นายอนุชิต ศิริรัชนีกร
เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้ลงนามในคำสั่งให้บัตรเครดิตและบัตรเดบิตที่ออกโดยหน่วยงานภาครัฐในสหรัฐอเมริกาจะต้องใช้เทคโนโลยีชิปการ์ด ข่าวนี้อาจทำให้หลายท่านสงสัยว่าชิปการ์ดคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร และทำไมเป็นประเด็นที่ผู้นำระดับโลกต้องให้ความสนใจจึงขอถือโอกาสอธิบายขยายความว่าทำไมในอนาคตบัตรชำระเงินจึงควรเป็นแบบชิปการ์ด ซึ่งรวมถึงบัตรในประเทศไทยด้วยครับ
หากกล่าวถึงพัฒนาการของเทคโนโลยีของบัตรที่ใช้ทำธุรกรรมทางเงิน เช่น การถอนเงินที่เครื่องเอทีเอ็ม หรือใช้ซื้อสินค้าที่ร้านค้านั้น เทคโนโลยีที่แพร่หลายในอดีตคือ บัตรแถบแม่เหล็ก ซึ่งจะมีแถบแม่เหล็ก (Magnetic Stripe) อยู่ที่ด้านหลังบัตรเพื่อใช้เก็บข้อมูลของผู้ถือบัตร โดยเมื่อผู้ถือบัตรทำรายการที่เครื่องเอทีเอ็มหรือเครื่องรับบัตร แถบแม่เหล็กบนบัตรจะถูกอ่านข้อมูล เจ้าแถบแม่เหล็กนี้เองทำให้เกิดช่องโหว่ในการถูกคัดลอกข้อมูลหรือที่เรียกว่าสกิมมิ่ง (Skimming) ได้ โดยมิจฉาชีพจะลักลอบคัดลอกข้อมูลในแถบแม่เหล็กโดยใช้อุปกรณ์คัดลอกข้อมูลบัตรหรือที่เรียกว่าสกิมเมอร์ (Skimmer) ที่ติดตั้งไว้ที่ช่องสอดบัตรของเครื่องเอทีเอ็ม และบ่อยครั้งมิจฉาชีพจะติดกล้องขนาดจิ๋วที่ใกล้ ๆ เครื่องเอทีเอ็มเพื่อบันทึกรหัสผ่าน(Personal Identification Number: PIN) ของผู้ถือบัตรด้วย จากนั้นข้อมูลที่ได้จะถูกใช้ไปทำบัตรเอทีเอ็มปลอม เพื่อใช้ถอนเงินจากบัญชีของผู้ถือบัตร
ปัญหาการคัดลอกข้อมูลบนบัตรดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องทั่ว โลก ในไทยเองธนาคารพาณิชย์ได้พยายามแก้ปัญหานี้ โดยมีมาตรการต่าง ๆ ออกมาป้องกันและติดตาม เช่น ติดตั้งเครื่องป้องกันการสกิมมิ่งที่เอทีเอ็ม ตรวจสอบเครื่องเอทีเอ็มเป็นประจำเพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีอุปกรณ์คัดลอกข้อมูลบัตรติดอยู่ ติดตั้งกล้องวงจรปิดและร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการติดตามจับมิจฉาชีพมาอย่างต่อเนื่องรวมทั้งดูแลรับผิดชอบเงินที่ถูกกดออกไปโดยมิชอบ นอกจากนี้แล้ว เพื่อให้แก้ปัญหาได้ทันท่วงที หลายธนาคารได้ใช้เทคโนโลยีการตรวจสอบการทุจริต หรือที่เรียกว่า Fraud Monitoring System ซึ่งจะตรวจจับลักษณะการทำรายการที่น่าสงสัยและเข้าข่ายการทุจริต เช่น การถอนเงินถี่ ๆ การถอนเงินในสถานที่แปลก ๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบและสอบถามยืนยันจากผู้ถือบัตรก่อนที่จะอายัดบัตรเพื่อป้องกันมิให้มิจฉาชีพทำรายการต่อไปได้
อย่างไรก็ดี ปัญหาดังกล่าวก็ยังไม่หมดไปซะทีเดียว ผู้ให้บริการบัตรรายใหญ่ของโลกจึงได้ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีที่ีเรียกว่า “ชิปการ์ด” ขึ้น ชิปการ์ด หรือที่อาจได้ยินในชื่ออื่น ๆ เช่น Smart Card หรือ EMV (ย่อมาจาก Europay, MasterCard และ Visa) แท้จริงแล้วคือ บัตรที่มีการเก็บข้อมูลของผู้ถือบัตรไว้ในชิปที่เปรียบเสมือนคอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋ว ปัจจุบันเทคโนโลยีชิปเป็นที่ยอมรับในระดับสากลในเรื่องของความปลอดภัย สามารถป้องกันการคัดลอกข้อมูลและทำบัตรปลอมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหลายประเทศทั่วโลกได้มีการใช้บัตรเครดิต บัตรเดบิตและบัตรเอทีเอ็มที่เป็นชิปการ์ดแล้ว เช่นในทวีปยุโรป ออสเตรเลีย นอกจากนี้ประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียนเองอย่าง สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซียก็มีการใช้ชิปการ์ดแล้วเช่นกัน
กรณีของสหรัฐอเมริกานั้น แม้ว่าในปัจจุบันบัตรเครดิต บัตรเดบิต และบัตรเอทีเอ็ม ส่วนใหญ่ยังเป็นบัตรแถบแม่เหล็ก แต่การออกคำสั่งของประธานาธิบดีโอบามาเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมานั้น ก็เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า ในไม่นานนี้ตลาดบัตรเครดิตและบัตรเดบิตที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอย่างสหรัฐอเมริกาก็จะใช้ชิปการ์ดด้วยเช่นกัน
สำหรับประเทศไทย บัตรเครดิตที่ออกใช้ในปัจจุบันเป็นชิปการ์ดแล้ว ส่วนบัตรเดบิตและบัตรเอทีเอ็มนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดกรอบเวลาให้ธนาคารพาณิชย์ออกบัตรเดบิตและบัตรเอทีเอ็มให้เป็นชิปการ์ดสำหรับบัตรที่ออกใหม่ตั้งแต่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป รวมถึงเครื่องเอทีเอ็มของธนาคารจะต้องรองรับชิปการ์ดได้ด้วย โดยปัจจุบันบางธนาคารก็ได้เริ่มออกบัตรเดบิตที่เป็นชิปการ์ดเพื่อให้ผู้ถือบัตรได้ใช้งานบ้างแล้ว และเชื่อแน่ว่าจะเห็นอีกหลายธนาคารทยอยออกบัตรชิปการ์ดในอนาคตอันใกล้นี้ต่อไป
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย