​บทบาทของหน่วยงานกำกับดูแลในยุคดิจิทัล

นางสาวบุณยานุช คุณอมรเลิศ
ฝ่ายตรวจสอบ 2

ท่ามกลางสภาพแวดล้อมในปัจจุบันที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้นต่อการดำเนิน ชีวิตของผู้คน ลักษณะการทำธุรกรรมทางการเงินจึงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยมีการทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์กันมากขึ้น เนื่องจากความสะดวกและรวดเร็ว ทำให้สถาบันการเงินพัฒนาช่องทางการให้บริการผลิตภัณฑ์ทางการเงินในรูปแบบที่เป็นดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการได้ตรงกับรูปแบบการดำเนินชีวิตมากขึ้น ขณะที่นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทางการเงินโดยเฉพาะด้าน FinTech ก็มีการพัฒนาและเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันต่อโลกเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งการกำกับดูแลระบบสถาบันการเงินนั้น ประกอบด้วยหลายองค์ประกอบ เริ่มตั้งแต่การกำหนดกรอบนโยบายหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมให้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้สถาบันการเงินสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่หลากหลาย ตรงตามความต้องการของผู้ใช้บริการ ตลอดจนผลักดันให้มีกระบวนการกำกับตรวจสอบสถาบันการเงินที่มีประสิทธิภาพครอบคลุมปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นต่อระบบสถาบันการเงิน โดยในช่วงที่ผ่านมา ธปท. มีการปรับตัวใน 3 ด้าน ได้แก่ (1) การปรับโครงสร้างองค์กร (2) การพัฒนาด้านบุคลากร และ (3) การปรับปรุงกระบวนการทำงาน รวมทั้งระบบงานและข้อมูล เพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถตอบโจทย์การดูแลระบบสถาบันการเงินให้เติบโตอย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพ

การปรับโครงสร้างองค์กร ที่ผ่านมา ธปท. ได้เตรียมการรับมือกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีทาง การเงินใหม่ ๆ ที่มีความซับซ้อนและปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว โดยจัดตั้งสายงานใหม่เพื่อผลักดันงานทางด้านนโยบายระบบการชาระเงินและเทคโนโลยีทางการเงินขึ้นมาโดยเฉพาะ รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชาระเงินที่ทันสมัย มั่นคงปลอดภัย และมีการบริหารจัดการความเสี่ยงเทียบเท่ามาตรฐานสากล ธปท. จึงเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการทางการเงินทั้งสถาบันการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินสามารถขอเข้าทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการทางการเงิน ภายใต้ขอบเขตที่กำหนดใน Regulatory Sandbox เพื่อให้มีการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนและภาคธุรกิจ ภายในกรอบการควบคุมที่มีวงจำกัด ซึ่งหากผลการทดสอบประสบความสำเร็จ ผู้ให้บริการจึงจะสามารถนำเสนอบริการหรือผลิตภัณฑ์ให้แก่ลูกค้าในวงกว้างได้ โดยตัวอย่างนวัตกรรมภายใต้ Regulatory Sandbox ได้แก่ การทำธุรกรรมโอนเงินและชำระเงินผ่าน QR Code ซึ่งผู้ใช้บริการจะได้รับประโยชน์ในเรื่องของความสะดวกรวดเร็ว รวมทั้งลดโอกาสผิดพลาดจากการกรอกเลขที่บัญชีไม่ถูกต้อง การนำเทคโนโลยี Blockchain มาช่วยในการบริหารจัดการ เช่น การจัดการหนังสือค้ำประกันและการให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศได้รวดเร็วขึ้น เป็นต้น ขณะเดียวกันก็ได้ให้ความสำคัญต่อการคุ้มครอง และให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้บริการทางการเงินโดยมีการจัดตั้งฝ่ายงานใหม่ขึ้นมากำกับดูแลในด้านนี้ด้วย

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย