นายจิรัฐ เจนพึ่งพร
ปัญหาภัยแล้งที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นในขณะนี้ได้กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงจากภายในประเทศที่มีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อรายได้และการใช้จ่ายของเกษตรกรโดยเฉพาะชาวนาผู้ปลูกข้าวที่มีจำนวนถึง 3.7 ล้านครัวเรือน ที่ส่วนหนึ่งประสบปัญหาน้ำเขื่อนในปีนี้ไม่เพียงพอสำหรับการปลูกข้าวนาปรัง โดยเมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูนาปีน้ำในเขื่อนก็ถูกใช้ไปก่อนหน้าร่อยหรอไปมากแล้ว แม้ว่าระดับน้ำในเขื่อนที่สะสมในปีนี้จะน้อยกว่าปีก่อนไม่มาก แต่ปัญหาสำคัญคือมีภาวะฝน ทิ้งช่วงและปริมาณน้ำฝนที่มีน้อยกว่าค่าปกติ ทำให้ชาวนาในเขตชลประทานซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็นหนึ่งในสี่ของชาวนาทั้งหมดรอฝนไม่ไหวและต้องไปเอาน้ำที่แทบหมดเขื่อนแล้วมาใช้ ขณะที่ชาวนากลุ่มที่เหลือจำนวนสามในสี่อยู่นอกเขตชลประทานไม่มีทางเลือกก็ต้องรอฝนกันต่อไป ในบทความนี้จะได้ชี้แจงให้เข้าใจว่าทำไมฝนถึงทิ้งช่วงในปีนี้ และในระยะสั้นปัญหาภัยแล้งในครั้งนี้จะรุนแรงเพียงใด รวมถึงจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร
เมื่อมีคำถามว่าทำไมฝนทิ้งช่วงหรือทำไมถึงแล้ง ปรากฏการณ์เอลนีโญมักจะเป็นคำตอบยอดนิยม ซึ่งในปีนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นเคยว่าฝนที่ตกน้อยในเดือน พ.ค. เป็นผลจากปรากฏการณ์เอลนีโญหรือสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงในมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งมีสัญญาณบ่งชี้จากอุณหภูมิผิวน้ำที่ร้อนขึ้น (ภาพ 1) ในช่วงที่ผ่านมาสังเกตได้ว่าปรากฏการณ์เอลนีโญเริ่มก่อตัวระดับอ่อนขึ้นแล้ว โดยในปัจจุบันความรุนแรงของปรากฏการณ์เอลนีโญเริ่มปรับตัวสูงขึ้นเข้าสู่ระดับปานกลางแม้ว่าค่าเฉลี่ย 3 เดือนยังอยู่ในระดับอ่อน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปริมาณฝนตกในเดือน พ.ค. ปีนี้น้อยลงมากเมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันปีก่อน
ในระยะถัดไปองค์การมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration: NOAA) คาดการณ์ว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญอาจจะส่งผลยาวถึงปีหน้า ทำให้ หลายฝ่ายเริ่มกังวลกันว่าปัญหาภัยแล้งในปีนี้จะรุนแรงมากกว่าทุกครั้ง อย่างไรก็ดีในขณะนี้ระดับความรุนแรงของปรากฏการณ์เอลนีโญยังอยู่ระดับต่ำกว่าระดับที่เคยทำให้เกิดสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงครั้งใหญ่ในอดีตปี 2541 และจากการศึกษาในอดีตถึงความสัมพันธ์ระหว่างปรากฏการณ์เอลนีโญกับสภาวะฝนและอุณหภูมิของประเทศไทยพบว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญจะทำให้ฝนตกในประเทศไทยน้อยลงมากโดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนจากฤดูร้อนเข้าสู่ต้นฤดูฝนเช่นในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงกลางและปลายฤดูฝนอิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนีโญจะเบาบางลง สังเกตได้จากปริมาณฝนทุกปีจะค่อย ๆ ตกมากขึ้นไปจนสูงสุดในช่วงเดือน ส.ค. - ก.ย. (ภาพ 2) ประกอบกับในปีนี้สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) คาดการณ์ว่าจะมีปรากฏการณ์ความแปรปรวนของอุณหภูมิผิวน้ำในมหาสมุทรอินเดีย และการเกิดคลื่นยักษ์ในขั้วโลกใต้ ซึ่งจะหอบฝนจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้เข้ามาพร้อมกันโดยเข้าสู่ด้านตะวันตกของประเทศไทย ทำให้คาดว่าจะช่วยให้มีฝนตกเพิ่มขึ้นในช่วงเดือน ส.ค. - ก.ย. ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำฝนในระยะถัดไปน้อยกว่าปีก่อนไม่มากนัก
การประเมินความเสี่ยงของปัญหาภัยแล้งต่อเศรษฐกิจไทยอาจประเมินได้ 2 กรณี คือ ในกรณีที่ 1: โดยไม่ต้องอาศัยน้ำในเขื่อน หากฝนกลับมาตกได้ในเดือน ก.ค. ผลกระทบจากภัยแล้งที่ทำให้ข้าวนาปี บางส่วนเสียหายเพราะขาดแคลนน้ำและชาวนาต้องเลื่อนการปลูกข้าวนาปีออกไปก็จะอยู่ในวงจำกัด โดย ชาวนาสามารถกลับมาทำนาและเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ซึ่งหากเทียบกับข้อมูลในอดีต 10 ปีที่ผ่านมาผลผลิตข้าวน่าจะลดลงประมาณ 5-10% และในกรณีที่ 2: หากมีฝนตกน้อยมากในครึ่งหลังของปีนี้ และ ปรากฏการณ์เอลนีโญจะมีความรุนแรงมากจนถึงระดับเดียวกับปี 2541 ซึ่งหากเป็นกรณีนี้บริษัทวานิชธนกิจชื่อดังของสหรัฐฯ Goldman Sachs ประเมินว่าภัยแล้งจะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยลดลงไป 0.5% เป็นผลจากการลดลงมากของผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าวนาปีจะลดลงไม่น้อยกว่า 20% จากปีก่อน ทำให้รายได้และการใช้จ่ายของเกษตรกรลดลงไปมาก ซึ่งในที่สุดจะส่งผลต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งในปีนี้ หากพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น คาดว่าระดับความรุนแรงและผลกระทบของภัยแล้งมี แนวโน้มน่าจะเป็นกรณีแรกมากกว่ากรณีหลัง
ในท้ายสุด แม้ว่าปัญหาภัยแล้งในปีนี้อาจจะไม่รุนแรงมากเท่ากับระดับในอดีตที่เคยรุนแรงมากเช่นปี 2541 แต่หากพิจารณาแนวโน้มวงจรการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญที่เปลี่ยนแปลงไปมากหลังปี 2550 (ภาพ 1)พบว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญเกิดถี่ขึ้นเกือบทุกปีและส่งผลให้อากาศแปรปรวนมากกว่าในอดีต การเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาภัยแล้งที่มีแนวโน้มเกิดบ่อยขึ้นและทวีความรุนแรงมากขึ้น มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ของประเทศประกอบอาชีพเกษตรกรรม และต้องดำรงชีวิตอยู่ด้วยการอาศัยทรัพยากรธรรมชาติ คือแหล่งน้ำเป็นปัจจัยหลักในการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ซึ่งผลผลิตทางการเกษตรมีทั้งเพื่อการส่งออกและเป็นอาหารแก่ประชากรของประเทศ ดังนั้น ทุกภาคส่วนจึงต้องช่วยกันแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างจริงจังและยั่งยืน โดยคำนึงถึงความสอดคล้องระหว่างธรรมชาติและการพัฒนา เกษตรกรต้องเริ่มปรับตัวเพื่อรับมือกับปัญหาภัยแล้งในระยะยาว เช่น เลื่อนฤดูกาลเพาะปลูกให้เหมาะสมกับสภาวะอากาศ ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยหรือพืชอายุสั้น ใช้พันธุ์พืชที่ทนแล้ง เปลี่ยนวิธีการให้น้ำ และทำอาชีพเสริม เป็นต้น ขณะที่ภาครัฐก็ต้องส่งเสริมการปรับตัวอย่างต่อเนื่องรวมถึงผลักดันการเพาะปลูกแบบโซนนิ่งให้เป็นรูปธรรมเพื่อก่อให้เกิดโครงสร้างการเพาะปลูกที่เหมาะสม และสิ่งที่สำคัญและเร่งด่วนคือ การบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการและยั่งยืนที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน โดยภาครัฐ เกษตรกร และชุมชนต้องร่วมมือกันเพื่อจัดหาจัดสรรและจัดการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อผลประโยชน์ของทุกคนในสังคมอย่างแท้จริง
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย