นายวงศพัทธ์ ปิยเศรษฐ์

มาตรการรัดเข็มขัดทางการคลัง (Fiscal Consolidation) ด้วยการลดรายจ่ายภาครัฐในปริมาณที่สูงและปรับเพิ่มภาษีที่มีความแน่วแน่ในประเทศอังกฤษนับเป็นยาที่แรงกว่าประเทศอื่นๆ ทั้งๆที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวชัดเจนและมาตรการดังกล่าวก็มีส่วนทำให้ GDP ในไตรมาสที่ 4 ปี 2553หดตัวร้อยละ 0.6 เทียบกับไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 0.7 ทำให้เกิดคำถามว่าทำไมรัฐบาลอังกฤษถึงจำเป็นต้องดำเนินนโยบายดังกล่าวในขณะนี้ วันนี้จึงขอมาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้

วิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลกครั้งล่าสุด ส่งผลให้สถาบันการเงินหลายแห่งในประเทศอังกฤษล้มละลายและเข้าขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะและการขาดดุลการคลังพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยหนี้สาธารณะต่อ GDP พุ่งสูงขึ้นเป็นร้อยละ 68 ในปี 2552จากร้อยละ 43 ในปี 2550 และการขาดดุลการคลังต่อ GDP พุ่งสูงขึ้นอย่างมากเป็นร้อยละ 10.2 ในปี 2552 จากที่ขาดดุลเพียงร้อยละ 2.6 ในปี 2550 ขณะที่การเลือกตั้งรัฐบาลเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมาพรรค Conservative และ Liberal Democrats ซึ่งชูประเด็นการลดระดับหนี้ที่อยู่ในระดับสูง ชนะคู่แข่งอย่างพรรค Labour (ที่เน้นเรื่องการขยายตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญและเป็นรัฐบาลก่อนหน้า) อย่างล้นหลาม เนื่องจากประชาชนชาวผู้ดีส่วนใหญ่มองว่าการขาดดุลการคลังของอังกฤษในระดับสูงดังกล่าวจะส่งผลเสียอย่างใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจอังกฤษในระยะยาว

รัฐบาลผสมที่นำโดยนาย David Cameron ประกาศแผน Fiscal Consolidation ในเดือนมิถุนายน 2553 หลังจากเข้ารับตำแหน่งได้เพียง 50 วัน โดยแผนดังกล่าวต้องการลดรายจ่ายจำนวน 110 พันล้านปอนด์จนถึงปี 2558 (คิดเป็นร้อยละ 6.1 ของ GDP) ซึ่งเป็นแบบ Front-loaded โดยแบ่งเป็นมาตรการลดรายจ่ายจำนวน 81พันล้านปอนด์ และมาตรการเพิ่มรายได้จำนวน 29 พันล้านปอนด์จากการเพิ่มภาษีต่างๆ เช่น การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากร้อยละ 17.5เ ป็นร้อยละ 20 ซึ่งได้ปรับขึ้นไปแล้วตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะของอังกฤษมีเสถียรภาพมากขึ้นและทยอยปรับลดลงในปี 2557 สำหรับรายจ่ายพบว่า ได้เน้นไปที่การลดรายจ่ายจำพวกภาคบริการของภาครัฐ ถึงกว่าร้อยละ 40 อาทิ การลดการใช้จ่ายด้านการทหาร การลดรายจ่ายเกี่ยวกับการประกันสุขภาพและการปรับเพิ่มค่าเล่าเรียน การลดรายจ่ายดังกล่าวอย่างรวดเร็วจึงกระทบต่อการฟื้นตัวอย่างชัดเจน

คำถามสำคัญคือ ทำไมต้องใช้ยาแรงและเป็นแบบ Front-loaded ในขณะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง หากพิจารณาจากสถานการณ์พบว่าอังกฤษมีความจำเป็นจากปัจจัยสำคัญ ดังนี้

ปัจจัยแรก คือ ความจำเป็นต้องลดความกังวลและผลกระทบของปัญหาหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศยูโรที่อาจจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งสะท้อนจาก CDS (credit default swap) ของอังกฤษที่ปรับสูงขึ้นตามกลุ่มประเทศ PIIGS ชัดเจน แม้จะไม่สูงเท่า

ปัจจัยที่สอง คือ การที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ อาทิ Moody’s และ S&P ได้ออกมาประกาศเตือนอังกฤษอยู่หลายรอบว่าหากไม่มีมาตรการปรับลดระดับหนี้อย่างจริงจัง อังกฤษอาจต้องเสียอันดับความเชื่อถือระดับ AAA ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธนาคารที่ยังคงเปราะบางมาก

ปัจจัยสุดท้าย คือ ภาคการคลังของอังกฤษมีสัดส่วนรายจ่ายที่เป็นภาระผูกพันต่อภาครัฐค่อนข้างสูง โดยเฉพาะสวัสดิการต่างๆ แม้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นในอนาคตก็จะยังไม่สามารถลดรายจ่ายประเภทนี้ได้มากนักและจะเป็นภาระสะสมต่อภาครัฐ ดังนั้นรัฐบาลอังกฤษจึงต้องรีบปรับลดรายจ่ายอย่างเร่งด่วน

การที่รัฐบาลอังกฤษต้องเร่งออกมาตรการรัดเข็มขัดขนานใหญ่จนทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงนั้น นับเป็นบทเรียนสำคัญว่าการสร้างเสริมความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลัง (Fiscal room) ในยามภาวะปกติเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากในทุกวิกฤตที่ผ่านมาภาครัฐจำเป็นต้องใช้มาตรการต่างๆเพื่อเข้าช่วยเหลือพยุงเศรษฐกิจ ดังนั้น วินัยทางการคลังจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นไม่ว่าจะเป็นประเทศพัฒนาหรือกำลังพัฒนาก็ตามในโลกที่วิกฤตมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้บ่อยครั้งขึ้น

ในกรณีของประเทศไทย ในช่วงปี 2550-2554 การขยายตัวของงบประมาณรายจ่ายเพิ่มขึ้นมากกว่าการขยายตัวของการจัดเก็บรายได้ถึง 2 เท่า กล่าวคือ งบประมาณรายจ่ายเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ8.8 ต่อปี ขณะที่รายได้สุทธิของรัฐบาลเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4.2 ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของรายจ่ายด้านสวัสดิการและการศึกษาซึ่งมีสัดส่วนรวมกันถึงร้อยละ 45 ของงบประมาณทั้งหมดที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญและโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยเฉพาะจากการขยายสวัสดิการต่างๆ เช่น เบี้ยผู้สูงอายุ การสมทบ กองทุนประกันสังคม การสนับสนุนกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นต้น แม้ว่าในปัจจุบันที่ประเทศไทยยังไม่มีปัญหาความยั่งยืนทางการคลัง แต่ความไม่สมดุลของรายรับและรายจ่ายข้างต้นที่ต่อเนื่องก็อาจทำให้ความสามารถในการรองรับวิกฤตในอนาคตลดลง ดังนั้น ในภาวะที่เศรษฐกิจขยายตัวดีต่อเนื่อง ภาครัฐจึงควรดูแลระมัดระวังการใช้จ่าย เพื่อไม่ให้ต้องไปรัดเข็มขัดในอนาคตจนหายใจลำบากอย่างอังกฤษในขณะนี้

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย