​Bangkok FinTech Fair 2019: เวทีสะท้อนความร่วมมือของภาคการเงินไทย

นายอนุชิต ศิริรัชนีกร
ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน

เมื่อวันที่ 18 -19 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัดงาน Bangkok FinTech Fair 2019 ภายใต้แนวคิด Collaboration for the Future of Finance ซึ่งเป็นเวทีแสดงความร่วมมือของภาคการเงินไทยเพื่อเน้นย้ำถึงความร่วมมือระหว่างกันในการพัฒนาบริการทางการเงินในอนาคต สานต่อความสำเร็จของงาน Bangkok FinTech Fair ครั้งที่ 1 เมื่อปีก่อนหน้า

ตลอด 2 วันของการจัดงานมีผู้เข้าร่วมกว่า 3,000 คน ทั้งจากสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการชำระเงิน FinTech องค์กรภาคธุรกิจ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรระหว่างประเทศ บริษัทที่ปรึกษาทางธุรกิจและเทคโนโลยี และอาจารย์นักศึกษามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นโอกาสอันดีในการรับฟังมุมมองความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศที่อยู่ในวงการด้านการเงิน เทคโนโลยี และธุรกิจ ที่นำความก้าวหน้าเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ โดยการจัดงานครั้งนี้ได้มุ่งเน้นถึง 6 พัฒนาการความร่วมมือของภาคการเงินไทย เพื่อขับเคลื่อนบริการทางการเงินยุคใหม่ ประกอบด้วย (1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน (2) การส่งเสริมนวัตกรรมและการเข้าถึงบริการทางการเงิน (3) การพัฒนาบริการทางการเงินระหว่างประเทศ (4) การพัฒนาข้อมูลด้านการเงิน (5) การเตรียมพร้อมรับมือภัย Cyberและ (6) การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน โดยสรุปสาระสำคัญที่ได้จากงานในแต่ละด้านได้ดังนี้

1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน หลายประเทศทั่วโลกต่างนำเทคโนโลยีทางการเงินมาใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น การโอนเงิน digital payment ด้วยระบบพร้อมเพย์ในไทย การชำระเงินค่าโดยสารรถสาธารณะด้วยเทคโนโลยี Near Field Communication (NFC) ในประเทศอังกฤษ (Transport for London) หรือการใช้เทคโนโลยี Blockchain เพื่อพัฒนา Trade Finance Platform ในฮ่องกง โดยอาจสรุปได้ว่าปัจจัยแห่งความสำเร็จของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินควรประกอบด้วย การออกแบบบริการที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม การขับเคลื่อนโครงการที่เหมาะสมตามลักษณะของผู้เกี่ยวข้องผ่านคณะทำงานที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ การวางแผนการสื่อสารโดยคำนึงถึงการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ และการติดตามพัฒนาการอย่างเท่าทัน มีการปรับปรุงแผนงานให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไปสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้การบริหารโครงการขนาดใหญ่สามารถบรรลุเป้าหมายและประชาชนผู้ใช้บริการได้รับประโยชน์สูงสุด

2. การส่งเสริมนวัตกรรมและการเข้าถึงบริการทางการเงิน ภาคธนาคาร Big Techs และผู้ให้บริการทางการเงินต่างเห็นความสำคัญของการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจให้สอดคล้องกับกระบวนการซื้อขายและชำระเงินที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วโดยปรับตัวเข้าสู่การให้บริการผ่าน digital platforms และให้ความสำคัญกับการสร้าง value-added services การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อนำเสนอบริการใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า (customer centric) จะเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในอนาคต อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านสู่รูปแบบธุรกิจดิจิทัลยังต้องพัฒนาทักษะของผู้ให้บริการให้เท่าทันเทคโนโลยีใหม่ รวมทั้งเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและกระตุ้นจูงใจให้ผู้ที่ยังไม่เคยใช้บริการหันมาใช้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น

3. การพัฒนาบริการทางการเงินระหว่างประเทศ ผู้ให้บริการทางการเงินในภูมิภาคอาเซียนมีความตื่นตัวสูง มีผู้ให้บริการใหม่ๆ ต้องการเข้ามาทำธุรกิจด้านการชำระเงินเพิ่มมากขึ้น โดยมีทิศทางชัดเจนในการขยายบริการ digital payment ซึ่งปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญมาจากการขยายตัวของผู้ใช้ smartphone ที่เพิ่มสูงขึ้นมากและการชำระเงินผ่าน QR Code ที่มีอยู่อย่างแพร่หลาย โดยการให้บริการเหล่านี้ต้องคำนึงถึงประสบการณ์การชำระเงินแบบไร้รอยต่อของลูกค้า (seamlesspayment) เป็นสำคัญ ทั้งนี้ ความท้าทายในอนาคตที่สามารถต่อยอดนวัตกรรมทางการเงิน คือการทำให้เครือข่ายการชำระเงินระหว่างประเทศที่หลากหลายสามารถเชื่อมโยงการใช้บริการกันได้ (interoperability) เช่น เครือข่ายบัตร เครือข่าย Blockchain และเครือข่ายกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (mobile wallets) เป็นต้น

4. การพัฒนาข้อมูลด้านการเงิน Data Analytics จะเป็นสิ่งที่พลิกโฉมการทำธุรกิจในยุคดิจิทัลผู้ให้บริการต่างเห็นถึงศักยภาพของข้อมูลและการวิเคราะห์ที่ช่วยขยายโอกาสทางธุรกิจ เช่น ภาคธนาคารใช้ข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้ามาพัฒนาบริการทางการเงินที่ตรงความต้องการและให้ประสบการณ์ที่ทัดเทียมบริการของ social platform โดยในอนาคตความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการมีแนวโน้มที่จะขยายสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูล นอกจากนี้ Data Analytics ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้ในหลายมิติ เช่น การกำหนดกลยุทธ์และทิศทางของธุรกิจ และการวิเคราะห์การเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ผู้ใช้ข้อมูลต้องให้ความสำคัญกับ data governance และ data privacy ควบคู่ไปด้วย

5. การเตรียมพร้อมรับมือภัย Cyber รากฐานของการสร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีทางการเงิน และบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ คือการสร้างความมั่นคงปลอดภัย การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและการสร้างความโปร่งใสในการให้บริการ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐและผู้ให้บริการในภาคการเงินต้องร่วมมือกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลภัยไซเบอร์ และยกระดับศักยภาพในการป้องกันภัยและการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีการประสานงานกับหน่วยงานต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถรับมือกับภัยคุกคามไซเบอร์ที่เพิ่มสูงขึ้นตามพัฒนาการทางเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

6. การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งผู้กำกับดูแล สถาบันการเงินและผู้เล่นใหม่ เช่น FinTech ต้องปรับตัวและร่วมสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม (ecosystem) เอื้อให้เกิดการแข่งขันและสร้างแรงจูงใจที่ถูกต้อง ไม่ก่อให้เกิด Fragmentation ในระบบการเงิน อันจะนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ธนาคารกลางไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้กำกับดูแลแต่ยังเป็นผู้ขับเคลื่อนและสนับสนุนการพัฒนาด้วย สำหรับผู้ให้บริการ การคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าจะเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในอนาคต (customer-first approach) ซึ่งจะเป็นโอกาสของ FinTech และเป็นความท้าทายของสถาบันการเงินในขณะเดียวกัน

จะเห็นได้ว่าพัฒนาการทั้ง 6 ด้านต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวางเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนา ซึ่งการจัดงาน Bangkok FinTech Fair2019 : Collaboration for the Future of Finance เป็นอีกบทบาทหนึ่งของ ธปท. ในการเสริมสร้างให้เกิดความร่วมมือและการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินของภาคการเงินไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย