​“ทองคำ” สินทรัพย์ที่มีค่าในช่วงเศรษฐกิจขาลง?

นางสาวธนันธร มหาพรประจักษ์
ฝ่ายนโยบายการเงิน



ในสถานการณ์ปัจจุบันที่เหตุการณ์ความวุ่นวายต่าง ๆ ในโลกเกิดขึ้นมากมายและไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด เช่น สงครามการค้าที่ขยายวงกว้างมากขึ้น ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง การประท้วงในฮ่องกง หรือการแยกตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ที่ยังไม่ได้ข้อสรุป เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนส่งผลลบต่อบรรยากาศความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจโลก ทำให้นักลงทุนเพิ่มความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย (safe haven assets) ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าไม่ลดลงมากนักในยามวิกฤต โดยหนึ่งในนั้นคือ ทองคำ ที่ราคาปรับสูงขึ้นทำ new high ในรอบกว่า 6 ปี โดยราคาในปัจจุบันปรับตัวสูงทะลุ 1,500 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์จากระดับต่ำกว่า 1,300 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์ในเดือนพฤษภาคม บางขุนพรหมชวนคิดในวันนี้จึงอยากชวนท่านผู้อ่านมารู้จักสินทรัพย์นี้

ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดกระแสเงินสดในช่วงที่ถือสินทรัพย์ ต่างจากหุ้นหรือตราสารหนี้ ขณะเดียวกันทองคำก็เป็นโลหะมีค่าที่นิยมใช้ในภาคอุตสาหกรรมจึงถูกจำแนกเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเราสามารถแบ่งความต้องการทองคำตามวัตถุประสงค์ได้ 4 ประเภท คือ (1) เพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรม ทั้งในวงการอิเล็กทรอนิกส์ การสื่อสารและโทรคมนาคม รวมถึงการแพทย์ อาทิ การใช้ตาข่ายทองคำสำหรับป้องกันการรบกวนจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในระบบการสื่อสารการบินพาณิชย์ การใช้ทองคำในแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์เพื่อช่วยให้กระแสไฟฟ้าเดินได้สะดวก และการใช้ทองคำในด้านทันตกรรม (2) เพื่อหนุนหลังการออกใช้ธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ในประเทศและเป็นสินทรัพย์ในทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลาง (3) เพื่อการลงทุนและการออม และ (4) เพื่อใช้เป็นเครื่องประดับซึ่งมีสัดส่วนมากที่สุดกว่าร้อยละ 50 จากข้อมูล World Gold Council โดยมีจีนและอินเดียเป็นผู้บริโภคหลัก ตามความนิยมให้ทองคำในเทศกาลและโอกาสมงคลต่าง ๆ

แล้วทองคำพิเศษกว่าสินทรัพย์อื่นอย่างไร? ทองคำเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ราคาวิ่งสวนทางกับทิศทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ เมื่อเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตชะลอลง ราคาทองคำกลับจะมีทิศทางเพิ่มขึ้น เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่รักษามูลค่า และไม่เสื่อมสภาพ นักลงทุนจึงมองทองคำเสมือนเป็นหลักประกันในช่วงที่สินทรัพย์อื่นเผชิญความเสี่ยงสูงหรือมีแนวโน้มด้อยค่าลงในช่วงเศรษฐกิจขาลงไม่ว่าจะเป็น หุ้น พันธบัตร เงินตราต่างประเทศ หรืออสังหาริมทรัพย์ ด้วยเหตุนี้เมื่อเศรษฐกิจเริ่มส่อเค้าว่าจะชะลอตัวลง ราคาทองคำย่อมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามความต้องการของนักลงทุนที่อยากหาความปลอดภัยจากความผันผวนของสินทรัพย์อื่น ในทางกลับกัน หากเศรษฐกิจขยายตัวดีต่อเนื่อง ราคาของสินทรัพย์อื่นก็มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต เป็นที่แน่นอนว่านักลงทุนย่อมต้องการผลตอบแทนที่สูงกว่า ดังนั้นเงินลงทุนย่อมจะไหลกลับไปสู่สินทรัพย์อื่น เพราะแม้ทองคำจะมีมูลค่าที่มั่นคง แต่ก็ไม่ได้สร้างกระแสเงินสดให้นักลงทุนเฉกเช่นหุ้นที่มีการจ่ายปันผลบ้างและสามารถขายเก็งกำไรได้ในช่วงที่ภาวะตลาดหุ้นร้อนแรง หรือเงินฝากและพันธบัตรที่จ่ายดอกเบี้ยออกมาบ้าง ความต้องการถือทองคำที่ลดลงนี้เองจึงทำให้ราคาทองคำลดลงในช่วงที่เศรษฐกิจดี หากมองย้อนไปดูวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่ดี เช่น ในวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ที่เกิดในปี 2551 ทองคำเป็นสินทรัพย์เดียวราคาสูงขึ้นร้อยละ 4 ในปีนั้นหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 หากนับตั้งแต่เริ่มเกิดปัญหาสินเชื่อซับไพรม์ในปี 2550 อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ ในช่วงที่เกิดวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปปี 2552-2554 ที่หลายประเทศในยุโรปไม่สามารถชำระหนี้ได้จนนำไปสู่การขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนรักษาเสถียรภาพยุโรป (EFSF) ราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 52 นับตั้งแต่สิ้นปี 2552

ในสภาวะที่โลกยังเผชิญกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่สร้างความผันผวนต่อตลาดการเงินและทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวจนอาจนำไปสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจยังคงเป็นเรื่องที่ไม่แน่นอนและคาดเดาได้ยาก สินทรัพย์ที่ราคาเคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้ามกับภาวะเศรษฐกิจถือเป็นหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจ และทองคำก็เป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ตอบโจทย์นี้ อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ใด ท่านผู้อ่านควรทำความเข้าใจธรรมชาติของสินทรัพย์นั้นและพร้อมรับความเสี่ยงและความผันผวนด้านราคาได้ โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจขาลง

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย