นายธีรวิทย์ พบสุขหิรัญ
วิกฤตหนี้ของกรีซตั้งแต่เริ่มขอรับความช่วยเหลือจากสหภาพยุโรปและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ผ่านมาได้ 21 เดือนแล้ว แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น และกลับทวีความรุนแรง ขยายวงกว้างไปสู่ไอร์แลนด์ โปรตุเกส จนกระทั่งลามไปถึงประเทศใหญ่อย่างอิตาลี สเปน และล่าสุดฝรั่งเศส ซึ่งสั่นคลอนการรวมกลุ่มสหภาพยุโรปและกลุ่มยูโร สร้างความกังวลว่าจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งใหม่โดยสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องของความเชื่อมโยงระหว่างหลายภาคส่วนทั้งภาคการคลัง ภาคสถาบันการเงิน และภาคเศรษฐกิจจริง ที่ส่งผลกระทบต่อกัน อีกทั้งต้องอาศัยความช่วยเหลือจากภายนอกและการปรับตัวจากภายใน ทำให้เรื่องนี้คงจะไม่จบลงง่ายๆ และคงไม่มีใครตอบได้แน่ชัดว่าจะจบลงเมื่อไหร่
วิกฤตหนี้ในกลุ่ม PIIGS ซึ่งได้แก่ ประเทศโปรตุเกส อิตาลี ไอร์แลนด์ กรีซ และสเปน มีชนวนปัญหาเริ่มต้นจากภาคการคลัง โดยนักลงทุนไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะสามารถชำระคืนหนี้ได้ จึงไม่ยอมให้รัฐบาลกู้ยืมด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเช่นในอดีต ดังนั้นเมื่อถึงเวลาที่รัฐบาลต้องหาเงินมาจ่ายคืนหนี้ แต่รัฐบาลกู้เงินจากนักลงทุนไม่ได้หรือได้ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงมากจนภาระดอกเบี้ยจะส่งผลต่อความยั่งยืนทางการคลัง จึงต้องหันไปขอความช่วยเหลือจากเพื่อนสมาชิกในสหภาพยุโรปและ IMF แทน ซึ่งไม่ได้ให้เงินกู้กันง่ายๆ แต่ต้องมีสัญญาผูกมัดว่ารัฐบาลจะต้องปรับปรุงฐานะการคลังด้วยการดำเนินนโยบายรัดเข็มขัด ลดรายจ่าย ลดเงินเดือนข้าราชการและสวัสดิการสังคม และเพิ่มรายได้ด้วยการเก็บภาษีสูงขึ้นและขายทรัพย์สิน รวมทั้งการปฏิรูปเศรษฐกิจ ซึ่งจะเห็นผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะปานกลางถึงยาว แต่ในระยะสั้นจะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอลง
เจ้าหนี้ของกลุ่ม PIIGS ส่วนใหญ่เป็นสถาบันการเงิน ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิฤตในภาคการคลังผ่าน 2 ช่องทาง ช่องทางแรก คือ เมื่อพันธบัตรรัฐบาลกลุ่ม PIIGS ที่สถาบันการเงินถือครองอยู่มีมูลค่าลดลง ส่งผลให้งบดุลเลวลง ผู้นำยุโรปได้แก้ปัญหาด้วยการกำหนดให้สถาบันการเงินเหล่านี้ต้องเพิ่มทุนเพื่อรองรับหากเกิดหนี้สูญ ช่องทางที่สอง คือ การขาดแคลนสภาพคล่อง เนื่องจากตลาดขาดความเชื่อมั่นในการปล่อยกู้แก่ประเทศในกลุ่ม PIIGS ส่งผลให้สถาบันการเงินประสบปัญหาการระดมทุนทั้งจากเงินฝาก ตราสารหนี้ และการกู้ยืมระยะสั้นระหว่างสถาบันการเงิน อีกทั้งต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้น ทำให้สถาบันการเงินแก้ปัญหาขาดแคลนสภาพคล่องและความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มทุนด้วยการลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง ส่วนหนึ่งโดยการลดการปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
เมื่อมามองในภาคเศรษฐกิจจริง พบว่า เศรษฐกิจนอกจากจะชะลอลงเพราะการดำเนินนโยบายรัดเข็มขัดของภาครัฐและการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินแล้ว ผู้ประกอบการและผู้บริโภคแม้มีเงินในกระเป๋าแต่ก็ชะลอการขยายธุรกิจและการจับจ่ายใช้สอยออกไปจากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ลดลง
เมื่อเศรษฐกิจอ่อนแอลงมาก การดำเนินนโยบายรัดเข็มขัดทางการคลังก็ไม่เป็นไปตามเป้า จากการจัดเก็บรายได้ได้น้อย การขาดดุลงบประมาณไม่ลดลง หนี้สาธารณะต่อ GDP ก็เพิ่มขึ้น ประกอบกับการเข้มงวดนโยบายการคลังอย่างต่อเนื่องได้รับการคัดค้านจากประชาชนในประเทศ ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่สถาบันจัดอันดับจะลดความน่าเชื่อถือ (credit rating) ลงอีก และทำให้พันธบัตรรัฐบาลของประเทศที่มีปัญหาด้อยค่าลง กระทบต่อฐานะการเงินของสถาบันการเงิน ส่งผลให้สถาบันการเงินจำต้องเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อขึ้นอีกเพื่อลดความเสี่ยง เป็นวงจรไม่รู้จบ
ขณะที่การแก้ปัญหาที่ผ่านมาเป็นเพียงการให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแก่รัฐบาลและสถาบันการเงินจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรป และ IMF ซึ่งยังไม่มีมาตรการแก้ไขที่เบ็ดเสร็จ และยังมิได้มีการแก้ไขปัญหาเรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่จริงจัง เพื่อกระตุ้นความสามารถในการแข่งขัน การจ้างงาน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจริงๆ เป็นเพียงการประคองสถานการณ์มากกว่าการหยุดยั้งวิกฤต
ดังนั้น หากไม่สามารถแก้ปัญหาจุดนี้ได้ และประเทศหลักในสหภาพยุโรปยังขาดความชัดเจนในการให้ความช่วยเหลือกันเองอย่างเพียงพอ สถานการณ์ก็จะเลวร้ายลงไปอีก ซึ่งในช่วงตลอดปีนี้ยังมีความท้าทายรออยู่ข้างหน้าอีกมาก โดยเฉพาะในครึ่งปีแรกมีเหตุการณ์ที่เปราะบางอาจทำให้เกิดจุดเสี่ยงได้ ตั้งแต่การประนอมหนี้ของกรีซ การครบกำหนดการไถ่ถอนพันธบัตรของอิตาลีในจำนวนสูง การทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของสถาบันจัดอันดับ การหารือของผู้นำยุโรปที่แทบจะกลายเป็นการประชุมรายเดือน โดยหัวข้อการประชุมที่สำคัญ ได้แก่ การสรุปข้อตกลงที่ให้ทุกประเทศในกลุ่มดำเนินนโยบายรัดเข็มขัด (fiscal compact) การขยายศักยภาพของกองทุนช่วยเหลือภายในกลุ่ม เป็นต้น รวมทั้งการประชุมของผู้นำโลกในการเพิ่มศักยภาพของ IMF และการเลือกตั้งของประเทศสมาชิกที่อาจส่งผลให้รัฐบาลเปลี่ยนจุดยืนในการแก้ปัญหาหนี้ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ได้แสดงความเห็นถึงผลลัพธ์ที่แตกต่างกันไปตั้งแต่คาดการณ์ว่ากรีซจะต้องออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มยูโรภายในปีนี้ จนถึงกลุ่มยูโรจะสามารถผ่านพ้นความท้าทายต่างๆ ไปได้และหลุดจากวิกฤตในที่สุดแม้จะต้องใช้เวลานานก็ตาม (muddle through)
ถ้านับว่า 40 เดือนก่อนตอนที่เศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับวิกฤต Subprime เป็นแผ่นดินไหวทางเศรษฐกิจทั่วโลก ณ ปัจจุบันเราก็อาจนับวิกฤตหนี้ยุโรปเป็น aftershock ได้ แต่อีก 11 เดือนข้างหน้าเรายังจะเรียกวิกฤตหนี้เป็น aftershock ได้อยู่หรือไม่คงต้องติดตามกันต่อไป ระหว่างนี้ไทยเราคงต้องเตรียมพร้อมเศรษฐกิจของเราให้แข็งแรงอยู่บนฐานที่มั่นคง เวลาเกิดภัยพิบัติเราจะได้ยืนตรงอยู่ได้ไม่เจ็บป่วยล้มตาย
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย