ดร. นครินทร์ อมเรศ
ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ


คณะกรรมการค่าจ้างมีมติให้ปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ 5-6 บาทและให้มีผลตั้งแต่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป นับเป็นของขวัญปีใหม่สำหรับพี่น้องแรงงานไทย โดยเฉพาะในกลุ่มเป้าหมาย คือ แรงงานแรกเข้า ซึ่งแม้ว่าตัวเลขคงไม่มาก แต่หากหักกลบลบกับอัตราเงินเฟ้อในระดับต่ำ ก็นับว่ายังทำให้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเติบโตแซงหน้าอัตราเงินเฟ้อได้

การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำคงทำได้เพียงบรรเทาผลกระทบที่แรงงานไทยได้รับจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ เปรียบได้กับการสกัดจุดไม่ให้พิษไข้แผ่ขยายไปทั่วร่างเท่านั้น แต่เราทุกคนทราบกันดีว่าหนทางเดียวที่จะรับมือกับการป่วยไข้ได้ในระยะยาว คือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับร่างกาย ในวันนี้จึงขอเรียนเชิญทุกท่านมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองถึงเคล็ดวิชาในระดับเปลี่ยนเส้นเอ็นล้างไขกระดูก ซึ่งจะมีความสำคัญต่อการพลิกโฉมโครงสร้างแรงงานไทยในระยะยาวมากกว่าเพียงแค่สกัดจุดแก้ไข้ไปเป็นระยะ ๆ โดยขอวิเคราะห์บนฐานข้อมูลแบบสำรวจภาวะการมีงานทำของประชากรไทยไตรมาสสามปี 2562 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ

มิติแรก ค้นหายอดวิชา (Professionalism) แรงงานไทยเกือบร้อยละ 87 ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ทักษะไม่สูงนัก ไม่ได้จบการศึกษาในหมวดที่เป็นที่ต้องการของตลาด หรือ STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์)และไม่ได้ทำงานในวิชาชีพที่ใช้ความรู้ความชำนาญ ดังนั้น สิ่งสำคัญในระยะยาวที่ต้องหยิบยกมาพูดถึง คือ การปลูกฝังยอดวิชาเหล่านี้แก่เด็กรุ่นใหม่ สำหรับคนวัยทำงาน คงยากที่จะละทิ้งหน้าที่ปลีกวิเวกกลับสู่สถานศึกษา แต่เทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้ยอดวิชากระจายอยู่ทั่วทุกหัวระแหงในสนนราคาที่จับต้องได้ เราสามารถเข้ารับการอบรม online จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกได้ในราคาไม่เกินเอื้อม อีกทั้งมีหลักสูตรฟรีดี ๆ เป็นจำนวนมาก ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสร้างแรงงานไทยยุคใหม่ให้ทำงานบนฐานของความเป็นมืออาชีพ ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันสำคัญที่สุดให้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้

มิติที่สอง ฝึกฝนในสมรภูมิ (Entrepreneurship) แรงงานไทยร้อยละ 45เป็นลูกจ้าง ขณะที่แรงงานส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 52 เป็นผู้จ้างงานตนเอง และมีเพียงร้อยละ 3 ที่เป็นนายจ้าง ตัวเลขเศรษฐมิติสะท้อนว่ารายได้เฉลี่ยของลูกจ้างและนายจ้างสูงกว่าผู้จ้างงานตนเองที่มีพื้นฐานเหมือนกัน อาทิ การศึกษา อาชีพ ครอบครัว โครงสร้างนี้สะท้อนว่าคนไทยมีอิสระในการเลือกงาน แต่ก็ชวนคิดว่า หากผู้จ้างงานตนเองยกระดับฝ่าฟันผ่านสมรภูมิธุรกิจเพื่อก้าวเป็นนักรบผู้ประกอบการ (Entrepreneur) สู่สถานะนายจ้างแล้วจะสามารถทำรายได้มากขึ้น ขณะที่ หากยอมสละความอิสระไปเป็นลูกจ้างอาจได้รับรายได้มากขึ้นไปพร้อม ๆ กับได้รับความคุ้มครองภายใต้สิทธิสวัสดิการด้านต่าง ๆ เช่นกัน

มิติสุดท้าย เรียนรู้วิชาตัวเบา (Agility) แรงงานไทยเกือบครึ่งหนึ่งอยู่ในภาคเกษตรและการค้า ซึ่งเป็นกลุ่มที่เปราะบางและมักจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจเป็นกลุ่มแรก ๆ ดังนั้น แรงงานไทยอาจต้องเรียนรู้วิชาตัวเบาให้คล่องแคล่วปรับตัวเคลื่อนย้ายได้ทันการณ์ เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นาข้าวในอดีตอาจเปลี่ยนเป็น homestay สร้างรายได้ให้ชุมชนเป็นจำนวนมาก โรงพยาบาลราษฎร์ที่เคยให้บริการคนมีฐานะในประเทศอาจกลายเป็นแหล่งพักฟื้นระยะยาวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขณะที่ นักการเงินการธนาคารที่เคยเป็นมนุษย์ทองคำในวันวานอาจต้องปรับตัวมาเขียนโปรแกรมในวันนี้ ดังนั้น การเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้ยืดหยุ่นพร้อมรับมือทุกสถานการณ์จึงมีความจำเป็นต่อการเอาตัวรอดในยุคสมัยนี้

หากมองไกลไปกว่าการเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะสั้น แก่นสำคัญของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจต้องเริ่มมาจากการพัฒนาแรงงาน ซึ่งนับรวมถึงพวกเราทุกคน ขอทิ้งท้ายบทความด้วยเงื่อนไขสำคัญที่สุดของการฝึกวิทยายุทธ์ ซึ่งไม่ใช่การค้นพบยอดวิชา การรู้ว่าสมรภูมิอยู่หนใด หรือการท่องจำคาถาตัวเบา หากแต่อยู่ที่ว่าเราทุกคนจะประยุกต์ใช้เคล็ดวิชาในโลกการทำงานอย่างไร ซึ่งคงต้องขึ้นอยู่กับทุกท่านว่าจะใช้กระบวนท่าใดในการเอาตัวรอดท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านเชิงโครงสร้างในปัจจุบัน


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย