​การ์ดไม่ตกด้วยการยกระดับ TTI (Test-Trace-Isolate)

ดร. รวิสม์ประภา รักเผ่าพันธ์ ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ


ประเทศไทยถูกล็อคดาวน์ยาวนานกว่า 3 เดือน เพื่อหยุดการแพร่กระบาดของโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ต้องหยุดชะงักลงไป นับเป็นต้นทุนราคาแพงสำหรับเศรษฐกิจและสังคมไทย แต่หากมองในด้านสาธารณสุข ประเทศไทยถือว่าจัดการวิกฤตโควิด-19 ได้ดี สามารถรักษาสถิติไม่มีผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศได้ต่อเนื่องร่วมเดือน และถูกจัดอันดับจาก Global COVID-19 ให้เป็นประเทศที่สามารถฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 ได้เป็นลำดับต้น ๆ ของโลก ทางการจึงเริ่มเปิดเมืองอย่างเป็นขั้นตอน กิจกรรมเศรษฐกิจเริ่มฟื้นกลับมา คนกลับมารวมตัวกันมากขึ้น ดัชนี google mobility ที่สะท้อนการเคลื่อนไหวของประชาชนปรับเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ รวมทั้งโรงเรียนเริ่มเปิดเทอมในเดือนกรกฎาคม หลายคนจึงเริ่มกังวลว่าเราพร้อมรับมือหรือไม่หากมีการระบาดรอบสอง (Second wave) ดังนั้น สิ่งสำคัญสำหรับไทย คือการ์ดต้องไม่ตก โดยการยกระดับ TTI (Test-Trace-Isolate) น่าจะช่วยรักษาการ์ดได้


TTI กลไกตัดตอนโควิด-19 ในต่างประเทศที่เข้มแข็ง

ประเทศที่เกิด second wave และควบคุมได้ดี โดยไม่ต้องล็อคดาวน์ประเทศนานนับเดือนซ้ำ เพราะได้พัฒนา TTI จนเข้มแข็ง เหมือนกับ “เกราะ” ปกป้องเมือง

ปรากฎการณ์ Second wave เท่าที่เห็นในต่างประเทศมักจะเกิดขึ้นตอนเปิดเมือง เหมือนคลื่นใต้น้ำก่อตัวเงียบ ๆ จากความหย่อนยานของ social distancing ซึ่งในไทยก็เริ่มเห็นภาพนี้ สถานที่ต่าง ๆ คนแน่นขึ้น เริ่มไม่รักษาระยะห่าง ใส่หน้ากากน้อยลง บางส่วนก็ละเลยการ scan QR code หรือไม่ลงชื่อก็มีให้เห็น ประเทศที่เกิด second wave และควบคุมได้ดี เช่น ไต้หวัน จีน เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย สามารถตัดตอนการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องล็อคดาวน์ประเทศนานนับเดือนซ้ำ เพราะได้พัฒนา TTI จนเข้มแข็ง เหมือนกับ “เกราะ” ปกป้องเมือง และเมื่อจัดการปัญหาได้เร็วก็ช่วยสร้างความเชื่อมั่นว่าเอาโควิดอยู่ ทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อได้

กลไกของ TTI ประกอบด้วยการทดสอบ (Test) การแกะรอย (Trace) และการแยกตัว (Isolate) โดยทั้งสามส่วนจะต้องทำงานเชื่อมโยงกันอย่างมีประสิทธิภาพและมากเพียงพอ จึงทำให้สามารถคุมการแพร่ระบาดรวดเร็วทันการณ์ ทั้งในส่วนของ

(1) ทดสอบ ให้รู้ว่าใครเป็น “ผู้ติดเชื้อ” ประเภทแรกคือ Diagnostic test เพื่อให้รู้ว่ากำลังติดเชื้อและเป็นโรคในขณะนั้นหรือไม่ ตัวอย่างเช่น เทคนิค RT-PCR ซึ่งองค์การอนามัยโลกแนะนำและไทยใช้เป็นหลักในปัจจุบัน อีกประเภทคือ Serology test เป็นการทดสอบว่าคน ๆ นั้นมีสารภูมิต้านทานที่เคยสู้กับเชื้อโควิด-19 หรือไม่ ถ้ามีแสดงว่าเคยติดเชื้อมาแล้ว แต่อาจไม่มีอาการจึงไม่รู้ตัวและไม่รู้ว่าแพร่เชื้อให้ใครแล้วบ้าง

(2) แกะรอย ให้รู้ว่าใครเป็น “ผู้ติดต่อ” ที่มีโอกาสแพร่เชื้อ หัวใจสำคัญคือต้องหาให้ได้เร็วและครบทุกคนเพื่อนำมาทดสอบเชื้อ

(3) แยกตัว “ผู้ติดเชื้อ” มารักษา และกักตัว “ผู้ติดต่อ” ไม่ให้แพร่เชื้อ



ประเทศไทยการ์ดไม่ตกต้องยกระดับ TTI

เมื่อโควิด-19 ไม่ได้หายไปไหน และยังไม่มีวัคซีนป้องกันหรือยาต้านไวรัส การเดินหน้าเปิดเมืองแบบไม่ให้สะดุดจึงขึ้นอยู่กับความสามารถในการจัดการหากโรคกลับมาระบาดอีก ประเทศไทยควรยกระดับ TTI ให้เข้มแข็ง

ประการแรก ควรเพิ่มศักยภาพการทดสอบให้มากขึ้น งานศึกษาของ TDRI พบว่าการทดสอบหาเชื้อเป็นจำนวนมากขึ้นช่วยลดโอกาสการปิดเมืองอีกได้ และถ้ากิจกรรมเศรษฐกิจไทยฟื้นกลับมาใกล้ระดับปกติ อาจจำเป็นต้องทดสอบถึง 5 หมื่นคนต่อวัน ขณะที่ปัจจุบันศักยภาพการทดสอบของไทยอยู่ที่ 2 หมื่นคนต่อวัน กลยุทธ์ทำการทดสอบจำนวนมาก ๆ ถูกใช้ได้ผลในหลายประเทศ ตัวอย่าง ออสเตรเลียทดสอบ 200 เท่าของจำนวนผู้ติดเชื้อ ไต้หวัน 167 เท่า เกาหลีใต้ 83 เท่า และล่าสุดเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2563 ในกรุงปักกิ่งทดสอบมากถึง 2.3 ล้านคน ภายในเวลา 2 สัปดาห์ และสามารถตัดตอนการแพร่ระระบาดรอบสองได้สำเร็จ นอกจากการเพิ่มปริมาณทดสอบแล้ว การกระจายประเภททดสอบก็สำคัญ ดังเช่นกรณีสิงคโปร์ที่ใช้ทั้ง Diagnostic และ Serology test คู่กันทำให้สามารถค้นพบผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการในหมู่แรงงานต่างด้าว และควบคุมคลื่นระบาดระลอกสองได้เร็ว

ประการที่สอง การแกะรอยควรพัฒนาให้รวดเร็วและครบถ้วน โดยเฉพาะเทคโนโลยีแกะรอยแบบดิจิทัล หรือ digital contact tracer ประเทศชั้นนำที่ควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี ใช้ทั้งบุคลากรที่ผ่านการฝึกอบรมร่วมกับการแกะรอยแบบดิจิทัลทำให้สามารถแกะรอยได้จำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว ตัวอย่างระบบในต่างประเทศที่ใช้ผ่าน Application ในโทรศัพท์มือถือและบัตรผ่านเดินทาง เช่น Chinese health code system ของจีน TraceTogether ของสิงคโปร์ Ranking C-19 ของไอซ์แลนด์ และ COVIDSafe ของออสเตรเลีย อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาของ Oxford University’s Big Data Institute พบว่าการแกะรอยแบบดิจิทัล จะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อมีผู้ใช้งานอย่างน้อยร้อยละ 60 ของประชากร จึงต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนในการให้ข้อมูลและความสามารถของภาครัฐในการสร้างความเชื่อมั่นว่าข้อมูลส่วนบุคคลจากการแกะรอยแบบดิจิทัลจะได้รับการคุ้มครอง และไม่ถูกล่วงละเมิดเกินขอบเขต


ประชาชนต้องตั้งการ์ดสูงเช่นกัน

วิถีชีวิตใหม่ไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนวิธีทำงานหรือการใช้ชีวิต แต่รวมไปถึงการปรับ mindset ที่ทุกคนให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพกายและใจอย่างจริงจัง รวมทั้งดูแลป้องกันตนเอง ทำตามคำแนะนำของสาธารณสุขเพื่อให้สังคมส่วนรวมมีสุขลักษณะที่ดีอย่างต่อเนื่อง สร้างมาตรฐานใหม่ของการอยู่ร่วมกันในสังคมตามแนวคิด “we society” ที่ทุกคนใส่ใจไม่เพียงเฉพาะความปลอดภัยของตนเองแต่ใส่ใจผู้อื่นด้วย

แน่นอนว่าการยกระดับ TTI และการยกการ์ดไม่ให้ตกเป็นต้นทุนที่ทุกคนต้องจ่าย ทั้งงบประมาณภาครัฐและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของพวกเราคนไทย แต่เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเพราะจะช่วยให้เราสามารถตัดวงจรการแพร่ระบาดได้ทันและเอาโควิด-19 ได้อยู่หมัด โดยไม่ต้องกลับไปพึ่งการล็อคดาวน์ที่มีต้นทุนราคาแพงทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมซ้ำ


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย


>>