ระบบสาธารณสุขไทยยึดหลัก “ป้องกันดีกว่ารักษา”
ในปี 2562 รายงาน Global Health Security Index จัดอันดับให้ไทยเป็นที่ 6 ของประเทศที่มีความมั่นคงด้านสาธารณสุขสูงสุด [2] โดยมี 3 องค์ประกอบย่อยที่ติด 5 อันดับแรก คือ การป้องกันโรค การตอบสนองที่เร็ว และระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง ล่าสุด องค์กร Global COVID-19 (GCI) จัดให้ไทยเป็นประเทศที่มีดัชนีการฟื้นตัวจากโควิด 19 สูงสุด อันดับ 2 รองจากออสเตรเลีย [2] และยังได้รับคำชมจาก WHO และนานาชาติว่ารับมือกับโรคโควิด 19 ได้ดี จากการมีระบบดูแลสุขภาพในระดับครอบครัวที่ดีจากการทำงานของอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ที่มีอยู่ร่วมล้านคนทั่วประเทศ
ความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขไทยมาจากการวางรากฐานที่มั่นคงตั้งแต่อดีต การจัดตั้งกรมสาธารณสุขในปี 2461 ด้วยหลักคิดคือ “ป้องกันดีกว่ารักษา” ซึ่งยังทันสมัยแม้จะผ่านมากว่า 100 ปี [3] โดยมีการวางรากฐานป้องกันโรคอย่างเป็นระบบ และสั่งสมความรู้ด้านระบาดวิทยามาจากประสบการณ์ในอดีต อาทิ การควบคุมไข้ทรพิษ อหิวาตกโรค และกาฬโรค การรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดต่อจนปัจจุบันไทยมีบริการวัคซีนพื้นฐานกว่า 10 ชนิด [4] และมีความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนสูงถึง 90% [5] และการควบคุมการแพร่ระบาดของเอชไอวีได้ดีจนเป็นแบบอย่างระดับโลก [6] โดยปัจจัยสำคัญของความสำเร็จนี้คือ การมีผู้นำที่ให้ความสำคัญ การทำแผนควบคุมโรคแบบบูรณาการ การดำเนินการเชิงรุกผ่านระบบการรักษาที่ครอบคลุม และความร่วมมือจากท้องถิ่นและประชาชน กลไกเหล่านี้ถูกนำมาใช้กับการควบคุมโรคโควิด 19 ในครั้งนี้และได้ผลสำเร็จเป็นอย่างดี
สาธารณสุขไทย : เข้มแข็ง ครอบคลุม และคุ้มค่า
หากใช้หลักเศรษฐศาสตร์สุขภาพที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสุขอนามัยของประชาชน พบว่า ไทยลงทุนในงบประมาณด้านสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องราว 10% ของงบประมาณแต่ละปี ด้วยอัตราเติบโตเฉลี่ยที่ 5.3% ต่อปี การเพิ่มทรัพยากรเข้าไปอย่างต่อเนื่องส่งผลให้สาธารณสุขไทยมีความเข้มแข็งใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ (1) โครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขที่เน้นระบบสุขภาพชุมชน สาธารณสุขมูลฐาน และบริการปฐมภูมิ โดยปัจจุบันไทยมีหน่วยบริการทางการแพทย์สังกัดกระทรวงสาธารณสุขกระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 1 หมื่นแห่ง มีเตียงรองรับผู้ป่วยกว่า 1 แสนเตียง รวมทั้งมีระบบแพทย์ชุมชนและ อสม. (ภาพที่ 1) (2) ความรู้และบุคลากรการแพทย์ ไทยผลิตแพทย์ได้ปีละกว่า 2,800 คน มีโรงเรียนแพทย์ที่มีคุณภาพกว่า 20 แห่ง โดยปี 2561 มีสัดส่วนบุคลากรการแพทย์ 44 คน ต่อประชากร 10,000 คน แม้จะต่ำกว่าหลายประเทศ แต่ยังมีผลค่อนข้างดี (ภาพที่ 2) และ (3) ความครอบคลุม (Coverage) ข้อมูลปี 2562 ชี้ว่าสวัสดิการรักษาพยาบาล 3 ระบบหลัก ได้แก่ สิทธิข้าราชการ ประกันสังคม และบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า ครอบคลุมประชากรถึงเกือบร้อยละ 100 ขณะที่นโยบายด้านหลักประกันยา ก็มีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาที่จำเป็นได้ในราคาที่ถูกลง [7]
ขยับเร็ว เร่งสื่อสาร ปรับตัว ร่วมมือ และเชื่อมชุมชน
หลังการประกาศให้โควิด 19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ก็มีกลไกควบคุมโรคเชิงรุก ตลอดจนการตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) นับว่าทางการไทยยกระดับปฏิบัติการอย่างรวดเร็ว รวมทั้งได้ให้ความสำคัญกับการสื่อสารเชิงรุกผ่านการแถลงของ ศบค. ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมทางการสื่อสารและเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสร้างความตื่นรู้แก่ประชาชน ทำให้ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี
กลไกถัดมาคือการปรับตัวและร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ติดตามและเฝ้าระวัง ภาคประชาชนให้ความร่วมมือในการป้องกันโรค บริษัทเอกชนอนุญาตให้พนักงานทำงานที่บ้าน ร้านค้ามีการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงก่อนเข้ารับบริการ ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ปรับตัวด้วยการออกแบบระบบคัดกรองผู้ป่วย มีบริการจัดส่งยาไปที่บ้าน กลไกสุดท้ายที่ถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการควบคุมการแพร่ระบาดในระดับท้องถิ่น คือ การมีระบบแพทย์ชุมชนและ อสม. โดยทีมแพทย์และพยาบาลลงพื้นที่ให้ความรู้กับชุมชน และมีการออกแบบระบบสาธารณสุขชุมชน ขณะที่ อสม. ประจําหมู่บ้านมีบทบาทสำคัญในการสื่อสารกับชุมชนอย่างใกล้ชิด ทั้งการสำรวจ ระบุผู้ป่วยที่ต้องสงสัย ตลอดจนการติดตามและกักตัวผู้สัมผัสใกล้ชิด ซึ่งช่วยลดโอกาสการแพร่กระจายของโรคอย่างมีประสิทธิภาพ
ความท้าทายและโอกาสของสาธารณสุขไทยหลังโควิด 19
สถานการณ์ที่ผ่านมาถือเป็นบททดสอบสำคัญที่ช่วยถอดบทเรียนให้สังคมไทย เช่น (1) การวางระบบจัดสรรทรัพยากรการแพทย์ให้เป็นไปตามกลไกตลาด เพื่อลดปัญหาการขาดแคลน และการกักตุนเพื่อเก็งกำไร (2) การเร่งพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล ต่อยอดจากช่วงการแพร่ระบาดที่สถิติการเข้ารับบริการในสถานพยาบาลลดลงมาก และจัดส่งยาไปที่บ้านผู้ป่วยแทน และ (3) การลงทุนด้านการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมทางการแพทย์ของไทยให้มากขึ้น อาทิ การสนับสนุนการวิจัยด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์
ท้ายที่สุด ผู้เขียนเห็นว่าในวิกฤตยังมีโอกาส ภาคธุรกิจไทยควรใช้ความเข้มแข็งด้านสาธารณสุขและการท่องเที่ยว สร้างโอกาสทางธุรกิจด้วยการต่อยอดเทรนด์ Wellness Tourism ซึ่งไทยมีความได้เปรียบในหลายด้าน ผู้ประกอบการต้องสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ ด้านภาครัฐควรให้การสนับสนุนผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น ภาษี หรือ Travel Bubble เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ทั้งจากคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
>> Download PDF
เอกสารอ้างอิง
[1] นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ (2563), บทสัมภาษณ์ส่องสังคมไทยหลังโควิด 19 ตอกย้ำความสำคัญการกระจายอำนาจ ปูทางสู่การปฏิรูปประเทศ, กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.), 1 พ.ค.
[2] Nuclear Threat Initiative and Johns Hopkins Center for Health Security (2019), Global Health Security Index 2019.
[3] สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (2561), 100 ปีการสาธารณสุขไทย (พ.ศ. 2461–2561).
[4] กระทรวงสาธารณสุข (2562), ตำราวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ปี 2562, กองโรคป้องกันด้วยวัคซีน กรมควบคุมโรค.
[5] กระทรวงสาธารณสุข (2560), รายงานประจำปี 2560 กองโรคป้องกันด้วยวัคซีน, กองโรคป้องกันด้วยวัคซีน กรมควบคุมโรค.
[6] Ainsworth M., C. Beyrer and A. Soucat (2000), การติดตามสถานการณ์ทางสังคมของประเทศไทย: การแก้ปัญหาเอดส์ของไทย สานต่อความสำเร็จมุ่งสู่อนาคต, ธนาคารโลกแห่งประเทศไทย.
[7] Tapanee Phueksuwan (2014), Compulsory Licensing Policy Implementation in Thailand, Doctoral Dissertation, National Institute of Development Administration (NIDA).