นายรวินท์ เอี่ยมสอาด
นางสาวชุรพร เจริญพร
ถ้าทุกคนยังจำกันได้ถึงเหตุการณ์ที่มีคนจำนวนมากมายืนรอถอนเงินฝากของตนเองจากธนาคารแห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษ เมื่อปี 2550 โดยภายใน 3 วัน มีเงินฝากถูกถอนออกถึง 3 พันล้านปอนด์ (5.4 หมื่นล้านบาท) หรือประมาณ 1 ใน 10 ของเงินฝากของธนาคาร และจากนั้นเงินฝากยังคงถูกถอนออกอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งรัฐบาลอังกฤษต้องเข้าช่วยเหลือและแปลงสภาพธนาคารดังกล่าวเป็นธนาคารของรัฐในอีก 5 เดือนต่อมา เหตุการณ์นั้นถือเป็นจุดสำคัญที่เน้นย้ำให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ซึ่งก็คือความเสี่ยงที่ธนาคารหรือบุคคลใดก็ตามจะมีสภาพคล่องไม่เพียงพอที่จะจ่ายหนี้ และอาจล้มละลายในท้ายที่สุด
ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องนั้นจริง ๆ แล้วอยู่รอบตัวพวกเราทุกคน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเรามีเงินเหลือและนำเงินส่วนใหญ่หรือทั้งหมดไปลงทุนในที่ดิน อยู่มาวันหนึ่ง เราป่วยหนักต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลซึ่งต้องใช้เงินสดเป็นจำนวนมากในการรักษา เงินสดที่เก็บไว้ก็ไม่มีเพราะนำเงินไปลงทุนในที่ดินหมดแล้ว ซึ่งไม่สามารถขายได้ในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้อาจไม่ได้รับการรักษาและเกิดความเสี่ยงต่อชีวิตได้ เป็นต้น สำหรับธุรกิจธนาคารก็เช่นเดียวกัน หากนำเงินรับฝากจากประชาชนทั้งหมดหรือส่วนใหญ่ไปใช้ในการปล่อยสินเชื่อโดยไม่ได้เก็บไว้ในรูปเงินสดหรือสินทรัพย์ที่สามารถขายทอดตลาดและเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่าย เมื่อวันหนึ่งเกิดสถานการณ์คับขัน เช่น ตลาดการเงินมีความผันผวนจนสินทรัพย์ที่ธนาคารลงทุนมีมูลค่าตกลงอย่างรวดเร็วสินเชื่อมีสภาพเป็นหนี้เสียมากผิดปกติ เหตุการณ์เหล่านี้อาจส่งผลให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นต่อธนาคารและแห่มาถอนเงินฝาก จนทำให้ธนาคารมีปัญหาและอาจต้องปิดกิจการลงได้
เพื่อไม่ให้ธนาคารต้องเผชิญกับปัญหาด้านสภาพคล่องดังกล่าว ธนาคารจึงต้องมีการบริหารสภาพคล่องที่รัดกุมสามารถรองรับสถานการณ์ต่างๆ ได้ ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 3 ด้านหลัก ๆ ด้วยกัน คือ
(1) การจัดหาแหล่งเงินให้เหมาะสมและเพียงพอกับการทำธุรกิจโดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อ (Funding liquidity) โดยธนาคารจะหาเงินซึ่งอาจมาจากเงินรับฝากจากประชาชน หรือเงินกู้ยืมในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้เพียงพอและสอดคล้องกับเงินให้สินเชื่อที่ธนาคารจะให้ลูกค้ากู้ยืมต่อไป เช่น หากธนาคารมีเป้าหมายในการปล่อยสินเชื่อระยะยาวก้อนใหม่จำนวน 100 ล้านบาท ธนาคารก็จะต้องวางแผนเพื่อระดมเงินเพิ่มอีก100 ล้านบาท ซึ่งมีระยะเวลาและต้นทุนที่สอดคล้องกัน เพื่อนำมาใชใ้ นการปล่อยสินเชื่อดังกล่าว เป็นต้น
(2) การบริหารเงินระหว่างวัน (Intraday liquidity) โดยปกติแล้วในแต่ละวันธนาคารจะต้องรองรับธุรกรรมของลูกค้าจำนวนมาก โดยเฉพาะธุรกรรมการถอนเงินและโอนเงินของลูกค้า ซึ่งธนาคารจำเป็นต้องจัดหาเงินให้เพียงพอ
(3) การสำรองเงินเพื่อรองรับสถานการณ์วิกฤต (Stress-testing and management response) ธนาคารอาจต้องเผชิญกับสถานการณ์วิกฤตที่ลูกค้าแห่มาถอนเงินฝากหรือมาเบิกใช้วงเงินมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ แม้ว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อย หรืออาจไม่เกิดขึ้นเลย แต่หากเกิดขึ้นจริงจะส่งความเสียหายให้แก่ธนาคารมาก จนบางทีอาจต้องลงเอยด้วยการปิดกิจการในที่สุด ธนาคารจึงจำเป็นต้องสำรองสภาพคล่องไว้ส่วนหนึ่ง และวางแผนเพื่อรองรับหากเกิดสถานการณ์ดังกล่าว
ปัจจุบันธนาคารมีการบริหารสภาพคล่องของตนเองอยู่แล้ว ด้วยการบริหารสินทรัพย์และหนี้สินให้สอดคล้องกัน การถือสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องไว้จำนวนหนึ่งเพื่อรองรับการจ่ายคืนหนี้สินและภาระผูกพันต่าง ๆ การจัดให้มีการทดสอบภาวะวิกฤตด้านสภาพคล่อง รวมทั้งจัดทำแผนรองรับภาวะฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นด้วย
แต่เพื่อให้การบริหารสภาพคล่องนั้นมีความรัดกุม รอบคอบ และมีประสิทธิภาพ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงกำหนดแนวทางการบริหารสภาพคล่องของธนาคารผ่านการออกแนวนโยบาย (Best practice) ซึ่งอธิบายแนวทางการบริหารความเสี่ยงที่ดีเพื่อให้ธนาคารใช้เป็นแบบอย่าง และกำหนดให้ธนาคารถือสินทรัพย์สภาพคล่องอย่างน้อย 6% ของเงินฝากและเงินกู้ยืมบางประเภท หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ เมื่อธนาคารได้เงินจากการรับฝากเงินและการกู้ยืมเงินจากประชาชน 100 บาท ธนาคารจะไม่สามารถนำเงินไปปล่อยสินเชื่อได้ทั้งหมด โดยจะต้องนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์สภาพคล่องอย่างน้อย 6 บาท เพื่อสำรองไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน
อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้ภาวะแวดล้อมทางการเงินมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ฝากเงินที่แต่ก่อนมักจะออมเงินผ่านการฝากประจำโดยเปรียบเทียบระหว่างระยะเวลาที่ต้องการใช้เงินกับผลตอบแทนเท่านั้น แต่ปัจจุบันผู้ฝากมีความรู้และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีการนำเงินที่เหลือใช้ไปลงทุนในรูปแบบอื่นมากขึ้น เช่น การลงทุนผ่านกองทุน เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากประจำกับธนาคาร ซึ่งกองทุนเองก็นำเงินลงทุนบางส่วนนั้นกลับมาฝากกับธนาคาร ส่งผลให้ประเภทผู้ฝากเงินของธนาคารเปลี่ยนไป จากเดิมที่เป็นประชาชนทั่วไปกลายเป็นกองทุนและสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น ซึ่งคู่สัญญาประเภทนี้ให้ความสำคัญกับอัตราผลตอบแทนเป็นหลักจึงมีการเคลื่อนย้ายเงินที่รวดเร็ว อีกทั้งธุรกรรมมีขนาดใหญ่ จึงทำให้แหล่งเงินของธนาคารมีความผันผวนมากขึ้น
จากภาวะแวดล้อมทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปข้างต้น ธปท. จึงมีแนวทางที่จะปรับปรุงเกณฑ์การกำหนดปริมาณสินทรัพย์สภาพคล่องที่ธนาคารต้องถือครองให้สะท้อนความเสี่ยงมากขึ้น โดยหลักเกณฑ์ใหม่นี้มีชื่อว่า Liquidity Coverage Ratio (LCR) ซึ่งกำหนดอัตราการไหลออกของเงินสดของธนาคารให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของแต่ละรายการ เช่น กำหนดความน่าจะเป็นที่เงินฝากจากกองทุนและสถาบันการเงินจะไหลออกมากกว่าเงินฝากจากประชาชนทั่วไป เป็นต้น
ทั้งนี้ ธปท. เห็นว่าควรจะนำหลักเกณฑ์ LCR มาปรับใช้กับธนาคารในประเทศไทย แม้ว่าจะเป็นต้นทุนส่วนหนึ่งของธนาคาร แต่เป็นแนวทางที่น่าจะช่วยลดความเสี่ยงของแต่ละธนาคารและระบบได้ นอกจากนี้ รายละเอียดของหลักเกณฑ์ส่วนใหญ่มีความสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้ฝากในประเทศไทย โดย ธปท. จะนำหลักเกณฑ์ LCR มาใช้ในปี 2559 ในลักษณะทยอยใช้เพื่อให้เวลาธนาคารในการปรับตัวได้อย่างถาวรและไม่กระทบต่อผลการดำเนินงานของธนาคาร เสถียรภาพของระบบ และการใช้บริการของลูกค้าของธนาคาร
อย่างไรก็ดี หลักเกณฑ์ LCR เป็นเครื่องมือที่ช่วยดูแลเฉพาะการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในระยะสั้นเท่านั้น อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วเมื่อตอนต้นบทความ การบริหารสภาพคล่องของธนาคารยังครอบคลุมถึงการบริหารในระยะกลางและระยะยาวด้วย โดยปัจจุบันหน่วยงานกำกับดูแลสากลอยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดหลักเกณฑ์ ซึ่งเป็นประเด็นที่เราจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไปว่า หลักเกณฑ์ที่ออกมาจะมีหน้าตาอย่างไร และมีความจำเป็นหรือไม่ที่จะนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาใช้กับธนาคารในประเทศไทย
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย