นายวัฒนพล รับทอง
นางสาวรัชณภัค อินนุกูล
ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน
ในช่วงปีที่ผ่านมา หลายท่านคงได้ยินหรือคุ้นเคยกับ Qualified ASEAN Banks หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า QABs กันมาบ้างแล้ว แต่สำหรับท่านใดที่เพิ่งได้ยินคำนี้เป็นครั้งแรก เราขอถือโอกาสใช้พื้นที่นี้พาท่านไปทำความรู้จักกับ QABs กันอย่างลึกซึ้ง
QABs เป็นหนึ่งในแผนงานการรวมตัวภาคการเงินภายใต้กรอบอาเซียนผ่านการเจรจาเปิดเสรีแบบทวิภาคี (Bilateral Negotiation) เพื่อแลกเปลี่ยนสิทธิประโยชน์ในการจัดตั้งและประกอบธุรกิจธนาคารระหว่างสองประเทศ เนื่องจากในปัจจุบันการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ในอาเซียนยังมีช่องทางค่อนข้างจำกัด และไม่ได้มีการให้ใบอนุญาตเป็นการทั่วไป รวมถึงอาจมีข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ต่างชาติอีกด้วย
การเจรจาจัดตั้ง QABs ภายใต้กรอบอาเซียนจะช่วยขยายโอกาสทางธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีความพร้อมและมีแผนที่จะขยายธุรกิจออกไปในอาเซียน โดย QABs จะมีบทบาทในการสนับสนุนการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ รวมถึงให้บริการแรงงานที่จะมีการเคลื่อนย้ายในภูมิภาคมากขึ้น เช่น การโอนเงินกลับประเทศ นอกจากนี้ การอนุญาตให้ QABs จากประเทศอาเซียนที่มีศักยภาพมาจัดตั้งเพิ่มเติมในไทยจะเป็นแรงผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ไทยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ยกระดับการให้บริการ ลดต้นทุนดำเนินงาน อันจะเป็นประโยชน์ต่อระบบสถาบันการเงินในระยะยาว นอกจากนี้ QABs จะมีส่วนช่วยให้เกิดการรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจของอาเซียน และบรรลุเป้าหมายที่จะสร้างตลาดและฐานการผลิตร่วมในภูมิภาค เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน แรงงานที่มีฝีมือ ได้อย่างเสรียิ่งขึ้น
ธนาคารพาณิชย์สัญชาติอาเซียนที่มีคุณสมบัติเข้าข่ายเป็น QABs จะต้องมีผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ เป็นสัญชาติอาเซียน สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในอาเซียน และมีฐานะทางการเงินมั่นคง เช่น QABs ของไทย ก็จะต้องเป็นธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เป็นสัญชาติไทย ธนาคารพาณิชย์ในไทยที่มีผู้ถือหุ้น ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติก็จะไม่เข้าข่ายเป็น QABs
มาถึงตรงนี้ หลายท่านอาจจะสงสัยว่าแล้วธนาคารพาณิชย์ไทยจะสามารถเข้าไปจัดตั้งในอาเซียนผ่านช่องทาง QABs ได้อย่างไร
เนื่องจากหลักการเจรจาจัดตั้ง QABs เป็นไปตามความพร้อมของแต่ละประเทศ หากประเทศใดมีความพร้อมก่อนก็สามารถจับคู่เจรจาได้เลย โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะทำหน้าที่หลักในการเจรจา QABs ของไทยตามกรอบการเจรจาที่สมาชิกอาเซียนตกลงร่วมกันในปี 2558 โดยเริ่มจากประเมินความพร้อมและสำรวจความต้องการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไทยในอาเซียน พร้อมทั้งพิจารณาความเหมาะสมของการอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์สัญชาติอาเซียนรายใหม่เข้ามาดำเนินกิจการในไทย หรือหากมีธนาคารพาณิชย์สัญชาติอาเซียนที่เปิดดำเนินการอยู่แล้วก็จะพิจารณาเพิ่มความยืดหยุ่นในการประกอบธุรกิจ เช่น การขยายขอบเขตธุรกิจ และการเพิ่มจำนวนสาขา
เมื่อได้สรุปผลการเจรจาแล้ว คู่เจรจาจะดำเนินการตามกฎหมายภายในประเทศเพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ทั้งสองฝ่ายได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่ตกลงกัน และสามารถเปิดดำเนินการได้
หลายท่านอาจมีคำถามว่า เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า QABs จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาระบบสถาบันการเงินในอนาคต ในเรื่องนี้ ธปท. จะพิจารณาคัดเลือกธนาคารพาณิชย์สัญชาติอาเซียนที่ขอใช้สิทธิเป็น QABs จากฐานะทางการเงิน ระบบการบริหารจัดการ รวมถึงจะพิจารณากำหนดรูปแบบและเงื่อนไขของ QABs ให้เหมาะสม และเมื่อ QABs เปิดดำเนินการแล้ว ธปท. ก็จะติดตามและตรวจสอบการดำเนินงาน ตลอดจนประสานความร่วมมือระหว่างผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินของประเทศที่มีธนาคารพาณิชย์จัดตั้งระหว่างกัน เพื่อให้มั่นใจว่าระบบสถาบันการเงินมีความมั่นคง มีเสถียรภาพ สามารถรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน
สำหรับความคืบหน้าของการเจรจาของไทยนั้น ในปี 2559 ธปท. ได้ลงนามการเจรจา QABs กับประเทศสมาชิกอาเซียน 3 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเมียนมา ซึ่งล้วนแต่เป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์กับไทยในด้านการค้าการลงทุนมาอย่างยาวนาน และจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นตามแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาค
หลังจากที่ได้อ่านมาแล้ว ผู้เขียนหวังว่า ทุกท่านจะมีความเข้าใจเกี่ยวกับ QABs มากขึ้น และสนใจติดตามแนวโน้มการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต