นางสาวสุนารี คุปวานิชพงษ์
ฝ่ายนโยบายและกำกับการแลกเปลี่ยนเงิน
จากตอนที่แล้วซึ่งได้เล่าถึงการยกเลิกแบบการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ หรือ FX Form ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจต้องยื่นต่อธนาคารพาณิชย์เมื่อทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ เพื่อช่วยลดภาระด้านเอกสาร และอำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชนในการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ (Ease of doing business) ในวันนี้มาดูกันต่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์การทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศอย่างไรอีกบ้างที่เอื้อประโยชน์แก่ภาคธุรกิจไทย
อย่างที่ทราบกันดีว่าเศรษฐกิจไทยพึ่งพารายได้จากภาคการส่งออกเป็นหลัก อีกทั้ง มีการนำเข้าสินค้าหรือวัตถุดิบ รวมไปถึงเครื่องจักรจากต่างประเทศเพื่อผลิตสินค้าจำหน่ายในประเทศ นอกจากนี้ ผู้ประกอบธุรกิจไทยยังมีการออกไปลงทุนในกิจการในต่างประเทศเพื่อขยายกิจการ และแสวงหาประโยชน์ในด้านต้นทุนการผลิตหรือในด้านตลาด ผู้ประกอบธุรกิจไทยส่วนใหญ่จึงมีความเกี่ยวข้องกับธุรกรรมเงินตราต่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในปัจจุบัน หากบริษัทต้องการโอนเงินไปต่างประเทศในจำนวนที่เกินกว่า USD 50,000 บริษัทจะต้องยื่นเอกสารหลักฐานแสดงภาระค่าใช้จ่ายในต่างประเทศกับธนาคารพาณิชย์ในทุกครั้งที่ทำธุรกรรม เช่น หลักฐานการซื้อขายสินค้าและบริการ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ตรวจสอบ นอกจากนี้ การทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศในบางกรณีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น การทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงกับสถาบันการเงินในต่างประเทศ บริษัทจะต้องมีการยื่นขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยก่อนการทำธุรกรรม
ด้วยภาระในด้านเอกสาร รวมถึงการยื่นขออนุญาต ก่อให้เกิดความไม่คล่องตัวแก่บริษัทในการทาธุรกรรมเงินตราต่างประเทศและการบริหารความเสี่ยง ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ประกอบธุรกิจไทยปรับตัวได้ช้าไม่ทันการณ์เช่นในยุคปัจจุบันที่ระบบเศรษฐกิจการเงินของโลกมีความผันผวนสูง เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ซับซ้อน และคาดการณ์ได้ยาก (Volatility Uncertainty Complexity and Ambiguity – VUCA)
ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้มีแนวความคิดใหม่ที่เริ่มทดลองผ่อนคลายให้บริษัททำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศกับธนาคารพาณิชย์โดยไม่ต้องแสดงเอกสารหลักฐานประกอบการทาธุรกรรมในแต่ละครั้ง โดยเริ่มผ่อนคลายให้กับกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจที่มีคุณสมบัติที่กำหนดก่อน ซึ่งเรียกง่าย ๆ ว่า กลุ่ม Qualified company แล้วใครกันบ้างที่จะเข้าข่ายเป็น Qualified company และบริษัทเหล่านั้นจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง.....มาดูกัน
บริษัทที่จะมายื่นขอเป็น Qualified company จะต้องเป็นบริษัท หรือกลุ่มบริษัทไทยที่มีปริมาณธุรกรรมระหว่างประเทศใน 3 ปีที่ผ่านมารวมแล้วไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์ สรอ.ที่มีความสม่ำเสมอของธุรกรรม มีนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงกระบวนการตรวจสอบการปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าวที่ชัดเจนเหมาะสม
บริษัทที่สนใจเป็น Qualified company สามารถยื่นขออนุญาตต่อธนาคารแห่งประเทศไทยได้ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 เป็นต้นไป จนถึงเดือนพฤษภาคม 2561 โดยยื่นขออนุญาตพร้อมเอกสารประกอบผ่านธนาคารพาณิชย์ ซึ่งหลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยออกหนังสืออนุญาตแก่บริษัทแล้ว เมื่อ Qualified company ไปทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ ให้ยื่นเพียงหนังสืออนุญาตดังกล่าวฉบับเดียว ไม่ต้องยุ่งยากขนเอกสารหลักฐานจำนวนมากมาแสดงต่อธนาคารพาณิชย์เช่นในอดีตอีกต่อไป ประกอบกับ Qualified company สามารถทำธุรกรรมในขอบเขตที่กว้าง และค่อนข้างเสรีกว่าบริษัททั่วไปนอกโครงการ เช่น สามารถส่งเงินไปฝากในต่างประเทศ หรือทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงแทนบริษัทในกลุ่ม โดยไม่ต้องยื่นเอกสารหลักฐานด้วยเช่นกัน
การผ่อนคลายการทำธุรกรรมของ Qualified company ในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นก้าวแรกที่ภาคเอกชนสามารถทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศได้ในขอบเขตที่ค่อนข้างกว้าง และคล่องตัวที่สุดเท่าที่เคยผ่อนคลายมา ซึ่งช่วยลดภาระและต้นทุนทั้งในด้านเอกสาร รวมถึงภาระในการยื่นขออนุญาตในแต่ละครั้ง ทำให้บริษัททำธุรกรรมได้รวดเร็ว ทันการณ์มากยิ่งขึ้น
ก้าวในวันนี้ถือเป็นก้าวใหม่ในการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศของภาคเอกชน ซึ่งเมื่อดูจากทิศทางการผ่อนคลายที่ผ่านมาของธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วก็เชื่อว่าจะมีก้าวต่อไปจากนี้ที่จะผ่อนคลายหลักเกณฑ์ให้เกิดความคล่องตัวยิ่งๆ ขึ้นไป แก่ผู้ประกอบธุรกิจไทย