​ทำอย่างไรให้การบริโภคของครัวเรือนไทยเพียงพอและยั่งยืน

​นายจิรัฐ เจนพึ่งพร

การบริโภคภาคเอกชนเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในแทบจะทุกประเทศรวมถึงของไทย ทั้งในแง่ ของขนาด ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 50 ของจีดีพี หรือในแง่ของการกระจายตัวที่เกี่ยวข้องกับทุกคนในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ก็ตาม การดำรงชีวิตยังต้องกินต้องใช้และพึ่งพาปัจจัยสี่ โดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่มเป็นอย่างน้อย ฉะนั้น การกระตุ้นการบริโภคผ่านมาตรการจูงใจต่างๆ จึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ภาครัฐนำมาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเชื่อว่าเมื่อทุกคนบริโภคเพิ่มขึ้นคนละเล็กละน้อย รวมๆ แล้ว เศรษฐกิจจะสามารถเดินหน้าไปได้อย่างต่อเนื่องตามที่คาดหวังไว้

ในต่างประเทศ การกระตุ้นการบริโภคไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แม้ว่าแนวทางอาจจะแตกต่างกันบ้าง แต่เป้าหมายปลายทางไม่ได้แตกต่างกัน กล่าวคือ มุ่งหวังให้การบริโภคภาคครัวเรือนและเศรษฐกิจ ขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น การลดภาษีมูลค่าเพิ่ม และการขยายสวัสดิการเพื่อให้ประชาชนลดการออมยามฉุกเฉินลง และสามารถมีเงินนำมาใช้จ่ายได้มากขึ้น เป็นต้น ในประเทศไทยเมื่อแรงขับเคลื่อนอื่นๆ โดยเฉพาะการส่งออกไม่ได้ดีเหมือนเดิม ทำให้ภาครัฐได้ใช้แนวทางกระตุ้นการบริโภคทั้งสินค้าคงทนและไม่คงทน เช่น มาตรการรถคันแรก และมาตรการจูงใจทางภาษีกระตุ้นให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยและรับประทานอาหารนอกบ้านโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญ ซึ่งช่วยสนับสนุนกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวได้ในอีกทางหนึ่งด้วย เป็นต้น ยิ่งกว่านั้นการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตัลยังช่วยผลักดันให้การตัดสินใจ และการบริโภคของภาคครัวเรือนในปัจจุบันง่ายขึ้นผ่านการตลาด รวมถึงการซื้อขายสินค้าและบริการผ่านอินเตอร์เน็ต

คนไทยทุกคนไม่ได้มีเงินที่จะใช้จ่ายเกินกว่าระดับปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่มีรายได้อยู่ในระดับไม่มาก ซึ่งรายได้ปกติไม่เพียงพอกับรายจ่ายอยู่แล้ว หากต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น คงต้องแลกกัน ระหว่างการบริโภควันนี้กับวันข้างหน้า โดยการกู้หนี้ยืมสินซึ่งทำได้ไม่ยากในปัจจุบัน เนื่องจากการเข้าถึง สถาบันการเงินง่ายขึ้น

หากพิจารณาข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) กลุ่มที่น่าห่วงที่สุด คงหนีไม่พ้นกลุ่มที่มีหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับที่เปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน (ควินไทล์ 1) และกลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน (ควินไทล์ 2) ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพผู้ใช้แรงงานหรือผู้ทาการเกษตร

หากวิเคราะห์ด้านรายได้ แนวโน้มรายได้ในภาพรวมของเกษตรกรและผู้ใช้แรงงานเติบโต ไม่มาก โดยอัตราการเติบโตของทั้งสองอาชีพตั้งแต่เข้าสู่ตลาดแรงงานกระทั่งเกษียณอายุอยู่ที่ร้อยละ 1.3 และร้อยละ 0.8 ต่อปี ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า แม้ว่าจะสะสมความชำนาญในอาชีพได้ แต่หากเป็นอาชีพที่ใช้ทักษะไม่มากแล้ว ผลต่อผลิตภาพแรงงานและรายได้จะไม่ได้สูงขึ้นนัก ยิ่งกว่านั้น ความไม่แน่นอนของราคาสินค้าเกษตรและสภาพดินฟ้าอากาศ ยังซ้ำเติมให้กลุ่มเกษตรกรมีรายได้ที่ผันผวน ในท้ายสุดรายได้ที่ไม่เติบโตและไม่แน่นอน จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทาให้ครัวเรือนไทยในกลุ่ม ควินไทล์ที่ 1 และ 2 ในทุกช่วงอายุมีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย

อย่างไรก็ดี มาตรการจูงใจทางภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวการจับจ่ายใช้สอยและ รับประทานอาหารนอกบ้าน จัดว่าเหมาะสมในแง่ที่ไม่ได้จูงใจกลุ่มคนในควินไทล์ 1 และ 2 ซึ่งมีรายได้อยู่ในระดับที่ไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว แต่เป็นที่น่าสังเกต สำหรับมาตรการบางอย่างโดยเฉพาะรถคันแรก รวมทั้งครัวเรือนสามารถซื้อขายสินค้าและบริการที่ง่ายขึ้น ทำให้พบว่าการบริโภคที่แท้จริงของครัวเรือนสองกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3.5 ต่อปี ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา

หากวิเคราะห์เจาะลึกด้านโครงสร้างรายจ่ายในปี 2558 จากรูป การบริโภคร้อยละ 88 ของครัวเรือนสองกลุ่มนี้กระจุกตัวอยู่ในอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าในหมวดอุปโภคบริโภค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าจำเป็น ขณะที่การบริโภคที่เหลือร้อยละ 12 กระจายไปในสินค้าที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค ยานพาหนะ เวชภัณฑ์ การรักษา พยาบาล การศึกษา และยาสูบ และเป็นที่น่าสังเกตว่า การใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนสองกลุ่มนี้มีเพียงร้อยละ 1 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด และหากคิดเป็นเม็ดเงินเทียบกับกลุ่มที่รวยที่สุดแล้วจะปรากฏว่าแตกต่างกันถึงประมาณ 15 เท่า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทรัพยากรที่จะใช้ลงทุนสร้างศักยภาพทางอาชีพและรายได้ระหว่างคนจนกับคนรวยที่แตกต่างกันมาก

คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นคือ แล้วการบริโภคของครัวเรือนไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร เมื่อพิจารณาว่าความท้าทายประการหนึ่งของสังคมไทยคือ เรื่องสังคมสูงวัย อีกหนึ่งคำถามสำคัญที่ตามมาคือ ครัวเรือนไทยมีการเตรียมตัวไว้อย่างเพียงพอแล้วหรือไม่ หากเลือกที่จะบริโภควันนี้ ในขณะที่แนวโน้มการเติบโตของรายได้ที่อาจไม่ทันกับพลวัตของการบริโภค ประชาชนกลุ่มนี้จะมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้อยู่เรื่อยๆ และระดับหนี้ครัวเรือนของกลุ่มเกษตรกรและผู้ใช้แรงงานคงจะอยู่ในระดับที่สูง

เพราะฉะนั้น ทำอย่างไรให้การบริโภคของครัวเรือนไทยเพียงพอและยั่งยืน รวมทั้งช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนของสองกลุ่มนี้ ต้องเริ่มจากการใช้จ่ายพอประมาณ กล่าวคือให้รายได้มากกว่ารายจ่ายหรือออมได้ก่อนในระยะสั้น และต่อมาให้เพียงพอในระยะยาว แม้นว่าปกติครัวเรือนสองกลุ่มนี้จะใช้จ่ายตามความจำเป็นเพื่อกินเพื่อใช้อยู่แล้ว แต่หากน้อมนำพระราชดำรัสของในหลวงว่าด้วย “เศรษฐกิจพอเพียง” มาประยุกต์ใช้อย่างจริงจัง เมื่อยังมีน้อยก็ให้ใช้แต่น้อย ไม่ใช่ทุกสิ่งจะต้องซื้อหา หลายอย่างสามารถผลิตได้ด้วยตัวเอง เช่น พืชผักสวนครัว เป็นต้น ขณะเดียวกัน แสวงโอกาสในการสร้างและพัฒนาตนเอง โดยที่ในระยะสั้น สามารถทำได้ด้วยการฝึกฝนอาชีพที่มีทักษะ เพื่อสร้างโอกาสในการเคลื่อนย้ายไปสู่ภาคการผลิตที่มีผลิตภาพสูงขึ้นได้ด้วย

ขณะที่นัยเชิงนโยบายเพื่อยกระดับของรายได้ในระยะยาว แม้อาจจะต้องใช้เวลาจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง แต่การปฏิรูปการศึกษายังคงเป็นพันธกิจที่สำคัญที่สุด ทั้งในมิติของคุณภาพซึ่งยังต้องมุ่งเน้นผลิตบัณฑิตให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต และในมิติของปริมาณซึ่งไม่ใช่แค่จัดให้การศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่ต้องทำให้ข้อจำกัดของการเข้าถึงสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพลดลง ทั้งในแง่ของค่าใช้จ่ายและในแง่ของที่ตั้งที่ไม่ได้กระจุกอยู่แต่ในหัวเมือง เพื่อให้ลูกหลานของเกษตรกรและผู้ใช้แรงงานสามารถเข้าถึง ซึ่งจะเป็นการช่วยให้ชนรุ่นถัดไปได้รับความเท่าเทียมในการสร้างศักยภาพทางอาชีพ ดั่งพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้านการพัฒนาคน ให้มีคุณภาพด้วยการให้การศึกษาเพื่อให้สามารถพึ่งตนเองได้และมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย