​ผู้นำ IMF คนใหม่กับความท้าทายที่รออยู่

​นายสุพริศร์ สุวรรณิก
ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) เพิ่งประกาศผลการแต่งตั้งผู้นำคนใหม่อย่างเป็นทางการ ได้แก่ นางคริสตาลินา จอร์เจียวา (Kristalina Georgieva) ซึ่งเข้าดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2562 ต่อเนื่องไปจนครบกำหนด 5 ปี ต่อจากนางคริสติน ลาการ์ด (Christine Lagarde) ที่หมดวาระลงและกำลังจะไปดำรงตำแหน่งเป็นประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) คนใหม่ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถือเป็นเหตุการณ์ที่ทั่วโลกจับตามอง เพราะอย่างที่ท่านผู้อ่านทราบดีว่า IMF เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการสอดส่องดูแลเศรษฐกิจ ให้ความช่วยเหลือทางการเงินและทางวิชาการแก่ประเทศสมาชิก (ซึ่งมีมากถึง 189 ประเทศ) เพื่อให้ระบบการเงินระหว่างประเทศมีเสถียรภาพ บางขุนพรหมชวนคิดวันนี้จึงขอพาท่านผู้อ่านมารู้จักกับผู้นำ IMF คนใหม่ และความท้าทายที่รอเธออยู่กันครับ

คริสตาลินา จอร์เจียวา คือ สุภาพสตรีนักเศรษฐศาสตร์วัย 66 ปีชาวบัลแกเรีย เธอจบปริญญาเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์โดยตรง (ต่างจากนางลาร์การ์ดที่จบปริญญาโทด้านกฎหมาย) และถือเป็นสุภาพสตรีคนที่ 2 ในประวัติศาสตร์ที่ได้นั่งเก้าอี้ผู้นำ IMF และเป็นผู้ที่มาจากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่คนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ เธอยังมีประสบการณ์การทำงานที่โดดเด่น เคยดำรงตำแหน่งเป็นประธานธนาคารโลก (World Bank) และมีบทบาทสำคัญในหลายคณะทำงานในคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission)

อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกปัจจุบันที่ชะลอตัวและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ทำให้เส้นทางต่อไปของนางจอร์เจียวาในฐานะผู้นำ IMF ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ โดยนอกจากการเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีสมาชิกประเทศยักษ์ใหญ่ขัดแย้งกันเอง อาทิ สหรัฐฯ กับจีน ความท้าทายที่เธอต้องเผชิญยังมีอยู่อีกมาก เท่าที่สรุปได้มี 2 ประการดังนี้

ประการแรก การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศที่ประสบปัญหา โดยเฉพาะอาร์เจนตินา ย้อนกลับไปเมื่อปี 2561อาร์เจนตินาประสบปัญหาเงินทุนสำรองร่อยหรอและเงินเฟ้อสูง ทำให้รัฐบาลยื่นขอความช่วยเหลือจาก IMF เป็นจำนวนเงินสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ถึงกว่า 57,000 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบกับจำนวนเงินที่เคยช่วยประเทศไทยสมัยปี 2540 ที่ประมาณ 17,000 ล้านดอลลาร์ สรอ.) ภายใต้เงื่อนไขที่อาร์เจนตินาต้องมีการปฏิรูปหลายด้าน โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจ เพื่อช่วยให้เกิดเสถียรภาพกลับคืนมา แต่สถานการณ์ของประเทศกลับยังคงไม่ดีขึ้น โดยล่าสุด รัฐบาลอาร์เจนตินาต้องขอเลื่อนชำระหนี้ IMF กว่า 7,000 ล้านดอลลาร์ สรอ. และยังถูกซ้ำเติมด้วยผลการเลือกตั้งขั้นต้นเมื่อเดือน ส.ค. ที่ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน นายเมาริซิโอ มากรี (Mauricio Macri) ซึ่งมีแนวคิดปฏิรูปประเทศและมีนโยบายรัดเข็มขัดต่าง ๆ กลับพ่ายแพ้คะแนนเสียงต่อนายอัลเบร์โต้ เฟอร์นันเดซ (Alberto Fernandez) ผู้ท้าชิงตำแหน่งที่มีแนวคิดประชานิยมและอาจกระตุ้นให้เงินเฟ้ออาร์เจนตินากลับมาสูงขึ้นมากอีก ทั้งนี้ นายเฟอร์นันเดซต้องการขอเจรจาปรับโครงสร้างหนี้และเงื่อนไขต่าง ๆ กับ IMF ทำให้มีความเป็นได้สูงว่า งานใหญ่ในการเจรจากับ (ว่าที่) ประธานาธิบดีอาร์เจนตินาคนใหม่จะถือเป็นงานหินต่อไปที่นางจอเจียร์วาต้องเผชิญ เพราะหากเกิดการผิดนัดชำระหนี้ต่อเนื่องแล้ว นอกจากเงินทุนที่ IMF จะสูญเสียไปเปล่า ๆ ยังถือว่า IMF ล้มเหลวในการสร้างเสถียรภาพของประเทศสมาชิกด้วย

นอกจากอาร์เจนตินาแล้ว ประเทศสมาชิกที่ขอความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF อยู่เป็นประจำ ได้แก่ ยูเครนและปากีสถาน ยังคงไม่สามารถสร้างเสถียรภาพให้กับเศรษฐกิจและระบบการเงินของตนเองได้ตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้ และมีแนวโน้มที่จะขอรับเงินช่วยเหลือจาก IMF เพิ่มเติมในอนาคตอีกด้วย

ประการที่สอง แม้ว่าปัจจุบัน IMF จะยังคงมีเงินทุนรวมสูงกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. และพร้อมให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศสมาชิกก็ตาม แต่ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้บริจาคเงินรายใหญ่ที่สุดของ IMF ได้ประกาศถอนตัวในการให้เงินทุน IMF ในหลายโครงการ ดังนั้น การหาเงินทุนเพิ่มเติมของ IMF จึงเป็นภารกิจสำคัญอีกประการหนึ่งที่นางจอร์เจียวาต้องเร่งทำ เพราะในระยะข้างหน้า มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่เงินทุนของ IMF ในปัจจุบันอาจมีไม่เพียงพอที่จะเข้าช่วยเหลือประเทศสมาชิก หากประเทศสมาชิกประสบปัญหาขาดสภาพคล่องหรือเกิดวิกฤตการเงินขึ้น ภายใต้เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และอาจส่งผลให้วิกฤตลุกลามเป็นโดมิโนไปสู่ประเทศต่าง ๆ รวมถึงไทยได้

เมื่อเราเห็นความท้าทายที่รอผู้นำ IMF คนใหม่อย่างนี้แล้ว ก็คงได้แต่เอาใจช่วยให้คริสตาลินา จอเจียร์วาประสบความสำเร็จในภารกิจ เอาชนะความท้าทายที่รออยู่ และทำให้องค์กรระดับโลกอย่าง IMF ซึ่งเป็นผู้ให้กู้แหล่งสุดท้าย (Lender of last resort) ของประเทศสมาชิก ได้ยืนหยัดทำหน้าที่ในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจของโลกอย่างเต็มศักยภาพด้วยครับ!

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

>>​Download​​ PDF