​การลงภาคสนามของแบงก์ชาติ มิติของเจ้าหน้าที่

นายนิธิสาร พงศ์ปิยะไพบูลย์

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือที่เรียกขานกันว่า แบงก์ชาติ มีหน้าที่หลักในการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน การที่แบงก์ชาติจะทำงานตามเป้าหมายดังกล่าวได้ลุล่วงนั้น นอกเหนือจากการทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาตามหลักวิชาการแล้ว ยังขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีเป็นสำคัญ ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพมีความเข้าใจที่ว่าแบงก์ชาติดูแต่ตัวเลขสถิติเงินๆ ทองๆ ไม่ลงมาดูว่าเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริงเป็นอย่างไร นักธุรกิจและผู้บริโภคเหนื่อยยากขนาดไหนแล้ว ในฐานะพนักงานแบงก์ชาติคนหนึ่งอยากจะเรียนผู้อ่านทุกท่านว่า แม้เราจะนั่งทำงานอยู่ในวัง (บางขุนพรหม) แต่เราก็ออกไปพบปะผู้คนข้างนอกโดยสม่ำเสมอ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด การพบปะดังกล่าวถือเป็นการทำงานในเชิงรุก และนับเป็นโอกาสในการสื่อสารเรื่องราวต่างๆ ที่มาที่ไปในการดำเนินนโยบายให้แต่ละท่านเข้าใจอย่างถูกต้อง พร้อมกับรับฟังอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจและข้อเสนอแนะต่อการทำงานของแบงก์ชาติ ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งที่ทางการของหลายประเทศดำเนินการอยู่ เช่นที่เห็นได้จากรายงาน Agents' Summary ของธนาคารกลางอังกฤษ Fed’s Beige Book ของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา และ Treasury’s Business Liaison Program ของกระทรวงการคลังออสเตรเลีย เป็นต้น

ผมขอใช้โอกาสนี้เล่าถึงวิธีรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจระหว่างแบงก์ชาติและภาคเอกชนเพื่อประมวลผลสู่การดำเนินนโยบายการเงิน ผ่าน 3ช่องทางหลักด้วยกัน ได้แก่ 1) แบบสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ซึ่งครอบคลุมทุกประเภทธุรกิจ ทั้งด้านการผลิต การค้า การบริการ โดยสอบถามบริษัททั่วประเทศเดือนละกว่า 1,500 ราย 2) โครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่าง ธปท. และภาคเอกชน ซึ่งคณะผู้แทนแบงก์ชาติจะเดินทางไปพบบริษัทเอกชนและสมาคมธุรกิจต่างๆ ถึงที่ตั้งโรงงานหรือที่ตั้งสำนักงานเลยทีเดียว เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลภาวะเศรษฐกิจโดยรวมและภาวะตลาดจริงของธุรกิจนั้นๆ โดยเพื่อนร่วมงานของผมทั้งที่สำนักงานใหญ่และสำนักงานภาคอีก 3 แห่งจะออกพบผู้ประกอบการทั่วประเทศรวมกันปีละไม่ต่ำกว่า 800ราย และ 3) การลงพื้นที่ของผู้บริหารระดับรองผู้ว่าการและคณะ เพื่อพบปะแลกเปลี่ยนความเห็นกับนักธุรกิจในภูมิภาคปีละ 6 ครั้งด้วยกัน ที่ผ่านมาในปี 2554 ได้เดินทางไปจังหวัดเชียงราย ขอนแก่น และกระบี่ และมีแผนลงพื้นที่ในช่วงที่เหลือของปีที่จังหวัดนครราชสีมา สุโขทัย และตรัง

สำหรับผู้กำหนดนโยบายแล้ว ข้อมูลจากภาคเอกชนมีคุณค่าต่อการประเมินภาวะเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจากผู้ประกอบการรายเล็กหรือรายใหญ่ เพราะล้วนเป็นผู้ที่ลงมือทำจริงในตลาด มีประสบการณ์และความเห็นที่หาไม่ได้จากตัวเลขสถิติ บางครั้งเมื่อเกิดปัจจัยภายในหรือภายนอกกระทบต่ออุตสาหกรรมหนึ่ง ตัวเลขสถิติที่เปลี่ยนแปลงไปเพียงอย่างเดียวบอกไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ข้อมูลจากผู้ประกอบการจะช่วยให้ทราบว่าความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากสาเหตุใด และตลาดมีแนวโน้มคลี่คลายไปอย่างไรในอนาคต ยกตัวอย่างเช่น ช่วงที่เกิดภัยพิบัติที่ญี่ปุ่น การเข้าพบผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ช่วยให้เราวิเคราะห์สถานการณ์และผลกระทบได้ลุ่มลึกยิ่งขึ้น

ข้อมูลจากการลงภาคสนามเหล่านี้จะถูกนำมาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลสถิติอื่นๆ และแบบจำลองทางเศรษฐมิติ เพื่อประเมินภาพเศรษฐกิจปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต และนำไปเป็นข้อมูลในการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีขึ้นในทุกๆ 6 สัปดาห์ ผมจึงอยากจะเรียนผู้อ่านทุกท่านและขอยืนยันกับท่านที่ให้ข้อมูลกับเรา ณ ที่นี้ว่า ท่านกำลังมีส่วนร่วมในการวางนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของประเทศ ผ่านการให้ข้อมูลที่ถูกต้องและรอบด้านแก่ กนง. เพื่อให้การกำหนดนโยบายการเงินแต่ละครั้งมีความเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจที่เป็นจริงมากที่สุด

นอกจากนี้ ขอให้ทุกท่านมั่นใจว่าข้อมูลที่ท่านมอบให้จะถูกใช้อย่างระมัดระวัง เรามีการรักษาความลับของผู้ประกอบการ โดยจะใช้ข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการประเมินภาวะเศรษฐกิจและการทำนโยบายเท่านั้น การเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะจะอยู่ในลักษณะของภาพรวมของกลุ่มผู้ประกอบการ หรืออุตสาหกรรมเพื่อประโยชน์ในการวางแผนของภาครัฐและภาคเอกชน โดยทุกท่านสามารถเข้าถึงข้อมูลดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจรายเดือน และอ่านรายงานแนวโน้มธุรกิจรายไตรมาส ได้จากเว็บไซต์แบงก์ชาติที่ www.bot.or.th

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย