​การประเมินสุขภาพระบบการเงินของไทยตามโครงการ FSAP

นางสาววันวิธู โพธิทัต
ฝ่ายนโยบายการกำกับสถาบันการเงิน


โดยปกติ เราต้องตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีเพื่อเช็คความแข็งแรงของร่างกาย และดูว่าต้องปรับพฤติกรรมหรือเพิ่มลดการออกกำลังกายอย่างไรบ้าง ในทำนองเดียวกันกับระบบการเงินที่จะต้องมีการตรวจสุขภาพ เพื่อให้รู้ว่าระบบการเงินของเรามีเสถียรภาพเพียงใดเมื่อเทียบกับสากล หรือควรปรับปรุงเรื่องใดเป็นพิเศษ จึงเป็นที่มาของการที่ประเทศไทยขอเข้ารับการประเมินภาคการเงินตามโครงการ Financial Sector Assessment Program หรือ ‘FSAP - เอฟแซพ’ ซึ่งเป็นการประเมินสุขภาพระบบการเงินของไทยโดยผู้เชี่ยวชาญจากสากล และนับเป็นครั้งที่ 2 ที่หน่วยงานกำกับดูแลของไทยสมัครเข้าประเมินในโครงการนี้ โดยห่างจากการประเมินครั้งแรกถึงกว่า 10 ปี (ครั้งแรกประเมินในปี 2550) จึงนับว่าเป็นเวลานานพอสมควรที่จะต้อง ‘ทบทวนผลประเมิน’ ให้เหมาะสมเพื่อสะท้อนพัฒนาการในหลายด้านที่หน่วยงานต่าง ๆ ร่วมมือร่วมใจผลักดันกันมาอย่างต่อเนื่อง (หลายโครงการมาจากข้อแนะนำของการประเมิน FSAP ครั้งแรก) ซึ่งผลประเมินที่ได้รับก็ถือเป็นข่าวดี เพราะในมุมมองของสากล ‘ภาพรวมสุขภาพการเงินของประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมาก’


การประเมิน FSAP สำคัญอย่างไร :

FSAP เป็นการประเมินที่สากลให้การยอมรับ โดยประเทศชั้นนำของโลกต้องเข้าประเมินทุก 5 ปี ขณะที่ประเทศอื่นๆ รวมถึงเพื่อนบ้านก็ทยอยเข้ารับการประเมิน FSAP อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นโอกาสที่จะช่วยสะท้อนการดำเนินการของผู้กำกับดูแล เพื่อให้ทราบจุดแข็งจุดอ่อนต่าง ๆ และดูว่าการกำกับดูแลอยู่ในระดับใดเมื่อเทียบกับสากล รวมถึงได้แนวทางในการจัดลำดับความสำคัญของนโยบายต่าง ๆ ซึ่งหลายโครงการก็สำเร็จได้จากการเตรียมการเพื่อเข้าประเมิน FSAP และสิ่งสำคัญที่สุดคือผลการประเมินจะเป็น ‘รายงานผลการตรวจสุขภาพการเงินของประเทศ’ ที่แสดงต่อนานาชาติอย่างน้อยอีก 5 - 10 ปี (หรือจนกว่าจะเข้าประเมินรอบใหม่) ซึ่งถ้าผลประเมินตามมาตรฐานของสากลแสดงว่าประเทศ ‘มีสุขภาพการเงินดี’ก็จะได้รับการยอมรับในคุณภาพการกํากับดูแลและความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศ ซึ่งจะช่วยสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกอันส่งผลต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และเพิ่มความมั่นใจในการเข้ามาทำธุรกิจการค้าและลงทุนในประเทศมากขึ้น ดังนั้น ธปท. และหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง จึงมีการเตรียมความพร้อมและร่วมมือกันอย่างเต็มที่เพื่อให้การเข้าประเมินครั้งนี้เป็นประโยชน์ตามที่ตั้งใจไว้


การประเมิน FSAP ทำอย่างไร :

เริ่มตั้งแต่การกำหนดขอบเขตเรื่องที่จะประเมิน ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญเพราะต้องมั่นใจว่าผู้ประเมินเข้าใจสภาพแวดล้อมและโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยทั้งหมด โดยสิ่งที่ทางการไทยและผู้ประเมินเห็นสอดคล้องกันคือ ต้องประเมินภาคส่วนที่มีบทบาทหลักในระบบการเงิน ได้แก่ ภาคธนาคาร ภาคตลาดทุน ภาคธุรกิจประกันภัย และโครงสร้างพื้นฐานชำระเงินที่สำคัญ ในแบบเข้มข้นกล่าวคือ มีการเทียบการกำกับดูแลด้านต่าง ๆ กับมาตรฐานสากลอย่างละเอียด และให้คะแนนตามระดับความสามารถในการปฏิบัติได้สอดคล้องกับมาตรฐาน ซึ่งแต่ละคะแนนที่ได้มานั้น ถือว่าไม่ง่ายเลย เพราะต้องผ่านการพิจารณาของผู้ประเมินจากต่างประเทศเกือบ 20 คน ที่เดินทางมาไทยถึง 3 ครั้ง ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา และใช้เวลา 1 เดือนเต็ม ในการพิจารณากฎเกณฑ์ ตรวจสอบข้อมูลเอกสารการปฏิบัติงานต่าง ๆ รวมถึงสัมภาษณ์หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อยืนยันความเข้าใจที่ถูกต้องและมีการปฏิบัติจริง ซึ่งนอกจากไทยจะเข้ารับการประเมินในส่วนภาคการเงินที่มีบทบาทหลักในระบบแล้ว ยังเข้ารับการประเมินแบบขอความเห็นและคำแนะนำเพื่อพัฒนานโยบายต่าง ๆ ในหลายด้าน เช่น ระบบการออมเพื่อการเกษียณโดยภาคเอกชน

การประเมินสุขภาพการเงินตาม FSAP ครั้งนี้ เป็นอีกก้าวสำคัญในการยกระดับการกำกับดูแลภาคการเงินของไทยให้ทัดเทียมสากล และช่วยยืนยันสุขภาพการเงินของไทยว่า ‘มีเสถียรภาพและมีความมั่นคงในการรองรับความผันผวนต่าง ๆ ได้ดี รวมถึงมีแนวทางการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ เป็นไปตามมาตรฐานสากลในระดับดีถึงดีมากและเทียบเคียงได้กับประเทศชั้นนำ’ (สามารถอ่านรายละเอียดรายงานผลการประเมิน FSAP ของไทยได้ในเว็บไซต์ของ IMF และ World Bank ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา) ซึ่งท้ายที่สุด แม้ว่าผลที่ออกมาจะเป็นที่น่าพอใจ และสะท้อนการทำหน้าที่ของผู้กำกับดูแลได้เป็นอย่างดี แต่ผู้ประเมินก็มีข้อแนะนำเพื่อพัฒนาในประเด็นต่าง ๆ เช่น การติดตามความเปราะบางของหนี้ครัวเรือน การพิจารณายกระดับการกำกับดูแลหรือใช้มาตรการต่าง ๆ กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่รับเงินฝาก รวมถึงสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ซึ่งก็สอดคล้องกับการดำเนินการของทางการในปัจจุบันที่ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อความท้าทายต่าง ๆ รวมถึง ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาการกำกับดูแลเพื่อดูแลเสถียรภาพของระบบการเงินโดยรวม

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

>>​Download​​ PDF