​นวัตกรรมการเกษตร: ทางออกปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทย ตอน 1

​ดร.เสาวณี จันทะพงษ์
นางสาวพรชนก เทพขาม
ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค

ทำอย่างไรจึงจะช่วยยกระดับรายได้ต่อหัวของเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและช่วยลดความ เหลื่อมล้าของไทยเป็นประเด็นเศรษฐกิจสำคัญลำดับต้นๆ ของการพัฒนาประเทศตลอดมา ถึงแม้ไทยจะประสบความสำเร็จในการลดปัญหาความยากจนลงได้ แต่สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของไทยยังอยู่ระดับไม่น่าพอใจ เกษตรกรเป็นอาชีพที่ไม่สามารถให้ความมั่นคงกับครัวเรือน และมีรายได้ไม่เพียงพอ ปัญหาหลักของเกษตรกรไทยคือ ปัญหาด้านที่ดินและการใช้ที่ดินเกษตรกรส่วนใหญ่มีพื้นที่ถือครองขนาดเล็ก ปัญหาราคาพืชผลไม่แน่นอน ปัญหาความไม่เพียงพอของน้ำที่ใช้ในการเกษตร ปัญหาสภาพภูมิอากาศแปรปรวนทำให้ผลผลิตเสียหาย และการขาดความรู้และไม่ได้รับค้าแนะนำที่เพียงพอ

ภาคเกษตรหรือภาคชนบทเป็นฐานรากที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย มีประชากรในภาคเกษตรถึง ประมาณ 25 ล้านคนหรือเกือบร้อยละ 40 ของ ประชากรทั้งประเทศในมิติมหภาค ภาคเกษตรสร้างรายได้ต่อระบบเศรษฐกิจร้อยละ 9 ของ GDP มีพืชสำคัญที่มีสัดส่วนใน GDP ภาคการเกษตรถึงร้อยละ 80 คือ ข้าว และยางพารา(1) จึงไม่ต้องสงสัยว่าทาไมไทยจึงเป็นประเทศที่อยู่ในอันดับต้นๆ ของโลกทั้งการส่งออกข้าวและยางพารา ภาคเกษตรยังทำหน้าที่เป็นหลักประกันความมั่นคงทางอาหารให้กับคนทั้งในประเทศและทั้งโลก เป็นแหล่งรองรับแรงงานที่ใหญ่ที่สุด โดยเฉพาะในยามที่ประเทศประสบวิกฤตเศรษฐกิจเช่น ในอดีตปี 2540 และยังสนับสนุนอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ในมิติจุลภาค ภาคเกษตรเป็นแหล่งสร้างรายได้สำคัญแก่ครัวเรือนเกษตรกร อย่างไรก็ตาม เกษตรกรเป็นกลุ่มที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าอาชีพอื่นๆ

ดังนั้น ท่ามกลางความท้าทายหลายด้านทั้งการเข้าสู่สังคมสูงวัย และเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ทำอย่างไรจึงจะช่วยยกระดับรายได้ต่อหัวของเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทย จึงเป็นประเด็นเศรษฐกิจสำคัญลำดับต้นๆ ของการพัฒนาประเทศตลอดมา


1. ปัญหาความเหลื่อมล้าของไทย: โน้มลดลงบ้าง แต่ปัญหายังมีอยู่

เกือบ 40 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้ไทยจะประสบความสำเร็จในการลดปัญหาความยากจนลงได้ โดย สัดส่วนคนจนลดลงอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันเหลือเพียงร้อยละ 8 ของประชากรทั้งหมดในทางตรงกันข้าม สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของไทยวัดจากค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค(Gini Coefficient)(2) แม้จะปรับโน้มลงบ้างจากอดีต แต่ยังไม่น่าพอใจ คือในปี 2558 อยู่ที่ร้อยละ 44.5 เทียบกับ ในปี 2531 อยู่ที่ร้อยละ 48.7 หากดูในระดับภูมิภาค จะเห็นว่าภาคใต้มีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ค่อนข้างสูงกว่าภาคอื่นโดยมีค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคอยู่ที่ร้อยละ 45.1 ตามมาด้วยภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ (ร้อยละ 43.3) ภาคกลาง (ร้อยละ 39.6) และภาคเหนือ (ร้อยละ 38.8) ตามลำดับ

หากเปรียบเทียบกับนานาชาติ จากข้อมูล Central Intelligence Agency (CIA)(3) ของสหรัฐฯ ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของไทยอยู่ระดับกลางๆ อยู่ที่ลำดับ 44 จาก 156 ประเทศทั่วโลก คือร้อยละ 44.5 เทียบกับร้อยละ 25 ของประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียที่ถือว่ามีความเท่าเทียมกันทางรายได้สูง และระดับ 50- 70 ของประเทศในแอฟริกาที่ถือว่ามีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ค่อนข้างสูง

ครัวเรือนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรส่วนใหญ่อยู่ในภาคเศรษฐกิจชนบทอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคเหนือคิดเป็นร้อยละ 41 35 และ 31 ของครัวเรือนทั้งหมดของประเทศ ตามลาดับ จัดเป็นกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำเพียงเฉลี่ยเดือนละประมาณ 5,000 บาท คิดเป็น 1 ใน 3 ของรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของแรงงานนอกภาคเกษตรที่อยู่ที่ 16,000 บาท และส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายเล็ก ประมาณร้อยละ 40 ถือครองที่ดิน 1-10 ไร่ และอีกร้อยละ 8 ไม่มีที่ดินทำกิน และพื้นที่เกษตรส่วนใหญ่ของประเทศไทยนั้นอยู่นอกเขตชลประทานประมาณร้อยละ 80 ส่วนพื้นที่เกษตรที่อยู่ในระบบชลประทานนั้นมีเพียงร้อยร้อยละ 20 เท่านั้น ทำให้เกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทานต้องพึ่งพาน้ำฝนในการทำเกษตร เกษตรกรเป็นอาชีพที่ไม่สามารถให้ความมั่นคงกับครัวเรือน มีรายได้ไม่เพียงพอ ต้องอาศัยเงินกู้ แต่การเข้าถึงเงินกู้ในระบบจำเป็นต้องใช้โฉนดที่ดิน ทำให้เกษตรกรต้องหันไปหาเงินกู้นอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง(4) สมาชิกครัวเรือนต้องเคลื่อนย้ายแรงงานไปยังนอกภูมิภาคเพื่อหารายได้อื่นๆ เป็นแหล่งรายได้สนับสนุนอีกทางหนึ่ง ในระยะต่อไป คาดว่าเกษตรกรจะยิ่งเป็นรายเล็กลงเรื่อยๆ เพราะรุ่นพ่อแม่แบ่งซอยที่นาให้ลูกหลาน และลูกหลานที่เข้ามาทางานในเมืองก็ขายที่ดินให้กับนายทุนไป วนเวียนเป็นวัฏจักรที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยและมิติด้านสังคมอื่นๆ

ผลิตภาพ คือการเปรียบเทียบระหว่างสัดส่วนของผลผลิตและปัจจัยการผลิต หากมีผลิตภาพสูง คือจะต้องใช้ปัจจัยการผลิตต่ำเพื่อผลิตให้ได้ผลผลิตในปริมาณมาก จากการศึกษาของ OECD (2010)(5) ได้นำเสนอว่านโยบายด้านการเกษตรของรัฐมีส่วนสำคัญในความสำเร็จของการปรับโครงสร้างภาคเกษตรของไทย เช่น การปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพื่อกระจายสิทธิที่ดินให้แก่ผู้ไร้ที่ดิน การสร้างถนนหนทางเข้าสู่ที่ดิน การสร้างระบบชลประทาน งานวิจัยด้านเกษตร และมีสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ธกส. ให้สินเชื่อแก่เกษตรกร เป็นต้น

จากการศึกษาข้อมูลตั้งแต่ปี 2504-2558 พบว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของมูลค่าผลผลิตการเกษตรต่อแรงงานต่อปี และมูลค่าผลผลิตการเกษตรต่อไร่ต่อปี อยู่ที่ร้อยละ 2.8 และ 2.3 ตามลำดับ โดยผลิตภาพเร่งตัวขึ้นประมาณปี 2533 ที่เริ่มมีกระแสการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคเกษตรมายังภาคอุตสาหกรรม ขณะที่พื้นที่ทาการเกษตรกรรมโน้มลดลงด้วย (รูปที่ 1 และ 2)


อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของ World Bank มูลค่าผลผลิตการเกษตรต่อแรงงานต่อปีของไทยอยู่ที่ประมาณ 1,200 ดอลลาร์ สรอ. ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มร้อยละ 10 ด้านล่างสุด แตกต่างจากกลุ่มด้านบนร้อยละ 10 เกือบ 50 เท่า ส่งผลให้ความสามารถทางการแข่งขันการผลิตสินค้าเกษตรของไทยต่ำกว่าประเทศคู่แข่งอยู่มาก เช่น ข้าว ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่อยู่ที่ 459 กก.ต่อไร่ รองจากเวียดนาม เมียนมาร์ และ ลาว ขณะที่ต้นทุนการผลิตสูงกว่าประมาณร้อยละ 30-40 เป็นต้น

ในด้านแรงงาน แรงงานภาคเกษตรลดลงจากเกือบร้อยละ 60 ของแรงงานทั้งหมดในปี 2536 เหลือเพียงร้อยละ 40 ในปัจจุบัน โดยแรงงานในภาคเกษตรเข้าสู่วัยสูงอายุ โดยจำนวนสมาชิกครัวเรือนเกษตรที่มีอายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 25 ในปี 2556 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เพิ่มขึ้นถึงสองเท่าจากร้อยละ 12 ในปี 2536 ขณะเดียวกันแรงงานเกษตรรุ่นใหม่อายุต่ำกว่า 25 ปีมีเพียงร้อยละ 25 ซึ่งจะมีนัยต่อกระบวนการผลิตและผลิตภาพของภาคเกษตรในระยะข้างหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


2.2 ข้อเท็จจริงจากการลงพื้นที่ภาคสนาม

ผู้เขียนได้ร่วมโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจและธุรกิจระหว่าง ธปท. กับภาคธุรกิจ(6) ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามภาวะเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคเพื่อนาข้อมูลที่ได้มาประกอบการตัดสินใจการดำเนินนโยบายการเงิน และเพื่อสร้างความเข้าใจกับสาธารณชนทั้งธุรกิจและประชาชน สรุปเสียงสะท้อนจากเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตร 5 ประเด็นหลักคือ 1) ปัญหาด้านที่ดินและการใช้ที่ดิน เกษตรกรส่วนใหญ่มีพื้นที่ถือครองขนาดเล็กและไม่มีเอกสารสิทธิ์ สูงวัย ทำการเกษตรแบบดั้งเดิม ปลูกพืชไม่เหมาะสมกับพื้นที่ และไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด 2) ปัญหาการเพิ่มมูลค่าผลผลิตและราคาผลผลิตไม่แน่นอน เกษตรกรให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าเพิ่มน้อยกว่าปริมาณผลผลิต เนื่องจากต้องการเปลี่ยนผลผลิตให้เป็นเงินโดยเร็ว อาทิ มะม่วง หากนำมาแปรรูปเป็นมะม่วงอบแห้งจะได้ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 300 บาท แต่เกษตรกรยอมขายราคาหน้าสวนกิโลกรัมละ 20-30 บาท นอกจากนี้ ยังเผชิญปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ไม่มีสถานที่จัดเก็บที่เหมาะสม ขาดความรู้ด้านการแปรรูป รวมถึงไม่มีช่องทางการตลาดที่ดี 3) ปัญหาความไม่เพียงพอของน้ำที่ใช้ในการเกษตร โดยการจัดสรรน้ำของชลประทานยังไม่สอดคล้องกับความต้องการน้ำของพืชบางชนิด ทำให้พืชไม่ได้รับน้ำตามรอบที่เหมาะสมส่งผลให้ผลผลิตมีคุณภาพลดลง 4) ปัญหาสภาพภูมิอากาศแปรปรวน ทำให้ผลผลิตเสียหาย ระบบประกันพืชผลการเกษตรไม่ครอบคลุมและค่าเบี้ยประกันภัยไม่สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ และ 5) ปัญหาด้านข้อมูลและการสื่อสาร คำแนะนำและการสื่อสารจากทางการไม่เพียงพอ เช่น ควรปลูกพืชใดทดแทนรายได้ที่สูญเสียไปจากการเลิกปลูกข้าวโพดเพื่อลดการทำลายป่าและหมอกควัน เป็นต้น

ฉบับต่อไปผู้เขียนจะนำเสนอ ตอน 2 ที่จะพูดถึงระดับการใช้นวัตกรรมการเกษตรในปัจจุบันของไทยเพื่อเพิ่มผลิตภาพ สร้างรายได้ลดความเหลื่อมล้าโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และพูดถึงความท้าทายข้างหน้าของการพัฒนาภาคเกษตรซึ่งเป็น “เสาหลักของชาติ” เป็นอาชีพดั่งเดิมของประชากรส่วนใหญ่ และในฐานะที่ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่ผลิตอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงคนทั้งโลก

-----------------------------------------------
Endnotes:
1 ธัญรส สงวนหงส์ (2561), เกษตรกรรมยั่งยืนภายใต้แผนฯ 12, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 1 ก.พ. 2561 โรงแรมตรัง
2 ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (Gini Coefficient) ซึ่งมีค่าอยู่ระหว่าง 0 และ 1 โดยหากค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคยิ่งมีค่าเข้าใกล้ 1 มากเท่าใด แสดงว่าความเหลื่อมล้าของรายได้ยิ่งมีมากขึ้น
3 อ้างอิงจากข้อมูลของ The World Factbook, Central Intelligence Agency (CIA) ของสหรัฐฯ,
https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/rankorder/2172rank.html
4 ในปี 2558 ที่ดินในไทยเพียงร้อยละ 20 ที่เชื่อมต่อกับระบบชลประทาน โดยร้อยละ 41 ของที่ดินในระบบชลประทานอยู่ในเขตภาคกลาง ทำให้เกษตรกรในชนบทที่ยากจนที่สุดต้องอาศัยน้ำฝนในการเกษตรต่อไป จากบทความ “ปัญหาถือครองที่ดิน ความเหลื่อมล้าสุดขั้ว ภาพสังคมไทยรวยกระจุกจนกระจาย” โดยสำนักข่าวอิศรา, มูลนิธิชีวิตไทย, 10 ก.พ. 2560
5 Jonathan Brooks (2010), OECD Secretariat, A Strategic Framework for Strengthening Rural Incomes, presented at the Global Forum on Agriculture 29-30 November 2010, Policies for Agricultural Development, Poverty Reduction and Food Security, OECD, Paris

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย