​สถาบันการเงินเฉพาะกิจ กับ แบงก์กิ้งเอเย่นต์

​นางสาวศิธิษณา สู่แสวงสุข
ฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ

สถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือที่หลายคนรู้จักกันว่า “แบงก์รัฐ” มีหน้าที่ให้บริการทางการเงินในรูปแบบเฉพาะตามพันธกิจในการจัดตั้ง โดยบทบาทสำคัญคือ การเข้ามาปิดช่องว่างทางการเงินให้ประชาชนที่ยังขาดโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงินไม่ว่าจากธนาคารพาณิชย์ หรือผู้ให้บริการประเภทอื่น โดยสามารถจำแนกแบงก์รัฐออก 3 กลุ่มตามพันธกิจ ดังนี้ 1) กลุ่มที่เน้นให้บริการลูกค้ารายย่อยทั่วไป ทั้งด้านเงินฝาก สินเชื่อ หรือโอน/ชำระเงิน เช่น ธนาคารออมสินเน้นลูกค้ารายย่อยทั้งบุคคลธรรมดาและผู้ประกอบการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเน้นลูกค้าเกษตรกร ขณะที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์เน้นลูกค้าที่ต้องการที่อยู่อาศัย ขณะที่ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยจะเน้นบริการทางการเงินตามหลักศาสนาอิสลาม 2) กลุ่มที่เน้นให้บริการบางประเภทแก่ SMEs หรือผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งเป็นบริการด้านสินเชื่อ และให้คำปรึกษาทางธุรกิจ เช่น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และธนาคารเพื่อการส่งออกและนาเข้าแห่งประเทศไทย และ 3) กลุ่มที่ทำหน้าที่เป็นกลไกสนับสนุนการดำเนินงานของแบงก์รัฐหรือสถาบันการเงินอื่น คือบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมที่เข้ามาช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้กับ SMEs ที่มีศักยภาพ แต่ขาดหรือมีหลักประกันไม่เพียงพอให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ และบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นตลาดรองให้กับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับสถาบันการเงินในการขยายสินเชื่อเพื่อรองรับความต้องการที่อยู่อาศัย ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าแบงก์รัฐเป็นที่พึ่งสำคัญของประชาชนทุกกลุ่มที่มีข้อจากัดทางการเงินให้เข้าถึงบริการและแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกขึ้น จากการให้บริการผ่านสาขาธนาคาร การให้บริการนอกสถานที่ (Mobile Unit) เช่น รถหรือเรือเคลื่อนที่ หรือแม้แต่การให้บริการดิจิทัลที่แบงก์รัฐหลายแห่งอยู่ระหว่างพัฒนา เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการควบคุมการใช้จ่ายด้วยตนเองได้แบบทุกที่ทุกเวลา ซึ่งหากมีโอกาสจะขอมาเล่าในบทความครั้งต่อไป

โดยปัจจุบันการขยายบริการโดยเปิดสาขาเพิ่มนั้น อาจไม่ตอบโจทย์ทั้งฝั่งผู้ให้และผู้ใช้บริการโดยเฉพาะแบงก์รัฐกลุ่มที่เน้นให้บริการลูกค้ารายย่อย ซึ่งต้องปรับรูปแบบธุรกิจพร้อมกับพัฒนาความสามารถพนักงานเพื่อให้บริการได้ตรงกับความต้องการของลูกค้าในต้นทุนที่เหมาะสม ซึ่งรูปแบบธุรกิจหนึ่งที่แบงก์รัฐบางแห่งเริ่มนำมาใช้แล้วคือ การแต่งตั้งตัวแทน หรือ “แบงก์กิ้งเอเย่นต์” (Banking Agent) ให้เข้ามาช่วยเสริมพันธกิจของแบงก์รัฐในการกระจายโอกาสทางการเงินให้ประชาชนอย่างทั่วถึง โดยเป็นช่องทางให้บริการที่สามารถเข้าถึงชุมชนได้ครอบคลุมยิ่งขึ้นในต้นทุนที่เหมาะสม โดยส่วนใหญ่จะเป็นกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สถาบันการเงินชุมชน (1) หรือสหกรณ์ (2)

หากจะถามว่าทำไมแบงก์รัฐถึงเลือกองค์กรเหล่านั้นมาเป็นแบงก์กิ้งเอเย่นต์ นั่นอาจเป็นเพราะความได้เปรียบในการเข้าถึงชุมชนจากการมีสถานที่ทำการตั้งอยู่ในหมู่บ้านหรือชุมชนซึ่งช่วยลดต้นทุนการเดินทางของลูกค้า หรือความใกล้ชิดและการรู้จักตัวตนของคนในชุมชน ซึ่งจะช่วยคัดกรองและติดตามพฤติกรรมลูกค้าให้แบงก์รัฐได้ โดยแบงก์กิ้งเอเย่นต์จะให้บริการพื้นฐานบางประเภทแทนแบงก์รัฐ เช่น โอนเงิน ชำระหนี้สินเชื่อหรือค่าสาธารณูปโภค รับฝาก-ถอนเงิน และให้คำปรึกษาทางการเงิน และหากจะมองถึงประโยชน์ของแบงก์กิ้งเอเย่นต์ แม้ว่าสาขาของแบงก์รัฐจะกระจายอยู่ทั่วไปแล้วก็ตาม แต่ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในเขตเมือง ซึ่งลูกค้าที่อยู่นอกเขตเมืองต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเดินทางมาทำธุรกรรม และเมื่อเทียบกับจำนวนเงินในการทำธุรกรรมต่อครั้งนั้นอาจไม่คุ้มกัน แต่หากมีแบงก์กิ้งเอเย่นต์อยู่ในชุมชน คนในชุมชนก็สามารถไปทำธุรกรรมผ่านแบงก์กิ้งเอเย่นต์ได้ โดยไม่ต้องเดินทางไกล และไม่ต้องปิดร้าน

อย่างไรก็ดี การให้บริการดังกล่าวจะสำเร็จได้นั้น จำเป็นที่แบงก์รัฐต้องพัฒนาความรู้ให้แบงก์กิ้งเอเย่นต์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการติดตั้งระบบงาน สอนใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอินเทอร์เน็ตซึ่งจะช่วยสนับสนุน การให้บริการ เช่น การโอนหรือชำระเงินผ่านอินเทอร์เน็ตหรือโมบายแบงก์กิ้ง ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เห็นถึงความสำคัญและสนับสนุนการให้บริการผ่านแบงก์กิ้งเอเย่นต์ เนื่องจากจะเป็นประโยชน์ต่อแบงก์กิ้งเอเย่นต์เองที่จะได้ความรู้และโอกาสพัฒนาศักยภาพ ลูกค้าก็เข้าถึงบริการได้สะดวกขึ้นในต้นทุนที่ถูกลง ตลอดจนแบงก์รัฐก็สามารถลดต้นทุนในการจัดตั้งและบริหารสาขาในพื้นที่

นอกจากนั้น การมีระบบบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดีและมีประสิทธิภาพ มีแนวทางในการคุ้มครองลูกค้า และมีการรับและแก้ไขข้อร้องเรียนที่ชัดเจน ถูกต้อง และรวดเร็ว นับเป็นหัวใจสำคัญที่แบงก์รัฐต้องคำนึงถึงเช่นกัน ซึ่ง ธปท. ก็ตระหนักถึงเรื่องดังกล่าว จึงร่างหลักเกณฑ์กำกับดูแลการแต่งตั้งตัวแทนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ที่ได้จัดประชุมชี้แจงรายละเอียดหลักเกณฑ์ให้แบงก์รัฐทราบแล้วเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยนัยสำคัญจะเน้นเรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยง โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ และการคุ้มครองลูกค้า เพื่อไม่ให้กระทบต่อชื่อเสียงของแบงก์รัฐ ความเชื่อมั่นของประชาชน และเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน แต่ยังคงความยืดหยุ่นและส่งเสริมให้แบงก์รัฐสามารถทาหน้าที่ตามพันธกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งเมื่อหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ผู้เขียนก็หวังว่าแบงก์รัฐก็จะมีการให้บริการผ่านแบงก์กิ้งเอเย่นต์ที่ได้มาตรฐาน หลากหลาย และน่าเชื่อถือ รวมทั้งมีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เป็นระบบและเหมาะสม ตลอดจนมีแนวทางในการคุ้มครองลูกค้าที่ชัดเจน

--------------------------------------------------------

1 จำนวนประมาณ 79,255 แห่ง และได้ยกระดับเป็นสถาบันการเงินชุมชนแล้วกว่า 1,700 แห่ง (ข้อมูลเมื่อ 7 ก.พ. 61 จากสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์)
2 จำนวน 8,194 แห่ง (ข้อมูลเมื่อ ธ.ค. 60 จากกรมส่งเสริมสหกรณ์)

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย