นางสาวนันทพร พงศ์พัฒนานนท์
ประเด็นที่กำลังเป็นที่สนใจและจับตามองในช่วงนี้นอกเหนือจากเรื่องเงินเฟ้อและเงินทุนไหลเข้า-ออกจากต่างประเทศแล้ว คือ หนี้ต่างประเทศของไทยที่เพิ่มสูงขึ้นมากนับแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2553 โดยยอดคงค้างหนี้ล่าสุด ณ เดือน พ.ย. 2553 อยู่ที่ 95 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งถือว่าเริ่มเข้าใกล้กับระดับหนี้ตอนช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งที่สูงสุดที่ 112 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ณ เดือน มิ.ย. 2540 นอกจากนี้ สัดส่วนหนี้ระยะสั้นต่อหนี้ต่างประเทศทั้งหมดอยู่ที่ร้อยละ 48 เทียบกับร้อยละ 41 ณ เดือน มิ.ย. 2540 ทำให้หลายฝ่ายเริ่มตั้งคำถามว่าประเทศไทยกำลังจะกลับเข้าสู่วิกฤติหนี้ต่างประเทศดังเช่นปี 2540 หรือไม่ เพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดต่อผู้อ่าน วันนี้จึงขอมาเล่าสู่กันฟังดังต่อไปนี้
ย้อนกลับไปช่วงก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง การเปิดเสรีทางการเงินและการก่อตั้งกิจการวิเทศธนกิจ (BIBFs) ในปี 2536 ทำให้ธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) และธุรกิจในประเทศสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำจากทั่วโลกได้ง่ายขึ้น ผนวกกับการที่ประเทศไทยเผชิญกับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด (ดุลการค้าและดุลบริการฯ) อย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมให้ภาคเอกชนไทยกู้เงินจากต่างประเทศมากขึ้นเพื่อชดเชยกับการขาดดุลดังกล่าวจนนำไปสู่การเก็งกำไรในบางกลุ่มธุรกิจและภาวะฟองสบู่แตกในปี 2540 อย่างไรก็ดี ในปี 2541 ดุลบัญชีเดินสะพัดเริ่มกลับมาเกินดุลอันเป็นผลมาจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง รวมทั้งมีการชำระคืนหนี้อย่างต่อเนื่อง ทำให้หนี้ต่างประเทศเริ่มลดลงและทรงตัวระหว่างปี 2549 ถึง 2551
เมื่อพิจารณาหนี้ต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นในปี 2553 จะพบข้อสังเกตสำคัญบางประการที่ระบุว่าหนี้ต่างประเทศดังกล่าวแตกต่างจากช่วงวิกฤติปี 2540 ดังนี้
ข้อที่ 1 หนี้ต่างประเทศของภาคแบงก์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหนี้ระยะสั้น อันเป็นผลจากสาขาแบงก์ต่างชาติในไทยเพิ่มการกู้เงินจากแบงก์แม่ในต่างประเทศเพื่อปรับสภาพคล่องเงินตราต่างประเทศเป็นสำคัญ ซึ่งในอดีตแบงก์นิยมปรับสภาพคล่องเงินตราต่างประเทศผ่านการถอนเงินฝากในต่างประเทศ แต่ในปัจจุบันอาจไม่สามารถใช้วิธีนี้ได้อีก เนื่องจากยอดเงินฝากดังกล่าวเหลือน้อยตั้งแต่ปี 2551
ข้อที่ 2 หนี้ต่างประเทศของภาคธุรกิจเอกชนที่กลับมาสูงกว่าปี 2540 เป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากสินเชื่อการค้าที่ผู้นำเข้าไทยได้รับจากคู่ค้าต่างชาติ สะท้อนการเติบโตของการค้าระหว่างประเทศเป็นสำคัญ ซึ่งต่างจากในปี 2540ที่หนี้ของภาคธุรกิจเอกชนเป็นเงินกู้เพื่อใช้ในธุรกิจโดยผ่าน BIBFs
ข้อที่ 3 หนี้ต่างประเทศของรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) เพิ่มสูงขึ้นกว่า 2เท่าเมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. 2540 เป็นผลมาจากการที่นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อพันธบัตรของรัฐบาลและแบงก์ชาติในตลาดรอง สะท้อนภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวจากวิกฤติการเงินโลกได้เร็วกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ขณะที่ผลตอบแทนจากการลงทุนในไทยสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วซึ่งกำลังอยู่ในช่วงดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำเพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม แม้ยอดคงค้างหนี้ต่างประเทศจะอยู่ในระดับสูง แต่หนี้เหล่านี้ล้วนมีความเสี่ยงต่ำและตัวเลขเครื่องชี้เสถียรภาพต่างประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดีและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งต่างจากช่วงวิกฤติปี 2540ตัวอย่างเช่น สัดส่วนเงินทุนสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นล่าสุด ณ เดือน พ.ย. 2553 อยู่ที่ 3.7 เท่า สูงกว่า 0.7 เท่าในช่วงวิกฤติปี 2540 สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานสากลที่ควรเกิน 1.0 เท่า สำหรับสัดส่วนยอดคงค้างหนี้ต่างประเทศต่อมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ณ ไตรมาส 3 ปี 2553 อยู่ที่ร้อยละ 32.2 ต่ำกว่าร้อยละ 64.8 ในปี 2540จากการที่เศรษฐกิจไทยมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก โดยที่เกณฑ์มาตรฐานสากลควรต่ำกว่าร้อยละ 80.0ขณะที่สัดส่วนยอดคงค้างหนี้ต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ ณ เดือน พ.ย. 2553 อยู่ที่ร้อยละ 45.9 ต่ำกว่าร้อยละ 149.0 ในปี 2540 โดยที่เกณฑ์มาตรฐานสากลควรต่ำกว่าร้อยละ 220.0 เป็นต้น
จากที่เล่ามาจะเห็นได้ว่า แม้ระดับหนี้ในปัจจุบันจะเริ่มเข้าไปใกล้เคียงกับในช่วงปี 2540 แต่มีความเสี่ยงแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ประเทศไทยยังคงมีเสถียรภาพต่างประเทศในเกณฑ์ดี และมีโอกาสค่อนข้างต่ำที่จะกลับเข้าสู่ภาวะวิกฤติหนี้เช่นที่เกิดขึ้นในปี 2540 อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพภายนอกประเทศอย่างยั่งยืน จึงมีความจำเป็นที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นแบงก์ที่ต้องเข้มงวดในธุรกรรมการกู้เงินและปล่อยกู้กับลูกค้า ภาคธุรกิจเอกชนต้องระมัดระวังในการก่อหนี้ พร้อมกับการบริหารจัดการหนี้ขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่หน่วยงานภาครัฐและแบงก์ชาติควรมีการดำเนินนโยบายด้านหนี้ต่างประเทศที่เหมาะสม พร้อมติดตามภาวะหนี้ต่างประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้เตรียมตัวรับมือได้อย่างทันท่วงที
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย