​ฝนจะมา แล้งจะไป ภัยแล้งจะหายไปหรือไม่?

นายจิรวัฒน์ ชนะ

ในช่วงสองปีที่ผ่านมา เกษตรกรไทยได้ประสบปัญหาภัยแล้งมาหลายครั้งจากฝนที่ตกมาน้อย ต่อเนื่องและไม่สามารถพึ่งพาน้ำจากเขื่อนได้เหมือนในอดีต ปริมาณน้ำในเขื่อนที่ลดลงต่ำมากจนกรม ชลประทานต้องขอความร่วมมือให้ชาวนางดปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำแม่กลอง ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาภัยแล้งครั้งนี้รุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา และลุกลามไปทั่วทุกภูมิภาค สังเกตได้จากความเสียหายที่เกิดขึ้นขยายลามไปถึงพืชชนิดอื่นที่ใช้น้ำน้อยด้วย


ภัยแล้งครั้งนี้รุนแรงแค่ไหน

แบงค์ชาติมีความกังวลต่อสถานการณ์ภัยแล้งครั้งนี้ และติดตามปัญหาและผลกระทบของภัยแล้งอย่างใกล้ชิด จัดทีมสำรวจลงภาคสนามในหลายจังหวัดทุกภูมิภาค พบปะพูดคุย และสอบถามปัญหาจากทั้งเกษตรกรและโรงสี ผลสำรวจพบว่าประชาชนในแต่ละพื้นที่เผชิญผลกระทบจากภัยแล้งแตกต่างกันออกไป หากพิจารณาด้านพื้นที่เพาะปลูกข้าว ชาวนาในภาคกลางตอนบนและภาคเหนือตอนล่างได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมากกว่าภูมิภาคอื่น ชาวนาส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะงดเพาะปลูกข้าวนาปรัง หลังจากประเมินว่าน้ำที่มีอยู่ไม่เพียงพอ และเป็นการลงทุนที่ได้ไม่คุ้มเสีย โดยภาคกลางลดพื้นที่เพาะปลูกลงกว่าร้อยละ 80 และภาคเหนือลดลงร้อยละ 70 ชาวนาบางกลุ่มได้ลองพยายามที่จะปลูก แต่ผลผลิตกลับเสียหายเกือบทั้งหมด มีเพียงชาวนา ส่วนน้อยเท่านั้นที่โชคดี เพราะพื้นที่เพาะปลูกอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่สามารถผันน้ำเข้ามาใช้ได้ แต่ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ก็ยังลดลงจากปีก่อนประมาณร้อยละ 20 วัดจากค่าเฉลี่ยผลผลิตที่เก็บเกี่ยวข้าวได้ประมาณ 100 ถังต่อไร่ แต่ปีนี้เก็บเกี่ยวข้าวได้เพียง 80 ถังต่อไร่ ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลงร้อยละ 50 ส่วนภาคใต้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งไม่มากนักเทียบกับภาคอื่น เนื่องจากมีพื้นที่ปลูกข้าวเพียงร้อยละ 4 ของประเทศเท่านั้น

หากเราเจาะลึกลงไปในภูมิภาคเดียวกัน พบว่า เกษตรกรในแต่ละจังหวัดได้รับผลกระทบจากภัยแล้งครั้งนี้แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยของตำแหน่งของพื้นที่เพาะปลูกตามเกณฑ์ภูมิศาสตร์และพืชที่ปลูก ในภาคกลาง พื้นที่ที่เสียหายจากภัยแล้งมากสุดคือ ภาคกลางตอนล่างในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพราะอยู่ในเขตชลประทานปลายน้ำ ทำให้ชาวนามีโอกาสผันน้ำเข้าที่นาน้อยกว่าจังหวัดอื่นๆ ซ้ำร้ายยังไม่สามารถเจาะบ่อบาดาลเพื่อใช้แทนได้ เนื่องจากเมื่อเจาะบ่อบาดาลแล้วเจอน้ำเค็มซึ่งไม่สามารถนำมาใช้ปลูกข้าวได้ ขณะที่ชาวนาในภาคกลางตอนบน เช่น ลพบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี ได้รับความเสียหายจากภัยแล้งน้อยกว่า เนื่องจากอยู่บริเวณต้นน้ำชลประทานใกล้กับเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และสามารถเจาะบ่อบาดาลได้ ไม่ประสบปัญหาน้ำเค็ม ส่วนภาคตะวันตกและภาคตะวันออกยังมีน้ำสำรองในเขื่อนที่ใช้ได้อยู่มาก และไม่ได้ปลูกข้าวเป็นหลัก จึงได้รับผลกระทบน้อยกว่า สำหรับภาคเหนือซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวนาปรังหลักของประเทศ ได้รับความเสียหายจากภัยแล้งไม่แตกต่างจากภาคกลาง โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ ตอนล่าง ซึ่งต้องพึ่งพาน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์เป็นหลัก ยกเว้นเชียงรายที่ปริมาณน้ำตามธรรมชาติในคลอง หนอง บึง ยังสามารถรองรับการทำการเกษตรได้


อย่างไรก็ดี ภาคเกษตรกรรมของไทยก็ไม่ได้เผชิญปัญหาภัยแล้งรุนแรงไปเสียทั้งหมด เกษตรกร ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้เผชิญปัญหาภัยแล้งน้อยกว่าภาคอื่นๆ เนื่องจากส่วนใหญ่ปลูกข้าวนาปรังน้อยอยู่แล้ว และด้วยที่ตั้งของภาคอีสานที่ติดกับแม่น้ำโขงได้ช่วยบรรเทาความรุนแรงของภัยแล้งให้เกษตรกรในจังหวัดต่างๆ เช่น หนองคาย บึงกาฬ นครพนม ที่ผันน้ำเข้ามาใช้การได้ มีเพียงบางจังหวัดที่ประสบภัยแล้งบ้าง เช่น ขอนแก่น นครราชสีมา และชัยภูมิ เนื่องจากปลูกข้าวนาปรังมากและต้องอาศัยน้ำชลประทานจากเขื่อนอุบลรัตน์ ขณะที่เกษตรกรภาคใต้ส่วนใหญ่ปลูกยางพาราและปาล์มน้ามัน ซึ่งทนทานต่อภัยแล้งได้ดีกว่าข้าวเพราะเป็นพืชยืนต้น จึงได้รับผลของภัยแล้งน้อยกว่าภูมิภาคอื่นมาก


ทางด้านโรงสีข้าวและธุรกิจการเกษตร ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 50 ทั่วประเทศโดยเฉพาะในภาคกลางและภาคเหนือต้องปิดกิจการชั่วคราว เพราะขาดวัตถุดิบ บางโรงสีที่ยังเปิดกิจการอยู่ก็จะลดคนงานลง การค้าขายวัตถุดิบการเกษตรก็ฝืดเคือง ยอดขายลดลงไปกว่าครึ่ง มีเพียงพ่อค้าที่ขายเครื่องจักรกลการเกษตร เช่น รถไถนา รถเกี่ยวข้าว ที่ยังประคับประคองให้พอไปได้ และบางร้านได้หันมาขายอุปกรณ์เครื่องสูบน้ำแทน


แล้วเกษตรกรปรับตัวกันอย่างไร

ชาวนาในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งอย่างรุนแรงครั้งนี้ต้องปรับตัวมาก แต่ในชีวิตจริงเกษตรกรมีข้อจำกัดในการปรับตัว การเปลี่ยนอาชีพที่ทำกิน มากว่าครึ่งค่อนชีวิตไม่ใช่เรื่องง่าย อีกทั้งยังขาดเงินทุน และความรู้ที่จะไปลองผิดลองถูก โดยบางรายก็หันไปทำอาชีพเสริมชั่วคราว เช่น งานก่อสร้าง รับจ้างเล็กๆ น้อยๆ รวมถึงหันไปปลูกพืชอื่นทดแทน แต่รายได้จากการทำอาชีพเสริมส่วนใหญ่ไม่สามารถชดเชยรายได้ที่หายไปจากการขายข้าวได้ ในท้ายสุดก็ต้องใช้เงินเก็บจากการขายข้าวในฤดูกาลที่ผ่านมา รวมถึงต้องรัดเข็มขัดลดรายจ่าย ขอยืดเวลาชำระหนี้ รวมถึงบางรายต้องกู้ยืมเงินมาใช้จ่าย ทำให้ฐานะการเงินของเกษตรกรย่ำแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด ชาวนาบางรายต้องพึ่งพาเงินส่งกลับจากลูกหลาน เพื่อประคับประคองการใช้จ่ายในช่วงที่ไม่มีรายได้

ภาครัฐก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับความยากลำบากของชาวนาที่ขาดรายได้ในช่วงภัยแล้ง และจากข้อมูล การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจัดทำโดย สำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ชาวนาเป็นกลุ่มที่มีปริมาณหนี้สูง และเพื่อแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด ภาครัฐจึงได้ออกมาตรการเยียวยาเร่งด่วน โดยลดดอกเบี้ยเงินกู้ ขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไป แต่ให้ชำระคืนภายใน 2 ปี รวมถึงให้ชาวนากู้เพิ่มโดยไม่คิดดอกเบี้ยเพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ขณะเดียวกัน เพื่อความมั่นคงของรายได้ของเกษตรกร ภาครัฐได้มีมาตรการระยะยาวจัดหาโครงการเพื่อการปรับเปลี่ยนอาชีพ เช่น ให้เงินทุนสนับสนุนสำหรับเกษตรกรที่ผันตัวเองมาเป็นผู้ประกอบการ รวมถึงสนับสนุนเกษตรกรที่หันมาปลูกพืชทนแล้ง หรือปลูกพืชที่เป็นที่ต้องการของตลาดโดยมีภาคธุรกิจเป็นตัวกลาง (Contract Farming) เป็นต้น

สัญญาณภัยแล้งครั้งนี้ไม่อาจมองข้าม

แม้ว่ากรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศว่าภัยแล้งกำลังจะผ่านพ้นไป และฝนจะมาตามฤดูกาล แต่อย่าเพิ่งวางใจ เพราะเกษตรกรอาจไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตต่อไร่ได้มากเหมือนช่วงก่อนหน้า เนื่องจากภาวะที่ฝนแล้งรุนแรงและต่อเนื่องยาวนาน ต้องอาศัยปริมาณน้ำที่มากพอเพื่อฟื้นฟูพื้นที่เพาะปลูก ขณะเดียวกัน เกษตรกรยังคงต้องเผชิญกับราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ทั้งราคาข้าว ราคามันสำปะหลัง และราคายางพาราที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะนี้ที่ฝนเริ่มมายังไม่อาจรับประกันได้ว่าจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนได้ ขึ้นอยู่กับว่าฝนจะตกอยู่เหนือหรือใต้เขื่อน นอกจากนี้ ผลผลิตยังมีความเสี่ยงที่จะได้รับความเสียหายหากเกิดปรากฏการณ์ลานีญา ที่ฝนมามากกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดน้ำท่วมในพื้นที่เพาะปลูก ขณะเดียวกัน เกษตรกรยังมีความเสี่ยงทางการเงินที่ยังเปราะบางจากภาระหนี้ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง

ภัยแล้งครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติที่มาบ่อยครั้งและรุนแรงมากขึ้น ในการรับมือกับความผันผวนและความไม่แน่นอนดังกล่าว กระบวนการบริหารจัดการน้ำควรมีกลไกเน้น “การมีส่วนร่วมอย่างบูรณาการ” ของทั้งภาครัฐและเกษตรกร รวมทั้งประชาชนในลุ่มน้ำทั้งการวางนโยบายและกำหนดแผนงานเพื่อจัดการความเสี่ยงและลดผลกระทบ โดยเกษตรกร ควรวางแผนจัดการน้ำในพื้นที่เพาะปลูกของตนเองอย่างเหมาะสม เรียนรู้การบริหารการปลูกพืชตามความต้องการของตลาด มีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนพืชที่ปลูกเพื่อกระจายความเสี่ยง รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มของผลผลิตทางการเกษตร เช่น การแปรรูปวัตถุดิบการเกษตรให้มีความซับซ้อนมากขึ้น ส่วนภาครัฐควรสร้างระบบชลประทานอย่างทั่วถึง บริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับพื้นที่และความต้องการของเกษตรกรและประชาชนอย่างแท้จริง และสื่อสารและสร้างความเข้าใจถึงปัญหาเรื่องน้ำกับประชาชน เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงของภาคเกษตรที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติในระยะยาวได้

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย