​ทำไมธุรกิจต้องป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน?

นายสุพริศร์ สุวรรณิกฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค

ในช่วงที่ผ่านมา หลายท่านคงเห็นพาดหัวข่าวเกี่ยวกับเงินบาทที่โน้มแข็งค่าขึ้นตั้งแต่เปิดศักราชใหม่ ซึ่งส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากความไม่แน่นอนในภาวะเศรษฐกิจและการเมืองในต่างประเทศที่ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลง ขณะที่เงินสกุลอื่น ๆ แข็งค่าขึ้น โดยเฉพาะค่าเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมถึงเงินบาท จนทำให้มีผู้นิยามสภาวะดังกล่าวว่า “อ่อนนอก แข็งใน” กล่าวคือ ขณะที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มอ่อนแอลงจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ แต่เศรษฐกิจไทยในภาพรวมยังคงขยายตัวดีจากอุปสงค์ในประเทศเป็นสำคัญ รวมทั้งเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยที่ยังคงเข้มแข็ง สะท้อนจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังอยู่ในระดับสูง และเงินสำรองระหว่างประเทศที่สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก เพียงพอต่อการรองรับภาระหนี้ต่างประเทศในระยะสั้นที่จะครบกำหนดชำระใน 1 ปีข้างหน้าได้ถึง 3 เท่า

เงินบาทที่แข็งค่าเปรียบเสมือน “เหรียญสองด้าน” โดยมีผลทั้งทางบวกและลบต่อเศรษฐกิจไทย โดยในด้านบวก การแข็งค่าของเงินบาทมีส่วนช่วยลดต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบและการลงทุนในเครื่องจักรนำเข้าของผู้ผลิต รวมถึงช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพของผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกเร่งตัวขึ้นเร็ว ในขณะที่การแข็งค่าของเงินบาท อาจมีส่วนทำให้รายได้ผู้ส่งออกในรูปเงินบาทลดลง และเสี่ยงต่อการสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคาในบางอุตสาหกรรม โดยเฉพาะผู้ส่งออกสินค้าเกษตรที่มีการแข่งขันทางด้านราคาในตลาดโลกสูง มีลักษณะสินค้าที่เป็นรูปแบบเดียวกัน (homogeneous) และลูกค้าสามารถหันไปนำเข้าจากประเทศอื่น ๆ ได้ง่าย

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความห่วงใยในประเด็นดังกล่าวและติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด โดยภายใต้อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการ (Managed float) ธปท. จะดูแลค่าเงินบาท หากเคลื่อนไหวผันผวนผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นด้านแข็งหรืออ่อนค่า เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาในการปรับตัวได้ทัน แต่ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ที่ค่าใดค่าหนึ่ง เพราะเป็นการฝืนและบิดเบือนกลไกตลาด นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง เพราะอาจถูกมองว่าเป็นประเทศที่บิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยนให้อ่อนค่าเพื่อประโยชน์ทางการค้า และอาจส่งผลต่อมาตรการกีดกันทางการค้าอื่น ๆ ตามมา

ทั้งนี้ เมื่อเริ่มเข้าเดือน มี.ค. 2562 เงินบาทเริ่มอ่อนค่าลงตามเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้น จากการประกาศตัวเลข GDP ของสหรัฐฯ ที่ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ภายใต้โลกที่มีความไม่แน่นอนสูง เงินบาทสามารถเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทิศทางได้อย่างรวดเร็ว และเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ธุรกิจทั้งส่งออกและนำเข้าจึงควรเตรียมการรองรับความผันผวนที่จะเกิดขึ้นด้วยตนเอง โดยทางออกในการหลีกเลี่ยงคือ “การป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (FX hedging)” อาทิ การทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (FX forward) การจองสิทธิที่จะซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (FX options) การใช้เงินบาทและเงินสกุลท้องถิ่นของประเทศคู่ค้าในการค้าขายระหว่างประเทศแทนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มากขึ้น ตลอดจนการพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่ม (Value added) เพื่อลดการพึ่งพาการแข่งขันทางด้านราคา

การป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่ใช่เรื่องยากสำหรับธุรกิจ โดยมีทางเลือกแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของธุรกิจ สำหรับ FX forward ธุรกิจสามารถติดต่อธนาคารเพื่อขอเปิดวงเงินก่อนที่จะใช้ และสำหรับ FX options ธุรกิจสามารถทำกับธนาคารส่วนใหญ่ได้เลย โดย ธปท. ได้ร่วมดำเนินการกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) สมาคมธนาคารไทย และธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง ภายใต้ “โครงการบริหารความเสี่ยง FX ของ SMEs” ซึ่งได้ดำเนินการต่อเนื่องมาสู่ระยะที่ 2 เปิดโอกาสให้ SMEs ที่เป็นผู้ส่งออกหรือนำเข้าซึ่งเป็นสมาชิก สสว. และมีรายได้ไม่เกิน 400 ล้านบาทต่อปี ได้ทดลองใช้ FX options ในการบริหารความเสี่ยง โดยทางการจะช่วยเหลือค่าธรรมเนียมให้สูงสุด 50,000 บาทต่อกิจการ พร้อมทั้งเปิดให้ผู้ประกอบการทุกรายสามารถเข้าร่วมการอบรมสัมมนาหรือเรียนผ่านสื่อ e-Learning เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนให้มากขึ้น

นอกจากนี้ หากธุรกิจไม่ต้องการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงด้วยวิธีดังกล่าว ยังสามารถป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ผ่านวิธีการอื่น ๆ ที่กำลังได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อย ๆ เช่น การใช้บัญชีเงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit: FCD) เหมาะกับธุรกิจที่เป็นทั้งผู้ส่งออกและนำเข้า เพราะเมื่อได้เงินตราต่างประเทศมาแล้วไม่ต้องขายทันที แต่เก็บไว้เพื่อจ่ายค่าสินค้าในอนาคตได้และการค้าขายด้วยเงินสกุลท้องถิ่นแทนสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ (Local currency invoicing) โดยเฉพาะการรับจ่ายด้วยสกุลเงินบาท (THB invoicing) ซึ่งจะทำให้ทราบกำไรที่แน่นอนโดยไม่ต้องเสี่ยงกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ผันผวน

กล่าวโดยสรุป ไม่ว่าค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางใด ธุรกิจควรป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะการไม่ต้องกังวลกับการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน และการได้รับกระแสเงินสดที่แน่นอน แม้จะมีต้นทุนอยู่บ้าง จะทำให้ธุรกิจมีเวลาในการบริหารและพัฒนาธุรกิจที่มีความชำนาญอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสร้างความสามารถในการทำกำไรได้อย่างยั่งยืน การไม่บริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน คือ การลุ้นว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร ไม่ต่างจากการเดิมพัน จริงอยู่ว่าในบางครั้งท่านอาจโชคดีมีเงินได้เพิ่มเติม แต่เมื่อโชคร้ายอาจสูญเสียกำไรพึงได้จากผลประกอบการหรือแม้กระทั่งขาดทุนเช่นเดียวกันครับ!


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย