นางสาวณัฏฐริยา วิทยธนเศรษฐ์
ในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของเดือนมิถุนายน ตลาดเงินจีนเกิดภาวะขาดแคลนสภาพคล่องอย่างรุนแรงจนทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดกู้ยืมระหว่างธนาคาร (SHIBOR rate) พุ่งขึ้นไปสูงกว่าระดับปกติถึง 7 เท่า สาเหตุสำคัญเกิดจาก 1) มาตรการของทางการจีนที่มีผลกระทบต่อการลงทุนในเครื่องมือทางการเงินที่เรียกว่า Wealth Management Products (WMPs) และ 2) การเพิกเฉยไม่เข้าไปอัดฉีดสภาพคล่องในตลาดเงินของธนาคารกลางจีน (PBOC) ที่ตลาดตีความว่าเป็นความตั้งใจที่จะเลือกใช้ยาแรง เพื่อตักเตือนธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็กและกลางให้หันมาปรับปรุงการบริหารความเสี่ยงและจัดการสภาพคล่องให้ดีขึ้น ไม่ใช่คอยแต่จะพึ่งพาการระดมเงินทุนระยะสั้นจากตลาดเงิน โดยเฉพาะเพื่อเอาไปชำระหนี้ต่อนักลงทุนที่มาลงทุนใน WMPs โดยหวังว่าทางการจะเข้ามาดูแลให้ต้นทุนการกู้ยืมในตลาดการเงินต่ำและค่อนข้างนิ่งตลอดเวลา
ถึงแม้ว่าหลังจากที่ธนาคารกลางจีนจะเข้าไปอัดฉีดสภาพคล่อง ช่วยเหลือธนาคารพาณิชย์ จนทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินปรับลดลงค่อนข้างมากแล้วก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้สงสัยว่า เครื่องมือทางการเงิน WMPs คืออะไร? มีความเสี่ยงอย่างไร? และการดำเนินมาตรการดังกล่าว สะท้อนว่าทางการจีนกำลังส่งสัญญาณอะไร?
ปัจจุบันสถาบันการเงินในจีนทั้งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินประเภทที่มีการกำกับดูแลเข้มงวดน้อยกว่าเช่น ทรัสต์ นิยมออก WMPs เพื่อระดมทุนจากนักลงทุนแล้วนำเงินไปลงทุนในตราสารทางการเงิน เช่น หุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร ตั๋วเงิน หรือแม้แต่ในโครงการลงทุนอสังหาริมทรัพย์และโครงการลงทุนของรัฐบาลท้องถิ่นที่มีความเสี่ยงสูง โดยสถาบันการเงินจะแปลงสินทรัพย์ที่ลงทุนเป็นหลักทรัพย์ (securitization) และออก WMPs เพื่อถ่ายโอนความเสี่ยงของสินเชื่อไปสู่นักลงทุน โดยบางทีผู้ที่ซื้อ WMPs มักไม่ทราบว่าเงินของตนจะถูกนำไปลงทุนในอะไร และโครงการเหล่านั้นจะสร้างผลตอบแทนได้จริงหรือไม่ จนอาจเปรียบได้ว่า WMPs บางส่วนมีลักษณะคล้ายคลึงกับแชร์ลูกโซ่เลยก็ว่าได้
ในระยะหลัง การออก WMPs ของสถาบันการเงินเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยนักวิเคราะห์คาดว่า จากในปี 2551 ที่ WMPs มีขนาดสินทรัพย์เพียง 4.5% ต่อ GDP เพิ่มขึ้นถึง 17.2 % ต่อ GDP ในไตรมาสแรกของปี 2556 และในช่วงต้นปีนี้เมื่อเศรษฐกิจจีนชะลอลง ได้เริ่มเห็น WMPs บางส่วนผิดนัดชำระหนี้บ้างแล้วด้วย นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมายังมีนักเก็งกำไรลักลอบขนย้ายเงินหยวนจากฮ่องกงเข้ามาเก็งกำไร โดยการเข้ามาลงทุนใน WMPs ในจีนแผ่นดินใหญ่อีก จึงทำให้ทางการจีนต้องเร่งออกมาตรการเพื่อมาตัดท่อน้ำเลี้ยงของ WMPs และควบคุมธุรกรรม WMPs ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น การจำกัดให้ WMPs สามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่ทางการไม่ได้ควบคุมได้ไม่เกิน 35% ของการลงทุนทั้งหมด และจำกัดให้สถาบันการเงินสามารถถือครองสินทรัพย์เหล่านี้ได้เพียง 4% ของสินทรัพย์รวมของสถาบันการเงิน ซึ่งมาตรการดังกล่าวมีผลให้สถาบันการเงินบางส่วนที่ออก WMPs ประสบปัญหาสภาพคล่อง
การออกมาตรการและท่าทีของธนาคารกลางต่อเหตุการณ์ดังกล่าว น่าจะเป็นการยืนยันว่าทางการจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง มีความตั้งใจอย่างแน่วแน่และต้องการส่งสัญญาณที่จะปฏิรูประบบการเงินขนานใหญ่ เพื่อลดความเสี่ยงของระบบการเงิน เพื่อรองรับการเปิดเสรีการเงินในอนาคต และกระตุ้นให้สถาบันการเงินทำธุรกรรมที่มีความโปร่งใสมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามแนวนโยบายเศรษฐกิจในภาพรวมที่จะให้ความสำคัญกับการดูแลด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ย่อมจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนบ้างในระยะสั้น แต่ก็จะทำให้สถาบันการเงินทำธุรกรรมอย่างรอบคอบมากขึ้นและมีการบริหารความเสี่ยงที่ดีขึ้น ส่งผลให้สินเชื่อที่อยู่ในระบบการเงินถูกนำไปใช้ทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ซึ่งหากดำเนินการอย่างจริงจังก็น่าจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจจีนในระยะยาว จึงอยากให้ผู้อ่านติดตามความก้าวหน้าของมาตรการดังกล่าวโดยใกล้ชิดและไม่ตระหนกต่อข่าวสารระยะสั้นจนเกินไป
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย