารพาณิชย์และทำให้สามารถบริหารสภาพคล่องในแต่ละสถานการณ์ได้เหมาะสมยิ่งขึ้น ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงด้าน Liquidity risk ในที่สุด
พัฒนาการอีกประการหนึ่งคือ การที่ธนาคารพาณิชย์มีประสิทธิภาพ (Efficiency) สูงขึ้นในการบริหารสภาพคล่องและความเสี่ยงในระบบบาทเนต ดังสะท้อนได้จากเครื่องชี้ Turnover ratio ที่ได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากระดับ 2.2 เท่าในปี 2549 เป็น 7.3 เท่าในปี 2554 ซึ่งสะท้อนว่า ระบบบาทเนตของไทยมี Efficiency สูงขึ้นในด้าน Fund settlement กล่าวคือ สามารถใช้สภาพคล่องที่มีอยู่ในระบบเพื่อรองรับการโอนเงินผ่านระบบบาทเนตได้หลายรอบมากขึ้น
ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ในอีกด้านหนึ่ง สะท้อนให้เห็นถึงการบริหารจัดการของ ธปท. ทั้งในแง่การบริหารการไหลเวียนของสภาพคล่องในระบบบาทเนต รวมทั้งการประเมินสถานการณ์ ตลอดจนการคาดการณ์เพื่อป้องกันปัญหาที่ระบบจะเกิดการติดขัด ซึ่งอาจกระทบกับตลาดการเงินและสมาชิกอื่นที่ร่วมระบบ โดยสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนของกระแสเงินในระบบ จนทำให้มูลค่าธุรกรรมการโอนเงินที่ค้างคิวในระบบบาทเนตมีสัดส่วนลดลงอย่างต่อเนื่อง เหลือเพียงราว 10% ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมทั้งสามารถโน้มนำให้ธนาคารพาณิชย์หันมาโอนเงินในช่วงต้นของเวลาทำการกันมากขึ้น โดยปัจจุบันการโอนเงินผ่านระบบบาทเนตในช่วงก่อนเที่ยงวัน มีสัดส่วนสูงถึงกว่า 65% ของปริมาณรายการทั้งหมด ทำให้สามารถลดการกระจุกตัวของการโอนเงินในช่วงบ่าย และทำให้สภาพคล่องระหว่างวันในระบบบาทเนตมีการไหลเวียนที่คล่องตัวขึ้น และทำให้ Settlement risk มีแนวโน้มลดลง
อย่างไรก็ดี ภายใต้สภาพการณ์ที่ธุรกรรมในระบบบาทเนตยังคงเติบโตอย่างรวดเร็วจนมีมูลค่าธุรกรรมโอนเงินผ่านระบบบาทเนตเท่ากับมูลค่า GDP ของประเทศทั้งปี ภายในช่วงเวลาเพียง 4-5 วันทำการ กอรปกับการที่สถานการณ์ในตลาดการเงินโลกมีความผันผวนมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ธปท. จำเป็นที่จะต้องดูแลความเสี่ยงด้าน Liquidity Risk และ Settlement Risk อย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นโดยการพัฒนาเครื่องชี้วัดความเสี่ยงใหม่ๆ ที่สามารถวัดขนาด Risk exposure ของธนาคารพาณิชย์ตลอดจนสามารถบ่งชี้ความเสี่ยงต่อระบบบาทเนตในลักษณะที่เป็น Early Warning Indicators รวมทั้งการประยุกต์ใช้เทคนิคใหม่ๆ ด้าน Simulation ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงทางด้าน Liquidity Risk และSettlement Risk ให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อระบบการชำระเงินของประเทศในภาพรวม
ที่สำคัญคือ ต้องเฝ้าระวังว่า การกระจุกตัวของธุรกรรมการโอนเงินในระบบบาทเนตมิให้มีสถาบันการเงินรายใด/รายหนึ่งมีสัดส่วนในตลาดมาก ( High concentration ratio) จนอาจเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่ทำให้ทั้งระบบล่ม จากการที่มี Liquidity concentration ratio สูงมากจนเกินไป โดยต้องให้แน่ใจว่า “…ในกรณีที่มีการถอนธนาคารพาณิชย์ที่ Control สภาพคล่องมากที่สุดในระบบออกจากระบบ settlement ด้วยสาเหตุใด/สาเหตุหนึ่ง…สภาพคล่องที่ยังคงเหลืออยู่ในระบบ ยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าระดับของ Maximum Liquidity ที่ต้องใช้ในการชำระเงินในวันนั้น ๆ...” ทั้งนี้ เพื่อให้การดูแลเสถียรภาพทางการเงินของประเทศในภาพรวมเป็นไปอย่างราบรื่นปลอดภัย
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย